“บิ๊กตู่” ขาลง “ปชต.” ขาขึ้น ผลพลอยได้ “อุ๊งอิ๊ง-เพื่อไทย”
เพียงแค่ยกแรก ก็สู้กันตั้งแต่ ทั้ง “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าครอบครัวพรรคเพื่อไทย และ “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังไม่แน่ว่า จะได้เป็น “แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี” ในบัญชีรายชื่อพรรคการเมืองใดหรือไม่
เพราะทั้งเพื่อไทย และพลังประชารัฐ ที่คาดว่า จะเสนอชื่อ “อุ๊งอิ๊ง” และ “บิ๊กตู่” เป็นหนึ่งในบัญชีรายชื่อ “แคนดิเดตนายกฯ” ของพรรค ก็ยังไม่ตัดสินใจชัดเจน เหมือนหลายพรรคที่ประกาศไปแล้ว
แต่ผลสำรวจความนิยมก็ออกมาแล้ว ว่า “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร คว้าอันดับ 1 ส่วน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ ตกไปอยู่อันดับ 4
ทั้งนี้ ผลสำรวจของศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565” เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2565
เมื่อถามถึงบุคคลที่ประชาชนจะสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีในวันนี้ พบว่า
อันดับ 1 ร้อยละ 25.28 ระบุว่า น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร (พรรคเพื่อไทย) เพราะ ต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบพรรคเพื่อไทย นโยบายของพรรคทำได้จริง ขณะที่บางส่วนระบุว่า ชื่นชอบผลงานในอดีตของตระกูลชินวัตร และเป็นบุตรสาวของ ดร.ทักษิณ ชินวัตร
อันดับ 2 ร้อยละ 18.68 ระบุว่า ยังหาคนที่เหมาะสมไม่ได้
อันดับ 3 ร้อยละ 13.24 ระบุว่า นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ (พรรคก้าวไกล) เพราะต้องการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามาบริหารประเทศ ชื่นชอบอุดมการณ์ทางการเมือง และชื่นชอบนโยบายของพรรคก้าวไกล
อันดับ 4 ร้อยละ 11.68 ระบุว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เพราะ เป็นคนตรงไปตรงมา ซื่อสัตย์สุจริต ทำให้บ้านเมืองเกิดความสงบ นโยบายช่วยเหลือประชาชนได้จริง และต้องการให้บริหารประเทศอย่างต่อเนื่อง
สิ่งที่สะท้อนให้เห็น หลายคนจับตามองไปที่ “อุ๊งอิ๊ง” น.ส.แพทองธาร ว่า อนาคตสดใสที่จะคว้า “นายกฯหญิง” มาครอง ทั้งยังมีสายเลือด “ทักษิณ ชินวัตร” ด้วย และเห็นได้ชัดว่า “บิ๊กตู่” ความนิยมตกลงสุดๆ
แต่สิ่งที่น่าสังเกตไปกว่านั้นก็คือ เป็นการสะท้อนให้เห็นว่า ประชาชน ไม่เอา “บิ๊กตู่” และรัฐบาลที่มาจากการสืบทอดอำนาจรัฐประหาร ขณะที่ “อุ๊งอิ๊ง” เพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้าน ที่ความนิยมเพิ่มขึ้นทั้งหมด เป็นผลที่เกิดจากการ “สวิง” ของกระแสที่ยังไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้หรือไม่
ความจริง ต้องยอมรับว่า เป็นผลต่อเนื่องมาจากชัยชนะแบบแลนด์สไลด์ หรือถล่มทลายของ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯ กทม. ด้วยซ้ำ ที่ปรากฏว่า ทั้ง “ชัชชาติ” คว้าตำแหน่งผู้ว่าฯ พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล คว้าส.ก.ได้มากที่สุด ต่างประสบความสำเร็จในสนามเลือกตั้ง กทม.
นั่นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนมาก่อนหน้านี้แล้วว่า “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคร่วมรัฐบาล ไม่ได้รับความนิยมเหมือนช่วงการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2562
ประเด็นที่น่าวิเคราะห์ก็คือ เพราะอะไรจึงทำให้ “บิ๊กตู่” และรัฐบาล ซึ่งถือว่า ได้เปรียบพรรคฝ่ายค้าน เพราะมีอำนาจรัฐเป็นเครื่องมือในการสร้างผลงานมาหลายปีจนจะครบเทอมอยู่แล้ว แต่กลับคะแนนนิยมถดถอย สวนทางกับผลงานที่ใช่ว่าจะไม่มีเอาเสียเลย
อย่าลืมว่า นอกจากปัญหาเอื้อให้มีการหาผลประโยชน์ในรัฐบาล ซึ่งเกิดขึ้นในทุกรัฐบาลก็ว่าได้ (สิ่งที่พิสูจน์ได้ชัดก็คือ พักหลังมานี้ รัฐมนตรีหลายคนถูกศาลตัดสินจำคุกคดีทุจริตคอร์รัปชันให้เห็นแล้ว)
ถือว่า ผลงานรัฐบาล “บิ๊กตู่” ก็ไม่ธรรมดา โดยเฉพาะการควบคุมโรคระบาดที่ได้รับการยอมรับระดับโลก และการช่วยเหลือเยียวยาประชาชน ท่ามกลางวิกฤติรุมเร้า ไม่ว่าจะเป็น วิกฤติเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม วิกฤติโรคระบาด โควิด-19 ซ้ำซ้อน วิกฤติการเมือง ซ้ำเติม กรณีการชุมนุม(ม็อบ)ประท้วง ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ของคนรุ่นใหม่ หรือ กลุ่ม“3 นิ้ว” และวิกฤติเศรษฐกิจเรื้อรัง อันเนื่องมาจากการปิดประเทศ เพื่อควบคุมการระบาดของ “โควิด-19”
วิกฤติทั้งหลายดังกล่าว และความพยายามแก้ปัญหาของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ถ้าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็คงไม่มีกระแสโจมตี หรือกดดันมากมายขนาดนี้
แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ต้องฟันฝ่า ทั้งกระแสการเมืองอันเชี่ยวกราก เพราะอย่าลืมว่า ข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่ “เพดานสูงมาก” ยากและเกินกว่าที่จะแก้ไขได้ด้วยฝีมือรัฐบาล ไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ตาม ทั้งยังถือเป็นหอกข้างแคร่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์อยู่ตลอดเวลาด้วย
ไม่เพียงเท่านั้น การต่อสู้เรียกร้องของ “คนรุ่นใหม่” ยังตอกย้ำซ้ำเติมให้เห็นถึงความไม่ชอบธรรมในการอยู่ในอำนาจของรัฐบาล ทั้งยังมีการปลุกกระแสในโลกโซเชียล ให้คนเห็นต่างจากรัฐบาลจำนวนมาก และต่อต้านรัฐบาล ไม่ว่าจะทำอะไร ก็ถูกโจมตีและดิสเครดิต
ดังนั้น ผลงานรัฐบาล ไม่ว่าดีหรือร้าย มักจะมีทั้งถูกโจมตีและเห็นดีเห็นงามอยู่ตลอดเวลา
สิ่งเหล่านี้ คือประเด็นสำคัญ ที่พรรคฝ่ายค้านแทบไม่ต้องทำอะไร ก็ฉกฉวยเอามาเป็นประเด็นโจมตีตามน้ำได้แล้ว รวมทั้งรอรับผลพลอยได้ จากการถูกกระแสโจมตีรัฐบาลในทางการเมือง
ที่สำคัญไปกว่านั้น ยังดูเหมือน “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ “คสช.”(คณะรักษาความสงบแห่งชาติ) ไม่ได้ทำตามสัญญาที่ให้ไว้ ตั้งแต่ช่วงแรกของการยึดอำนาจ นั่นคือ จะคืนประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ให้กับประชาชน และเร่งปฏิรูปประเทศหลายด้านให้สำเร็จ
แต่จนถึงวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกฯมาจะ 8 ปีแล้ว สิ่งที่เห็นในสายตาประชาชน คือ การพยายามสืบทอดอำนาจ วางรากฐานทางการเมือง มีพรรคการเมืองเป็นของตัวเอง โดยแทบไม่สนใจ สิ่งที่เคยให้คำมั่นสัญญาไว้เลย
โดยเฉพาะที่วาดฝันให้คนไทยเห็นว่า หลังจากยุค “คสช.” คนไทยจะได้ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันทางการเมืองจะหมดไป เพราะจะมีการปฏิรูปหลายด้าน ที่เรียกว่า “ปฏิรูปประเทศ” รวมทั้งการสร้างความสามัคคีให้กับคนในชาติ ปัญหา “สีเสื้อ” ที่มีความขัดแย้งอยู่เดิมจะไม่มีอีกแล้ว
ปรากฏว่า ทุกอย่างที่วาดฝันเอาไว้ ไม่เกิดขึ้นแม้แต่อย่างเดียว โดยเฉพาะความสามัคคีของคนในชาติ ยิ่งแล้วใหญ่ เพราะนอกจากสลาย “สีเสื้อ” ไม่ได้แล้ว ยังมีความเห็นต่างระหว่างคนรุ่นใหม่ กับ คนรุ่นเก่า กลุ่มอนุรักษ์นิยม กับ เสรีนิยม เพิ่มขึ้นมาอีก
จนเท่ากับว่า “คสช.” สร้างความวุ่นวายมากกว่า รักษาความสงบไปแล้ว
จากการ “มีอำนาจ” ของรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แล้วไม่สามารถใช้อำนาจให้เกิดประโยชน์ตามที่ต้องการได้ ไม่ว่าจะเกิดจากต้อง “ซื้อใจ” เอื้อประโยชน์ทางการเมือง ให้กับนักการเมือง ส.ส. ที่เป็น “นั่งร้าน” ให้อยู่ในอำนาจ หรือ หวังสืบทอดอำนาจตามที่ถูกกล่าวหา และพฤติกรรมที่ส่อออกมาจากผู้ใหญ่บางคนก็ตาม
ทำให้คนจำนวนมากที่เคยคาดหวังกับ “คสช.” และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเทคะแนนนิยมให้เมื่อครั้งเลือกตั้งทั่วไปปี62 เริ่มสิ้นหวัง และหาทางเลือกใหม่ ไม่เอา “คสช.” และพล.อ.ประยุทธ์อีกต่อไป ต่อให้มีผลงานไม่ต่างจากรัฐบาลที่ผ่านมา หรือ ตั้งใจทำงานแค่ไหนก็ตาม
นี่คือ คำตอบ ประเด็นที่ “ติ่ง” พล.อ.ประยุทธ์ ชอบถามว่า ทำไมพล.อ.ประยุทธ์ จึงอยู่ในช่วง “ขาลง” ทั้งที่มีผลงานมากมาย และตั้งใจทำงาน เพราะคนที่เคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้สนใจในส่วนนั้นอีกต่อไปแล้ว
เมื่อเป็นเช่นนี้ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับ พล.อ.ประยุทธ์ และรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ คนที่เคยโอบอุ้มพล.อ.ประยุทธ์อาจไม่รู้สึกอะไรมากไปกว่า คนเคยรักก็เป็นได้?
โดยเฉพาะเมื่อดู ไทม์ไลน์ 8 เดือนที่เหลือของรัฐบาล ที่นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกวุฒิสภา(ส.ว.) โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก Kamnoon Sidhisamarn เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่า รัฐบาลมีถึง 3 ด่านหินที่จะต้องฟันฝ่า แต่อาจไม่มีผลต่อความรู้สึกของประชาชนเลยก็เป็นได้ นอกจากได้ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจในการเลือกตั้งครั้งหน้ามากขึ้น
“...ตามปฏิทินเห็นได้ว่า มีด่านหินอยู่ 3 ด่าน และอีก 1 หลักชัยสำคัญ ด่านที่ 1 ญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจ ด่านที่ 2 ร่างพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2566 วาระ 3 ด่านที่ 3 คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะสามารถดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปตามรัฐธรรมนูญ 2560 หลังจาก 24 สิงหาคม 2565 แล้ว ได้หรือไม่ ถ้าได้ ได้ถึงเมื่อใด
ด่านที่ 1 และ 2 แม้จะไม่หินเกินไปนัก แต่ก็ประมาทไม่ได้ ด่านที่ 3 หินที่สุด และคาดการณ์ได้ยากที่สุด เพราะด่านนี้ขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ...”
ก่อนหน้านี้ (4 พฤษภาคม 2565) “คำนูณ” เคยชี้ให้เห็นโอกาสที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเอาไว้ 3 แนวทาง กรณีวาระนายกฯ 8 ปี
โดยระบุว่า ปัญหาการดำรงตำแหน่งของพล.อ.ประยุทธ์ เกี่ยวข้องกับรัฐธรรมนูญ 2 มาตรา คือ มาตรา 158 วรรคสี่ ที่กำหนดให้วาระนายกฯ รวมกันไม่เกิน 8ปี และบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก กำหนดให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ เป็นครม.ตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญนี้
ขณะที่การดำรงตำแหน่งของ พล.อ.ประยุทธ์ เกิดขึ้น 2 ครั้ง คือ ครั้งแรก 24 สิงหาคม 2557 และครั้งที่ 2 คือ 9 มิถุนายน 2562 ดังนั้นจึงมีความเห็นต่างทางกฎหมายแบ่งเป็น 3 แนวทางคือ
แนวทางแรก อยู่ได้ถึง วันที่ 24 สิงหาคม 2565, แนวทางสอง อยู่ได้จนถึงปี 2570 และแนวทางสาม อยู่ได้ถึงปี 2568
แนวทางแรก เพราะ มาตรา 158 ไม่มีบทยกเว้นให้กับ ครม. ที่มีอยู่ก่อนรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน และตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ เพื่อป้องกันการผูกขาดอำนาจทางการเมือง ที่เป็นวิกฤตการเมือง ดังนั้นการนับวาระของ พล.อ.ประยุทธ์ จึงต้องนับตั้งแต่ 22 สิงหาคม 2557
“มีประเด็นที่พอจะกล่าวได้ว่า ใกล้เคียงกันพอสมควรซึ่งคณะตุลาการรัฐธรรมนูญที่ตั้งขึ้นตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2549 เคยมีคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 คดีตามคำวินิจฉัยนี้คือคดียุบพรรคไทยรักไทยและตัดสิทธิเลือกตั้งคณะกรรมการบริหารพรรคจำนวน 111 คน เป็นเวลา 5 ปีเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2550 ซึ่งระบุว่า มาตรการทางกฎหมายที่ออกมาภายหลังการกระทำความผิดสามารถมีผลใช้บังคับย้อนหลังได้ เพราะมาตรการทางกฎหมายนั้นย่อมบัญญัติขึ้นมาเพื่อให้เหมาะสมแก่สภาพแห่งสังคม ไม่ให้เกิดความเสียหายซ้ำอีก
ดังนั้นการกำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีไว้จำกัดเพียงไม่เกิน 8 ปี น่าจะถือเป็นมาตรการบังคับทางการเมืองตามนัยแห่งคำวินิจฉัยที่ 3-5/2550 นี้เช่นกัน สมควรพิจารณาโดยมาตรฐานเดียวกันหรือไม่”
แนวทางที่สอง อยู่ได้ถึงปี 2570 เพราะหลักการของกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม ที่ระบุว่า จะต้องไม่บังคับใช้รัฐธรรมนูญหรือกฎหมายย้อนหลังเป็นโทษกับบุคคล ดังนั้นหากรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้มีผลย้อนหลังต้องบัญญัติไว้ให้ชัดเจน ดังนั้น เมื่อพล.อ.ประยุทธ์ จัดเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2557 นั้นเป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ซึ่งไม่ได้มีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ เพิ่งจะมามีบทบัญญัติกำหนดระยะเวลาจำกัดไว้ในรัฐธรรมนูญ 2560 ที่ประกาศใช้เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2560 หากบังคับใช้บทจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีย้อนหลังกับท่านจะเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญย้อนหลัง เป็นโทษกับบุคคล ขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม
“แนวทางที่สอง จึงมองว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีครั้งแรกของท่าน จึงไม่อยู่ภายใต้บทบังคับมาตรา 158 วรรคสี่ ส่วนบทเฉพาะกาลมาตรา 264 วรรคแรก เขียนเพื่อให้การบริหารประเทศเดินหน้าต่อเนื่องช่วงเปลี่ยนผ่าน ไม่ขาดคณะรัฐมนตรีทำหน้าที่ฝ่ายบริหาร ทั้งนี้มีประเด็นคำพิพากษาที่ใกล้เคียง คือ
ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเคยมีคำพิพากษาที่ อม. 138/2562 โดยมติที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาตัดสินข้อกฎหมายไม่ให้นำสภาพบังคับที่กำหนดไว้ในกฎหมายขณะตัดสินคดีที่กระทบสิทธิของจำเลยรุนแรงกว่ามาตรการที่กำหนดไว้ในกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะกระทำความผิดมาใช้ แม้สภาพบังคับนั้นศาลจะได้วินิจฉัยแยกแยะไว้อย่างชัดเจนว่าไม่ใช่โทษทางอาญาก็ตาม ก็จะนำมาใช้ย้อนหลังไม่ได้”
แนวทางที่สาม คือ อยู่ได้ถึงปี 2568 เพราะนับเร่ิมวาระตั้งแต่การมีอยู่ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 คือ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก และ พล.อ.ประยุทธ์ อยู่ในตำแหน่งนายกฯ ปัจจุบัน มาตามรัฐธรรมนูญ 2560
“ทั้ง 3 ความคิดเห็น มีเหตุผลทางกฎหมายรองรับตามที่กล่าวมาโดยสังเขป ยังไม่อาจกล่าวได้ว่า ความเห็นใดถูกต้องที่สุด จนกว่าศาลรัฐธรรมนูญจะมีคำวินิจฉัยชี้ขาด และคำตอบสุดท้ายอยู่ที่ศาลรัฐธรรมนูญ” นายคำนูณ ระบุทิ้งท้าย
จาก “ไทม์ไลน์” ดังกล่าว นอกจาก กรณีวาระนายกฯ 8 ปี ที่ขึ้นอยู่กับศาลรัฐธรรมนูญจะเป็นผู้ตัดสินแล้ว ที่เหลือแม้เป็นไปได้ยากที่จะล้มรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ แต่ถือว่า เข้าทางฝ่ายค้านที่จะได้อภิปรายเชือดเฉือนรัฐบาลหาเสียงในการเลือกตั้งครั้งหน้า รวมทั้ง “ดิสเครดิต” รัฐบาลที่กระแสความนิยมกำลังตกอยู่แล้ว ยิ่งตกลงไปอีก
ดังนั้น สัญญาณที่ “นิด้าโพล” สะท้อนให้เห็น “อุ๊งอิ๊ง” และฝ่ายประชาธิปไตย ขาขึ้น “บิ๊กตู่” และฝ่ายรัฐบาล ขาลง จึงเป็นผลที่ไม่เพียงเกิดขึ้นจากความนิยมในตัวบุคคล หรือ พรรคการเมืองเท่านั้น หากแต่เห็นได้ชัดว่า ความเบื่อพล.อ.ประยุทธ์ และองคาพยพ คสช. ก็มีส่วนสำคัญเช่นเดียวกัน ที่ทำให้กระแสความนิยม “สวิง” มาอยู่ที่ฝ่ายตรงข้าม
ทั้งยังมีแนวโน้มสูง ว่า คนที่เคยสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จะลดลงจนเหลือแค่ “ติ่ง” ที่เหนียวแน่น และฐานเสียงของพรรคพลังประชารัฐเท่านั้น โดยที่ไม่สนใจผลงานรัฐบาลจะเป็นอย่างไร
นี่คือผลพลอยได้ ที่มีส่วนทำให้กระแสความนิยม “อุ๊งอิ๊ง” พรรคเพื่อไทย และพรรคร่วมฝ่ายค้านพุ่งสูง ทั้งยังอาจได้อานิสงส์โดยแทบไม่ต้องออกแรงให้ยาก ในการเลือกตั้งครั้งหน้าอีกด้วย!?