“เต้น ณัฐวุฒิ” ปั่นแลนด์สไลด์ พยุง “พท.” ที่มีแต่ทรงกับทรุด
พลัน พรรคเพื่อไทย ดึง “เต้น ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ” อดีตแกนนำ นปช.(กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) หรือ “กลุ่มคนเสื้อแดง” นั่งผู้อำนวยการพรรคเพื่อไทย สิ่งที่เห็นได้ชัด ก็คือ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร ประธานที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม และหัวหน้าครอบครัวเพื่อไทย ต้องการ “ตัวช่วย” อย่างไม่ต้องสงสัย
ท่ามกลางพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะได้ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ทายาท “ทักษิณ ชินวัตร” เข้ามาเป็น “หัวหน้าครอบครัว” แต่ก็ดูเหมือนกระแสพรรคไม่ได้ดีขึ้นตามความคาดหวัง
ยิ่งกว่านั้น ในการอภิปราย พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 ที่ผ่านมา ยังมี “งูเห่า” โหวตสวนมติพรรคถึง 7 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นส.ส.ที่ต้องการย้ายพรรค และส่วนหนึ่งเปิดตัวที่จะย้ายไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย ในการเลือกตั้งครั้งหน้าไปแล้ว
นั่นสะท้อนให้เห็นว่า พรรคเพื่อไทย ยังไม่อาจหยุดเลือดที่ไหลออก และต้องการไหลออก นับแต่กลุ่มก้อนใหญ่ ที่ย้ายไปตั้ง “พรรคไทยสร้างไทย” นำโดยคุณหญิงหน่อย “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์” อดีตประธานยุทธศาสตร์เพื่อไทย ที่มีปัญหาขัดแย้งภายในพรรค
แน่นอน, เสียงสะท้อนที่ดังออกมานอกพรรค ส่วนใหญ่มีความกดดันในเรื่องของการเป็นพรรคฝ่ายค้าน การอยู่ภายใต้ “นายใหญ่” ที่ดูแลเกี่ยวกับบทบาทภายในพรรคไม่ทั่วถึง การอยู่ในสภาพเหมือนพนักงานบริษัท ที่ต้องทำตามคำสั่ง หรือ โหวตตามความต้องการของ “นายใหญ่” จากแดนไกล
ดังนั้น ประเด็นที่ถูกจับตามอง อาจไม่เพียงดึง “กลุ่มคนเสื้อแดง” กลับเพื่อไทย เพื่อยึดโยงเอา ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรค ให้อยู่กับพรรคต่อไป เพราะฐานเสียงคนเสื้อแดง มีส่วนตัดสินอนาคตส.ส.ของพวกเขานั่นเอง
หากแต่อาจรวมถึงฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” ที่ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ยังไม่อาจเข้าถึง “ตัวตน” ของคนกลุ่มนี้ ซึ่งไม่เพียงแค่อยู่ในวัยเดียวกันก็เพียงพอแล้ว หากแต่ต้องมี “อุดมการณ์” ทางการเมืองไปในแนวทางเดียวกันด้วย
ถ้าสังเกตให้ดี การเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ที่ผ่านมา “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” ก็พยายามที่จะ “มัดใจ” ฐานเสียงกลุ่มนี้ โดยมีจุดยืนต่อต้านการรัฐประหาร และไม่เห็นด้วยกับอำนาจรัฐประหาร แม้ว่า จะไม่ประกาศตัวอย่างชัดเจนว่า อยู่ฝ่ายตรงข้ามกับรัฐบาล เหมือนผู้สมัครพรรคก้าวไกลก็ตาม แต่ก็มีนัยยะว่า เป็นฝ่ายประชาธิปไตย
ประเด็นของพรรคเพื่อไทย จึงอยู่ที่ว่า ทำอย่างไร จึงจะยึดโยงเอา “ฐานเสียงคนรุ่นใหม่” มาได้ แม้รู้ทั้งรู้ว่า คนกลุ่มนี้เป็นฐานเสียงของพรรคก้าวไกล ที่สนับสนุนการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ อย่างชัดเจน
ไม่แปลก ที่ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” นายนุรักษ์ เจนตวนิชย์ จะออกมาวิเคราะห์ผ่านเฟซบุ๊ก แทบจะฟันธงว่า นี่คือ “จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย” ที่พรรคเพื่อไทย หวังสร้างปรากฏการณ์แลนด์สไลด์ หรือ ชนะเลือกตั้งได้อย่างถล่มทลาย
พร้อมยืนยัน สิ่งที่ตัวเองวิเคราะห์เอาไว้ว่า “คนเสื้อแดงอยู่ได้โดยไม่มีพรรคเพื่อไทย แต่พรรคเพื่อไทยอยู่ไม่ได้ หากไม่มีคนเสื้อแดง และนั่นคือความจริงที่ไม่มีใครปฏิเสธได้”
เขาอธิบายว่า คนเสื้อแดงผ่านการต่อสู้มานับทศวรรษ กว่าครึ่งได้พัฒนาเป็นคนเสื้อแดงกลุ่มหัวก้าวหน้า คำว่าคนเสื้อแดงหัวก้าวหน้าไม่ได้หมายถึงคนเสื้อแดงที่มีการศึกษาสูง หรือมีฐานะร่ำรวย หรือเป็นคนชั้นกลางขึ้นไป
คนเสื้อแดงหัวก้าวหน้าอาจอยู่ชนบทบ้านนอกตามไร่นาป่าเขา คนเสื้อแดงหัวก้าวหน้าอาจเป็นคนยากจนหาเช้ากินค่ำ แต่พวกเขาติดตามการเมืองมานานจนเข้าใจแล้ว ว่าตราบใดที่ยังไม่มีการปฏิรูปสถาบันฯ และแก้ไขมาตรา 112 อันเป็นเครื่องหมายความเท่าเทียมของมนุษย์ ตราบนั้นประชาธิปไตยก็จะยังไม่พัฒนา...
การจะดึงมวลชนแดงหัวก้าวหน้ากลับมาเป็น “จิ๊กซอว์ตัวสุดท้าย” ให้เกิดแลนด์สไลด์ พรรคเพื่อไทยจะต้องมีความชัดเจนในสองเรื่องนี้ ไม่เช่นนั้นจะดึงใครกลับบ้านก็ “ไร้ความหมาย”
สวนทางกับความเชื่อของ อานนท์ นำภา แกนนำ 3 นิ้ว ที่โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ว่า “พี่เต้น น่าจะดึงคะแนนเข้าพรรคเพื่อไทยอีกจำนวนมาก...”
รวมทั้ง นายภาณุพงศ์ จาดนอก หรือ ไมค์ ระยอง แกนนำม็อบ 3 นิ้ว และผู้ต้องหาคดี 112 โพสต์เฟซบุ๊กเช่นกันว่า
“ผมเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า พี่เต้นยังคงร่วมสู้ไปกับคนรุ่นใหม่ และจะให้ความสำคัญกับคนรุ่นใหม่อย่างที่พี่เต้นเคยทำตลอดมา”
สำหรับ “เต้น ณัฐวุฒิ” ถือเป็นนัก “ไฮด์ปาร์ค” ฝีปากกล้า ลีลาการพูดปลุกเร้าฮึกเหิม ท่วงทำนองสอดแทรกมุกตลก วาทกรรมย้อนเกล็ดเจ็บแสบ สามารถตรึงคนให้อยู่กับเวทีการพูดของเขาได้หลายชั่วโมงอย่างสบาย เห็นได้ชัดจากเวทีคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 จนกลายเป็น “คู่หู” สะท้านฟ้า กับ “ตู่ จตุพร พรหมพันธุ์” ที่มีคนรู้จักมาจนถึงทุกวันนี้
ดังนั้น สิ่งที่คาดหวังได้ในทันทีจากตัว “ณัฐวุฒิ” หลังกลับเข้าไปร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ก็คือ การเป็นตัว “ชูโรง” ในการปราศรัยทุกเวทีของพรรคนั่นเอง
ความจริง ถ้าจะว่าไปแล้ว “ณัฐวุฒิ” ก็ไม่ได้ไปไหนไกลจากพรรคเพื่อไทย และคนใน “ระบอบทักษิณ”
กล่าวคือ การร่วมงานกับพรรคไทยรักษาชาติ ก็เป็นที่รู้กันว่า เป็นสาขาหนึ่งของพรรคเพื่อไทย หลังเกิดอุบัติเหตุทำให้พรรคไทยรักษาชาติถูกยุบพรรค เขาและพรรคพวกได้ร่วมกันก่อตั้งพรรคการเมือง โดยจับมือกับ “จาตุรนต์ ฉายแสง” ในนาม “พรรคเส้นทางใหม่”
แน่นอน “ณัฐวุฒิ” ถูกวางไว้เป็นตัวชูโรง และ “จุดขายหลัก” ในการสร้างอีเวนต์ ปลุกกระแสการเมือง ทว่า “ณัฐวุฒิ” ถูกตัดสินจำคุก 2 ปี 8 เดือน จากคดีบุกบ้าน พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เสียก่อน จึงทำให้หลายๆ ภารกิจต้องถูกชะลอไป
และพรรคเส้นทางใหม่ ก็ถึง “ทางตัน” เมื่อรัฐธรรมนูญ 2560 เปลี่ยนกติกาจากบัตรเลือกตั้งใบเดียว นับคะแนนแบบจัดสรรปันส่วนผสม ซึ่งเอื้อให้พรรคเล็กพรรคกลาง ได้ส.ส.เข้าสภา เปลี่ยนมาใช้บัตรสองใบ ที่เอื้อประโยชน์ให้พรรคใหญ่มากกว่าพรรคกลางและพรรคเล็ก เหมือนในอดีต
“จาตุรนต์” ตัดสินใจกลับเข้าสู่พรรคเพื่อไทยเป็นคนแรก แม้ว่า “ณัฐวุฒิ” และพรรคพวกยังเดินหน้า “เส้นทางใหม่” แต่ผู้ร่วมก่อการอื่นๆ ก็เริ่มทยอยกลับสู่เส้นทางตนเอง ทั้งนิคม ไวยรัชพานิช อดีตประธาน ส.ว. กลับไปช่วยงานเบื้องหลังให้ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ “ประภัสร์ จงสงวน” ไปอยู่พรรคไทยสร้างไทย ของคุณหญิงหน่อย “สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์”
อย่างไรก็ตาม ที่น่าสนใจไปกว่านั้น นัยว่า พรรคเส้นทางใหม่ ก็คือสะพานเชื่อม ระหว่าง “นายใหญ่” จากแดนไกล กับ “เยาวชนคนรุ่นใหม่” นั่นเอง
ที่เห็นได้ชัด หลังจาก เมื่อวันที่ 26 ธ.ค.61 แกนนำ นปช. กลุ่มที่แยกวงไปสังกัดพรรคไทยรักษาชาติ อย่าง ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ, วีระกานต์ มุสิกพงศ์, ธิดา ถาวรเศรษฐ, เหวง โตจิราการ และก่อแก้ว พิกุลทอง ย้ายจากอิมพีเรียล ลาดพร้าว ไปเปิดสำนักข่าว “ยูดีดีนิวส์” (UDD News) ที่อาคารเอเวอรี่ มอลล์ ถ.รัตนาธิเบศร์ ใกล้แยกแคราย อ.เมือง จ.นนทบุรี
เป็นที่สังเกตว่า ช่วงมีการเคลื่อนไหวของม็อบ 3 นิ้วอย่างหนัก “ยูดีดีนิวส์” ได้ทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงให้ม็อบ 3 นิ้วอย่างเต็มที่ ทุกการเคลื่อนไหวของแกนนำ “3 นิ้ว” ถูกถ่ายทอดผ่านยูดีดีนิวส์ตลอดเวลา
ยิ่งกว่านั้น เมื่อ “ณัฐวุฒิ” ตัดสินใจหวนคืนท้องถนนในแบบ “คาร์ม็อบ” ก็ได้ใช้สำนักข่าวยูดีดีนิวส์ เป็นสถานที่แถลงข่าว และประสานงานกับเครือข่ายไล่ประยุทธ์ทั่วประเทศ
เห็นได้ชัดว่า การเคลื่อนไหวของ “ณัฐวุฒิ” ที่จัดคาร์ม็อบ กับพรรคเส้นทางใหม่ ก็คือ การเคลื่อนไหวแบบคู่ขนาน ซึ่งทำให้อดคิดถึงคนแดนไกลไม่ได้ว่า มีความเกี่ยวข้องหรือไม่ เพราะหลายคนเชื่อว่า “ณัฐวุฒิ” กับ “นายใหญ่” จากแดนไกล หรือแม้แต่กับ “นายหญิง” พรรคเพื่อไทย ยังคงมีสายสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกัน เพียงแต่ จะถูกจัดวางให้อยู่ตรงไหนเท่านั้นเอง?
ที่น่าวิเคราะห์ก็คือ “ณัฐวุฒิ” จะช่วยให้พรรคเพื่อไทยชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หรือ แบบถล่มทลาย ได้จริงหรือ
เพราะหลังได้รับแต่งตั้งเป็นผู้อำนวยการครอบครัวพรรคเพื่อไทย “ณัฐวุฒิ” ประกาศทันควันว่า จะทำให้พรรคเพื่อไทยได้รับเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ให้ได้ พร้อมกับปลุกกระแสฝ่ายประชาธิปไตยให้เลือกแบบ “ยุทธศาสตร์” คือ เลือกพรรคใดพรรคหนึ่งในฝ่ายประชาธิปไตยให้ได้เสียงแบบถล่มทลาย หรือ แลนด์สไลด์ เพื่อหยุดการสืบทอดอำนาจเผด็จการของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อันถือว่า เป็นชัยชนะของประชาชน
ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า การมาของ “ณัฐวุฒิ” จะสามารถปลุกกระแสความนิยมพรรคเพื่อไทยในปัจจุบัน ให้กลับมาเป็นที่นิยมเหมือนสมัยพรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ยุค “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ได้หรือไม่?
ในสมัย “ทักษิณ” และพรรคไทยรักไทย เป็นที่ทราบกันดีว่า หลายนโยบายทำให้คนรากหญ้า ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ เข้าถึงในสิ่งที่พวกเขาไม่เคยได้รับมาก่อน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนหมู่บ้าน 30 บาทรักษาทุกโรค รวมทั้งราคาพืชผลดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ทำให้กระแสนิยมพรรคไทยรักไทยพุ่งสูง จนชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ได้ไม่ยาก
สมัยพรรคพลังประชาชน ถือว่า เป็นช่วงที่คนรากหญ้า ยังคิดถึง “ทักษิณ” และเห็นใจที่ “ทักษิณ” ถูกรัฐประหารรวมทั้งเชื่อว่าถูกกลั่นแกล้งทางการเมือง จึงแทบไม่สนใจว่า นายสมัคร สุนทรเวช เหมาะสมหรือไม่ในการมาเป็นหัวหน้าพรรคพลังประชาชน รู้แต่ว่า เป็นคนที่ “ทักษิณ” เลือกมาเป็นตัวแทน รวมถึงในสมัย นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็เป็นที่รับรู้กันว่า เป็นตัวแทนของ “ทักษิณ” ในท่ามกลางกระแส “ทักษิณ” ยังคงอยู่ในใจของคนรากหญ้าไม่เปลี่ยนแปลง
ในสมัย “ยิ่งลักษณ์” ที่พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎรถึง 265 ที่นั่ง และ “ยิงลักษณ์” ได้เป็นนายกฯหญิงคนแรกเมื่อปี 2554 นั้น ก็ชัดเจนว่า พรรคเพื่อไทยได้กระแส “คนเสื้อแดง” ซึ่งถูกสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 ทำให้กลุ่มคนเสื้อแดงที่เป็นมวลชนของพรรคเพื่อไทย รวมถึงอดีตพรรคไทยรักไทยและพลังประชาชน เทคะแนนให้กับพรรคเพื่อไทย และ “ยิ่งลักษณ์” ซึ่งเป็น “นอมินี(ตัวแทน)” ของ “ทักษิณ” อย่างล้นหลาม แม้ว่า “ยิ่งลักษณ์” จะไม่มีประสบการณ์ทางการเมืองมาก่อน
นี่คือสิ่งที่ “ณัฐวุฒิ” และ “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร จะต้องช่วยกันสร้างปรากฏการณ์ในการเลือกตั้งครั้งหน้า ท่ามกลางกระแส “ทักษิณ” เสื่อมคลายลงไปมาก
อีกทั้งต้องไม่ลืมว่า ทั้งอดีตพรรคไทยรักไทย อดีตพรรคพลังประชาชน และพรรคเพื่อไทย ยุค “ยิ่งลักษณ์” นั้น กลุ่มก๊วนทางการเมืองน้อยใหญ่ยังอยู่กับพรรคเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งกลุ่มคนเหล่านี้มีฐานเสียงของตัวเอง และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชนะการเลือกตั้ง จนได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล
แต่พรรคเพื่อไทย ยุคนี้ มีแต่ “เลือดไหล” ไม่หยุด แถมแว่วว่าจะตามกันออกไปอีกมาก หลังเกิดกบฏ “งูเห่า” เมื่อไม่นานมานี้
ประเด็นต่อมา คือ สายสัมพันธ์กับ “คนรุ่นใหม่” ที่บางส่วนมีความศรัทธาต่อ “ณัฐวุฒิ” ในฐานะแกนนำ “คาร์ม็อบ” ที่สนับสนุนการต่อสู้ของ “3 นิ้ว” และร่วมไล่รัฐบาลประยุทธ์
นั่นเท่ากับ ต้องแย่งฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” กับพรรคก้าวไกล ซึ่งจัดตั้งฐานเสียง “คนรุ่นใหม่” มาตั้งแต่สมัยอดีตพรรคอนาคตใหม่ และประสบความสำเร็จอย่างสูงเมื่อการเลือกตั้งทั่วไปปี 2562
ประเด็นก็คือ พรรคเพื่อไทย ถูกตั้งคำถามจากคนรุ่นใหม่อยู่ไม่น้อย ในเรื่องของอุดมการณ์พรรค และพฤติกรรมของ “นายใหญ่-นายหญิง” ที่ “สู้ไปกราบไป” จึงทำให้พรรคก้าวไกล ได้เปรียบในเรื่องนี้ “ณัฐวุฒิ” จะแก้ปัญหาอย่างไร
มาถึง “กลุ่มคนเสื้อแดง” ที่เวลานี้แตกเป็นเสี่ยง และยากคาดเดาว่า กลุ่มก้อนที่แท้จริงอยู่ตรงไหน เนื่องจากมีปัจจัยแปรเปลี่ยนเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการยุบหมู่บ้านเสื้อแดง การรุกคืบทางการเมืองของฝ่ายรัฐบาล การไม่มีองค์กรนำ อย่าง นปช. รวมทั้งแกนนำก็ต่างคนต่างไป ยิ่งพักหลังมีข้อกล่าวหา จากกลุ่มที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจาก “ทักษิณ” หลังถูกดำเนินคดีจนติดคุกติดตะราง ที่มีความไม่พอใจ และเลิกสนับสนุนพรรคเพื่อไทยด้วย
จึงไม่ใช่เรื่องง่าย ที่ “ณัฐวุฒิ” จะชักชวนมวลชนส่วนใหญ่ “กลับบ้าน” เพื่อไทย ไปร่วมต่อสู้ด้วยกันอีกครั้ง ดังนั้นไม่ต้องสงสัยว่า กลุ่มเสื้อแดงที่จะกลับเพื่อไทย ก็แต่เฉพาะสาวกของ “ณัฐวุฒิ” เท่านั้น
ยิ่งกว่านั้น ก็อย่างที่ “ฟอร์ด เส้นทางสีแดง” วิเคราะห์ว่า เสื้อแดงหัวก้าวหน้า เวลานี้เป็นสาวกของพรรคก้าวไกลเรียบร้อย
ประเด็นสำคัญ หลังจากมี “งูเห่า” โหวตสวนมติพรรคในการลงมติผ่าน ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2566 วาระแรก มีรายงานข่าวว่า พรรคเพื่อไทยมีความหวั่นใจในการลงมติช่วงอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา151 อาจมี ส.ส.ที่ยังไม่เคยแสดงตัวเป็น “งูเห่า” แต่มีสัญญาใจกับพรรคการเมืองอื่นเอาไว้แล้ว จะฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามมติพรรคเพิ่มจำนวนมากขึ้น
เนื่องจากเป็นการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย ในรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ทำให้ส.ส.ที่คิดจะย้ายพรรค กล้าแสดงตัว และเปิดเผยเจตจำนงทางการเมืองมากขึ้น
เมื่อเป็นเช่นนี้ การกลับบ้านในฐานะ “ผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย” ของ “ณัฐวุฒิ” อาจทำได้อย่างมากก็แค่ “ปั่นแลนด์สไลด์” ขายฝันให้ “นายใหญ่” เท่านั้น หรือไม่
ส่วนความเป็นไปได้อาจแค่ช่วย “พยุง” พรรคเพื่อไทย ไม่ให้ “ทรุด” ไปกว่านี้ อย่างน้อยที่สุดสามารถทรงตัวจนถึงการเลือกตั้งครั้งหน้า เพื่อไปวัดดวงเอากับกระแสพรรคตอนนั้น หรือ คู่แข่งทางการเมืองเพลี่ยงพล้ำ จนตกเป็นเป้าโจมตีได้ เท่านั้นเอง
แต่ถ้า “ณัฐวุฒิ” ทำได้ตามที่ประกาศเอาไว้ ก็ต้องยกให้ “นายแน่มาก” แน่ยิงกว่า “ชัชชาติ” เสียอีก!?