ความต่าง “ชัชชาติ-อุ๊งอิ๊ง” ครอบครัว “พท.” ไม่อบอุ่น?

ความต่าง “ชัชชาติ-อุ๊งอิ๊ง”  ครอบครัว “พท.” ไม่อบอุ่น?

เชื่อว่า หลังจากนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ชนะเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.แบบถล่มทลาย หรือ “แลนด์สไลด์” ในความหมายที่ นายทักษิณ ชินวัตร และพรรคเพื่อไทยฝันมาตลอด

“สาวก” เพื่อไทย ก็เริ่มเชื่อมั่นจริงจังขึ้นมาทันทีว่า การเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้า เพื่อไทย ที่มี “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ลูกสาวคนเล็ก “ทักษิณ” หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย ที่พ่อหมายมั่นปั้นมือ จะให้เป็น “ทายาท” ทางการเมือง จะชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์เหมือนกัน

 

ทั้งที่ความเป็น “ชัชชาติ” กับ “อุ๊งอิ๊ง” สนามเลือกตั้ง กทม.กับสนามใหญ่ทั่วประเทศ ต่างกันอย่างสิ้นเชิง

 

แน่นอน ผลการเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (ผู้ว่าฯกทม.) เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมา อาจทำให้วิเคราะห์ได้ว่า “ฝ่ายประชาธิปไตย”(เพราะเป็นฝ่ายค้านรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สืบทอดอำนาจรัฐประหาร) เป็นฝ่าย “ชนะ” ในทุกแง่มุม  

 

โดย “ชัชชาติ” ผู้สมัครในนามอิสระ หมายเลข 8 คว้าชัยชนะแบบทุบสถิติ ด้วยคะแนน 1,386,215 คะแนน ทิ้งห่างลำดับสอง อย่าง สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ ผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ 254,723 คะแนน ไม่เห็นฝุน ถึง 1,131,492 คะแนน

ขณะที่ผลการเลือกตั้งสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) ใน 50 เขต ฝ่ายประชาธิปไตยได้ที่นั่งรวมกันเกินครึ่งของสภา กทม. คือ 34 ที่นั่ง โดยเพื่อไทยได้รับเลือกตั้ง 20 เขต คะแนนรวม 620,009 คะแนน พรรคก้าวไกล (ก.ก.) ได้ 14 เขต มีคะแนนรวม 485,830 คะแนน

 

และเมื่อเอามารวมกับคะแนนผู้ว่าฯกทม. ของ “ชัชชาติ” จะอยู่ที่ 2,492,054 คะแนน คิดเป็น 57% ของจำนวนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง คือ 4,402,948 คน

 

นี่เอง ที่มีการวิเคราะห์กันว่า เป็นชัยชนะของฝ่ายประชาธิปไตย

 

ขณะเดียวกัน ก็เห็นได้ชัดว่า พรรคพลังประชารัฐ(พปชร.) มีคะแนนลดลงอย่างมาก โดยการเลือกตั้งส.ส.เมื่อปี 2562 ได้มาถึง 791,821 คะแนน แต่ผลการเลือกตั้ง ส.ก.ในปี 2565 ได้เพียง 274,970 คะแนน และได้ส.ก. 2 เขต จากทั้งหมด 50 เขต

 

นั่นอาจหมายถึง คะแนนที่ลดลงของแกนนำรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คือสัญญาณที่บ่งบอกล่วงหน้าว่า การเลือกตั้งส.ส.ครั้งต่อไป คะแนนจะสวิงไปยังพรรคเพื่อไทย และมีโอกาส “แลนด์สไลด์” ตาม “ชัชชาติ” สูง

 

แต่ความแตกต่าง ระหว่าง “ชัชชาติ” กับ “อุ๊งอิ๊ง” มีหลายประเด็นที่น่าชี้ให้เห็น


 

นับแต่ตัวตนของทั้งสองคน ภาวะผู้นำ ความเป็น “อิสระ” พื้นที่เลือกตั้ง ค่านิยมในการเลือกตั้งของแต่ละจังหวัด แต่ละภูมิภาค ผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือ หัวคะแนน ความนิยมต่อตัวบุคคล การใช้เงินหาเสียง ซึ่งหลายปัจจัยสนามเลือกตั้ง กทม.ไม่มี

 

สำหรับ “ชัชชาติ” ถือว่า เพียบพร้อมทั้งด้านการศึกษา ประสบการณ์ในการประกอบอาชีพ และประสบการณ์ทางการเมือง เนื่องจากเคยเป็น “รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม” ในสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2555 และ “รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม” จากการปรับ ครม.ในปีเดียวกัน

 

นอกกจากนี้ ในการเลือกตั้งทั่วไปส.ส.ปี 2562เขาได้รับการเสนอชื่อเป็นผู้สมควรได้รับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในบัญชีรายชื่อของพรรคเพื่อไทย ร่วมกับคุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และชัยเกษม นิติสิริ รวมทั้งพรรคเพื่อไทยได้วางตัว “ชัชชาติ” เป็นผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.ของพรรคด้วย แต่เจ้าตัวต้องการสมัครในนามอิสระ

 

นี่คือ สิ่งที่ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยในตัว “ชัชชาติ” เลย และถ้าไม่มีความรู้ความสามารถจริง พรรคเพื่อไทย คงไม่วางตัวเป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” มาก่อนแล้ว   

 

ส่วน “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ที่ปัจจุบันมีตำแหน่งในพรรคเพื่อไทย เป็นประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และ “หัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย” ซึ่งคาดกันว่า จะได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีของพรรคเพื่อไทย ในการเลือกตั้งสมัยหน้า

 

ตามประวัติ สำเร็จการศึกษาระดับ ปริญญาตรีรัฐศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2551 และศึกษาต่อที่ประเทศอังกฤษ สาขาวิชา Msc International Hotel Management ที่ Surrey University

 

แพทองธารเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น และกรรมการมูลนิธิไทยคม เธอสมรสกับปิฎก สุขสวัสดิ์ มีบุตร 1 คน

 

ถ้าพูดถึงประสบการณ์ทางการเมือง นอกจากมีส่วนร่วมในการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งส.ก.ของพรรคเพื่อไทยแล้ว ในแง่มุมอื่นก็แค่มีการแสดงวิสัยทัศน์ผ่านการประชุมใหญ่ของพรรคเพื่อไทย และการรณรงค์แคมเปญหาเสียงเป็นครั้งคราวเท่านั้น ยังไม่ถือว่า มีอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ให้เห็นว่า มีความสามารถในด้านการบริหารประเทศแต่อย่างใด

 

เพียงแต่ด้วยความเป็น “ลูกสาวคนเล็ก” ของ “ทักษิณ” และเป็นคนที่ “ทักษิณ” สนับสนุนให้เป็น “ทายาท” ทางการเมือง จึงมีพรรคเพื่อไทยรองรับและมีตำแหน่งสำคัญเท่านั้นเอง

 

ที่สำคัญไปกว่านั้น ต้องหันกลับมามองพรรคเพื่อไทยในสภาพที่เป็นจริงด้วยเช่นกัน ซึ่งไม่เหมือนเดิม ไม่เหมือนยุค ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ขุนพลน้อยใหญ่ยังอยู่กันครบ  

 

ที่ถือว่า มีความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ ก็คือ การย้ายออกไปตั้งพรรคการเมืองใหม่(พรรคไทยสร้างไทย) ของกลุ่ม คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ และมีภาวะเลือดไหลตามไม่หยุด จน “ทักษิณ” ต้องตัดสินใจส่ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร เข้ามาเป็นขวัญและกำลังใจส.ส.ของพรรคที่เหลือ ทั้งยังทำให้เห็นว่า ตัวเองไม่ได้ทอดทิ้งพรรคเพื่อไทย กระทั่งจุดความหวังขึ้นมาด้วยแคมเปญ “แลนด์สไลด์” ในการเลือกตั้งส.ส.สมัยหน้า

 

กระนั้นก็ยังเป็นแค่แคมเปญปลุกกระแส ยังไม่เห็นกระแสความนิยม “อุ๊งอิ๊ง” ปรากฏชัด เหมือนกระแสความนิยม “ชัชชาติ” ตั้งแต่ประกาศตัวลงสมัครผู้ว่าฯกทม. จนกระทั่งมีการลงคะแนนเลือกตั้ง ชนิดม้วนเดียวจบ

 

เพราะนั่นคือ สิ่งที่จะบ่งบอกว่า “แลนด์สไลด์” เกิดขึ้นได้หรือไม่

 

ยิ่งกว่านั้น ยังมีภาพสะท้อน “ครอบครัวเพื่อไทยไม่อบอุ่น” เกิดขึ้น หลังการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วงเงิน 3.18 ล้านล้านบาท วาระแรก โดยที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร มีมติเห็นชอบร่างฯ ด้วยคะแนน 278 ต่อ 192 เสียง

 

พบว่า 7 เสียง ที่ผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 2566 ครั้งนี้ เป็นการโหวตสวนมติพรรคเพื่อไทยด้วย

 

ทั้งยังดูเหมือนไม่เกรงกลัวที่จะถูกขับออกจากพรรค และบางคนยังให้สัมภาษณ์ทำนองว่า ไม่ใช่พนักงานบริษัทที่จะสั่งอย่างไรก็ได้

 

“7 งูเห่า” ดังกล่าว ประกอบด้วย นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี เขต 6 เป็นบุตร ของนายประจวบ ไชยสาส์น (อดีต ส.ส.อุดรธานี 7 สมัย)

 

นายนิยม ช่างพินิจ ส.ส. พิษณุโลก 4 สมัย นับจากสมัยแรก ปี2548 สังกัดพรรคไทยรักไทย ปี 2550สังกัดพรรคพลังประชาชน ปี 2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย และปี 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย

 

ดร.วุฒิชัย กิตติธเนศวร ส.ส. นครนายก อดีตนักการเมืองท้องถิ่นผู้โชกโชน เป็นต้นว่า อดีตประธานสภาจังหวัดนครนายก (สจ.) อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครนายก (อบจ.) เคยเป็นส.ส. นครนายก สังกัดพรรคพลังประชาชน (พรรคพลังประชาชนถูกยุบ จึงย้ายมาอยู่พรรคเพื่อไทย) ต่อมาในการเลือกตั้ง พ.ศ. 2554 ได้ย้ายมาลงสมัครในสังกัดพรรคภูมิใจไทย และสามารถเอาชนะนายเกรียงไกร กิตติธเนศวร จากพรรคเพื่อไทย (ผู้เป็นหลาน) และนายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ จากพรรคประชาธิปัตย์ได้

 

ในปี 2557 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาให้เขาต้องรับโทษจำคุก 10 ปี และปรับ 200,000 บาท โทษจำคุกให้รอการลงโทษไว้ 1 ปี และห้ามมิให้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือดำรงตำแหน่งใดในพรรคการเมืองเป็นเวลา 4 ปี จากกรณีจงใจยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินและเอกสารประกอบด้วยข้อความอันเป็นเท็จ

 

กระทั่งปี 2562 ได้รับเลือกตั้งเป็นส.ส.นครนายก อีกสมัย และเป็นประธานคณะกรรมาธิการการป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากภัยธรรมชาติและสาธารณภัย สภาผู้แทนราษฎร ชุดปัจจุบันอีกด้วย

 

นายสุชาติ ภิญโญ ปี2554 เป็นส.ส.นครราชสีมา สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนนกว่า 40,000คะแนน เอาชนะ นายสมชัย ฉัตรพัฒนศิริ จากพรรคชาติพัฒนาเพื่อแผ่นดิน และนางอรทัย พลวิเศษ จากพรรคภูมิใจไทย ที่ได้คนละประมาณ 20,000 คะแนน

 

“สุชาติ” เป็นส.ส.นครราชสีมา มาแล้ว 2 สมัย คือเมื่อปี2554 สังกัดพรรคเพื่อไทย ปี 2562 สังกัดพรรคเพื่อไทย

 

นพ.จาตุรงค์ เพ็งนรพัฒน์ ส.ส.ศรีสะเกษ สังกัดพรรคเพื่อไทย เป็นสามีของ นางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีตส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย

 

“จาตุรงค์” เป็นส.ส.ศรีสะเกษ ตั้งแต่ปี2538 สังกัดพรรคชาติไทย และได้รับเลือกตั้งต่อเนื่องอีกครั้งเมื่อปี 2539 ต่อมาในปี 2544 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคไทยรักไทย และได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 จากนั้นปี 2548 ได้รับเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4

 

กระทั่งถูกตัดสิทธิ์ทางการเมืองจากคดียุบพรรคไทยรักไทย เมื่อปี2549 จึงสนับสนุนให้นางอุดมลักษณ์ ลงสมัครรับเลือกตั้งแทน

 

หลังพ้นจากการถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง ได้เข้าร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย และลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง เป็น ส.ส.สมัยที่ 5

 

นายธีระ ไตรสรณกุล เป็นพี่ชายของนางอุดมลักษณ์ เพ็งนรพัฒน์ อดีตส.ส.ศรีสะเกษ พรรคภูมิใจไทย

 

“ธีระ” เป็นส.ส. ศรีสะเกษ เขต 5 สังกัดพรรคเพื่อไทย เคยเป็นส.ส.มาแล้ว 2 สมัยเมื่อปี 2550 และ 2554

 

นางผ่องศรี แซ่จึง ส.ส.ศรีสะเกษ พรรคเพื่อไทย เป็นภรรยา นายปวีณ แซ่จึง อดีตส.ส.ศรีสะเกษ

 

ที่น่าสนใจไปกว่านั้น ในการเปิดตัวผู้สมัครส.ส.ศรีสะเกษของพรรคภูมิใจไทย เมื่อวันที่ 20พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีชื่อสอง “สามี-ภรรยา” ด้วย

 

นายปวีณ กล่าวถึง “ทักษิณ” อย่างเจ็บปวดว่า อยู่กับนายทักษิณ 20 ปีได้ผูกเสี่ยว ได้สรุปบทเรียน ถือว่าใช้เวลาพิสูจน์นานเกินไป แต่สิ่งที่ตอบแทนไม่มีจากพรรคเพื่อไทย และจะปล่อยให้คนเพื่อไทยด่าภรรยา คือ นางผ่องศรี ต่อไปไม่ได้ ทุกคนมีศักดิ์ศรี ตนได้บอกนายทักษิณว่า ถ้าจะย่ำยีภรรยาตนขนาดนี้ขอให้ไล่ออก ที่ผ่านมานางผ่องศรีเป็นส.ส.พรรคเพื่อไทย ไม่ได้เป็นภูมิใจไทย ยังยกมือให้พรรคเพื่อไทย และไม่มีใครขยันเท่าภรรยาตน นี่คือเรื่องที่เสียอย่างเดียวคือขยันเกินไป

 

“ผมเกิดที่นี่โตที่นี่เป็นส.ส.ตั้งแต่หลายคนยังไม่ทันเกิด ต่อเนื่องมาในการเมือง 50 ปี อยู่พรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยเป็นไทยรักไทย เป็นพลังประชาชน จนเป็นพรรคเพื่อไทยยังไม่เคยได้อะไร นายทักษิณบอกว่า เป็นเสี่ยวกันคุยกันแค่เรื่องงานลูบหลังกัน แต่ไม่เกิดความรู้สึก มันไม่ได้รับการตอบแทนเท่าที่ควร

 

ที่ให้นางผ่องศรีลงส.ส. เพราะผมจะเลิกเล่นการเมือง เพื่อไม่ให้เขาใช้ผมเป็นเบ๊ตลอดระยะเวลาที่อยู่ด้วยกัน ที่พูดนี้ไม่ได้ด่า ขนาดนางผ่องศรีของบฯ แต่ไม่ได้ ต้องมาขอกับพรรคภูมิใจไทย ผมการันตีการตัดสินใจครั้งนี้ถูกต้องแล้ว กลับไปอยู่กับนายเนวิน นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ เสมือนได้กลับไปอยู่กับพี่น้อง ผมมีความสุข”

 

แล้วผลจากพลังดูดผู้สมัครส.ส.ศรีสะเกษล่วงหน้า ของพรรคภูมิใจไทย ก็กลายเป็นผลดี ทำให้มีเสียง “งูเห่า” เพิ่มขึ้นจากพรรคเพื่อไทย ในการลงมติผ่านร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2566 วาระแรก ที่เพิ่งผ่านมา  

 

ก่อนหน้านี้ ก็เห็นได้ชัดว่า พรรคเพื่อไทย พยายามที่จะใช้เสียงจากส.ส.กลุ่ม 16 และกลุ่มร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคเศรษฐกิจไทย ในการล้มรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งคาดกันว่า จะมีเสียงรวมทั้งสิ้นประมาณ 40เสียง ในการอภิปรายร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 และ การอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ปรากฏว่า ทั้งกลุ่ม 16 และ กลุ่มร.อ.ธรรมนัส กลับลำเสียก่อน

 

ทั้งยังไม่แน่ว่า ในการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีรายบุคคลรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ กลุ่ม 16และกลุ่มร.อ.ธรรมนัส ที่มีกระแสข่าวว่าจะร่วมกับพรรคเพื่อไทย ล้มพล.อ.ประยุทธ์ จะทำได้หรือไม่

 

ที่น่าคิด จากการเปิดใจของ นายจักรพรรดิ ไชยสาส์น ส.ส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีการโหวตรับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2566 สวนมติพรรค ที่ให้โหวตไม่รับหลักการว่า

 

เป็นเอกสิทธิของส.ส.ในการโหวตลงมติ ปกติแล้วการโหวตพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายที่ผ่านมา ฝ่ายค้านจะงดออกเสียงไม่เคยลงมติไม่เห็นด้วย แต่เที่ยวนี้พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าไม่เห็นด้วย ขัดกับวัฒนธรรมการลงมติในอดีต ดูแล้วไม่น่าจะถูกต้อง

 

“ถ้าจะให้ผมโหวตไม่เห็นด้วยตามมติพรรค คงทำไม่ได้ จึงตัดสินใจโหวตสวน รับหลักการร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี2566 เป็นเรื่องน่าแปลกที่พรรคโหวตไม่รับหลักการ แต่กลับไปร่วมเป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี2566 ในวาระสอง ดูแล้วไม่ค่อยดี ไม่เคยปรากฏมาก่อน”

 

นายจักรพรรดิ กล่าวต่อว่า หลังจากนี้หากพรรคจะเรียกไปชี้แจงต่อคณะกรรมการบริหารพรรคหรือคณะกรรมการจริยธรรมพรรคก็พร้อมไปชี้แจง และจะตั้งคำถามกลับด้วยว่า เหตุใดถึงให้โหวตไม่รับหลักการขัดกับวัฒนธรรมการโหวตกฎหมายงบประมาณ พรรคต้องตอบคำถามให้ได้ ไม่ใช่แค่ตอบตน แต่เป็นการตอบข้อสงสัยของประชาชนด้วย

 

“ไม่ใช่พนักงานบริษัทที่ใครจะมาสั่งอะไรได้ แต่มาจากประชาชนจึงมีเอกสิทธิในการโหวต”

 

เพราะนี่คือ อีกภาพสะท้อนภายในพรรคเพื่อไทย ซึ่งยังคงยึดโยง “มติพรรค” อยู่กับ “เกมการเมือง” ของใครบางคนจากแดนไกล อยู่หรือไม่

 

สรุปให้ชัดก็คือ ขณะที่ “ชัชชาติ” ปลดแอกจาก “ทักษิณ-เพื่อไทย” เพื่อเป็น “อิสระ” ในการลงสมัครรับเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. จนได้รับเลือกตั้งจากเสียงประชาชนทุกกลุ่ม จนถล่มทลาย หรือ แลนด์สไลด์ ก็ว่าได้

 

แต่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร มีภาพของการเป็น “ทายาททักษิณ” ซึ่งมีทั้งด้านบวกและลบ โดยเฉพาะด้านลบที่หยิบยกขึ้นมาโจมตีครั้งใด ก็มักจะจนมุม คือ การหนีโทษและหนีคดีทุจริตไปอยู่ต่างประเทศ นั่นเท่ากับไม่อาจปฏิเสธ ข้อกล่าวหาทุจริตคอร์รัปชัน อย่างน้อยก็คดีที่ศาลตัดสินจนถึงที่สุดแล้ว

 

นอกจากนี้ พรรคเพื่อไทย แม้ว่า จะมีแคมเปญ “ครอบครัวเพื่อไทย” เพื่อยึดโยงเอาคนที่เคยนิยม “ทักษิณ” มาตั้งแต่พรรคไทยรักไทย พลังประชาชน กระทั่งเพื่อไทย กลับมาร่วมครอบครัวใหญ่อีกครั้ง แต่ปรากฏว่า เลือดยังไหลไม่หยุด ทั้งยังพบว่า “งูเห่า” ทั้ง 7 นั้น ส่วนใหญ่ล้วนแต่เป็นอดีตส.ส.หลายสมัย บางคนเคยอยู่ตั้งแต่พรรคไทยรักไทย ซึ่งเกิดคำถามคาใจว่า คนเหล่านี้พร้อมย้ายพรรค และหมดความอดทนที่จะเป็น “เสมือนพนักงานบริษัท” แล้ว ใช่หรือไม่

 

นี่ยังไม่นับ แคมเปญชวน “เสื้อแดง” กลับบ้าน ที่กระแสตอบรับจากแกนนำ กลายเป็นว่า บางส่วนไม่ร่วมสังฆกรรมกับพรรคเพื่อไทยแล้ว บางส่วนเลือกที่จะเป็น “แดงเข้ม” ไปกับพรรคที่มีอุดมการณ์เปลี่ยนแปลงประเทศ บางส่วนรอดูพรรคเพื่อไทยว่า จะปรับอุดมการณ์พรรคให้เข้ากับคนเสื้อแดงหรือไม่

 

ยิ่งกว่านั้น ยังมีการยืนยันจากแกนนำอีกว่า คนเสื้อแดงจะไม่สนับสนับพรรคเพื่อไทย พรรคเดียวอีกต่อไป เพราะไม่มีองค์กรนำอย่าง “นปช.(กลุ่มแนวร่วมประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” อีกแล้ว   

 

เห็นได้ชัดว่า “คอบครัวเพื่อไทย” ไม่อบอุ่นอย่างที่คิด และ “คนใน” เท่านั้น ที่รู้ดีที่สุด!?