โรคหลอดเลือดสมอง ภัยเงียบที่กินเงิน
ในยุคที่โรคร้ายครองเมือง หลายครั้งที่เรามักได้ยินข่าวการเจ็บป่วยของญาติพี่น้อง หรือเพื่อนสนิท
บางคนป่วยด้วยโรคนิดหน่อยไม่นานร่างกายก็ฟื้นตัวและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ หากแต่บางรายกลับโชคร้าย เจอกับภัยเงียบอย่างโรคหลอดเลือดสมอง ที่สร้างความเสียหายให้กับอวัยวะสำคัญในการควบคุมการทำงานของร่างกาย ซึ่งผู้ป่วยด้วยโรคนี้ส่วนใหญ่มักไม่ค่อยแสดงอาการบ่งชี้ที่รุนแรง ทำให้ไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มต้น
กว่าจะรู้ตัวอีกทีก็เส้นเลือดสมองตีบ มีปวดหัว ชาปลายมือปลายเท้า ปากเบี้ยว พูดลำบากสูญเสียการทรงตัว กลายเป็นอัมพฤกษ์หรืออัมพาต ที่หนักกว่านั้น อาจมีอาการเส้นเลือดสมองแตก บางรายถ้าแพทย์ผ่าตัดทันก็มีโอกาสรอด แต่ยังมีผลข้างเคียงและต้องทำกายภาพบำบัด
โรคนี้เป็นโรคที่เกิดจากนิสัยหรือพฤติกรรมการดำเนินชีวิตที่ไม่ระมัดระวัง เช่น ดื่มแอลกอฮอล์ สูบบุหรี่ นอนดึก รับประทานอาหารรสจัด ของมัน ของทอด และไม่ออกกำลังกาย จึงทำให้เกิดโรคความดันโลหิตสูง
มีไขมันในเลือดสูง มีภาวะน้ำหนักเกิน รวมทั้งหัวใจเต้นผิดจังหวะ เมื่อมีโรคกลุ่มนี้นำหน้ามาแล้ว ก็เหมือนกับมีใบเบิกทางให้เป็นโรคหลอดเลือดสมองได้ง่ายขึ้น ซึ่งคนส่วนใหญ่กว่า 80 % จะเป็นชนิดหลอดเลือดสมองตีบหรืออุดตัน และอีกประมาณ 20% เป็นหลอดเลือดสมองแตก
จากรายงานขององค์การอัมพาตโลก (WSO) พบว่า โรคหลอดเลือดสมองเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 2 ของโลก พบผู้ป่วยจำนวน 80 ล้านคน ผู้เสียชีวิตประมาณ 5.5 ล้านคน และยังพบผู้ป่วยใหม่ถึง 13.7 ล้านคนต่อปี โดย 1 ใน 4 เป็นผู้ป่วยที่มีอายุ 25 ปีขึ้นไป และ 60 % เสียชีวิตก่อนวัยอันควร นอกจากนี้ยังได้ประมาณการความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
ในประชากรโลกปี 2562 ไว้ว่าทุกๆ 4 คน จะป่วยด้วยโรคหลอดเลือดสมอง 1 คน โดย 80 % ของประชากรโลกที่มีความเสี่ยงสามารถป้องกันได้ สำหรับประเทศไทยจากการรายงานของกรมควบคุมโรคพบว่า ในปี 2562 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคหลอดเลือดสมองจำนวน 34,728 คน แยกเป็นผู้ชาย 20,034 คน ผู้หญิง 14,694 คน และมีแนวโน้มการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งการเจ็บป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง นอกจากบางรายจะถึงแก่ชีวิตแล้ว บางรายที่โชคดีผ่านวิกฤติชีวิตมาได้ ก็ต้องต่อสู้กับภาวะท้อแท้ และการทำกายภาพบำบัดที่ต้องใช้กำลังใจทั้งของตนเองและครอบครัวรวมทั้งเวลาในการฟื้นตัว ส่งผลกระทบให้ต้องกลายเป็นผู้ที่อยู่ในภาวะพึ่งพิง เพราะการที่ผู้ป่วยไม่สามารถดูแลตนเองได้ทำให้ครอบครัวต้องแบกรับค่าใช้จ่ายต่างๆ ในการรักษาพยาบาล
สำหรับค่ารักษาพยาบาลจากโรคนี้ หากต้องเข้ารับการผ่าตัดสมองจะมีค่าใช้จ่ายสูงตั้งแต่ 200,000 – 600,000 บาท อีกทั้งยังมีค่ายาและค่ากายภาพรายเดือน นอกจากนี้ในการดูแลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองยังมีค่าใช้จ่ายอย่างน้อยคนละ 100,000 บาทต่อปี ถ้าเป็นเช่นนี้แล้วค่าใช้จ่ายส่วนเกินที่เหลือท่านจะทำอย่างไร
เห็นค่าใช้จ่ายอย่างนี้แล้ว อย่าลืมดูแลสุขภาพ มีวินัยในการใช้ชีวิตเพื่อพิชิตโรค และวางแผนบริหารความเสี่ยงจากโรคร้ายล่วงหน้าด้วยการทำประกันชีวิต ประกันสุขภาพ รวมถึงประกันโรคร้ายแรง ดีกว่าป่วยแล้วถามหาประกัน เพราะเมื่อถึงวันนั้นก็สายเกินแก้ไปเสียแล้ว