การคาดการณ์เงินเฟ้อกับโอกาสในการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง

การคาดการณ์เงินเฟ้อกับโอกาสในการฟื้นตัวของสินทรัพย์เสี่ยงในช่วงครึ่งปีหลัง

ภาพรวมของตลาดการเงินและการลงทุนหลังจากผ่านครึ่งปีแรกโดยรวมยังคงดูไม่ดีนักจากปัจจัยกดดันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเงินเฟ้อ การขึ้นดอกเบี้ย เศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาห่วงโซ่อุปทาน หรือสงครามในยูเครน โดยกองทุนรวมต่างๆ ให้ผลตอบแทนติดลบค่อนข้างมากนับจากต้นปี

โดยเฉพาะกองทุนหุ้นต่างประเทศและกลุ่มเทคโนโลยีต่างๆ และเป็นการติดลบแทบจะทุกหมวดของการลงทุน ยกเว้นกลุ่มตลาดเงิน Money Market General และพันธบัตรระยะสั้น Short Term General Bond (ข้อมูลผลการดำเนินงานเฉลี่ยของสมาคมบริษัทจัดการลงทุนจาก www.aimc.co.th) ซึ่งก็สร้างความกังวลให้กับนักลงทุนไม่น้อย

หนึ่งในตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างยิ่งยวดและมีส่วนอย่างมากต่อการกำหนดทิศทางของตลาดการเงินที่ประกาศออกมาในสัปดาห์ก่อน คือ ตัวเลขเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ โดยตัวเลขเดือน มิ.ย. ประกาศออกมาสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 1981 หรือกว่า 41 ปีที่แล้ว ที่ 9.1% 

เมื่อเทียบกับปีก่อน และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดไว้ที่ 8.8% โดยเป็นตัวที่สูงกว่าคาดต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 3 แล้ว ท่ามกลางการคาดการณ์ว่าเงินเฟ้อสหรัฐฯ น่าจะทำจุดสูงสุดในช่วงไตรมาส 2 แต่จากข้อมูลล่าสุดก็มีความเป็นไปได้ว่าเงินเฟ้ออาจจะยังเร่งตัวขึ้นอีก

ตัวเลขเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้นสร้างแรงกดดันให้กับตลาดการเงินโดยเฉพาะสินทรัพย์เสี่ยงผ่านทางช่องทางของดอกเบี้ย และความเชื่อมั่นของนักลงทุน 

โดยเงินเฟ้อที่สูงจะทำให้ธนาคารกลางจำต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยเร็วขึ้นกว่าที่เคยคาดไว้ ซึ่งในช่วงหลังจากตัวเลขเงินเฟ้อประกาศออกมา ข้อมูลจากตลาดเงินสะท้อนความเป็นไปได้ที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยครั้งเดียวมากถึง 1.00% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินในช่วงปลายเดือนนี้ (26-27 ก.ค.) ก่อนที่การคาดการณ์จะค่อยๆ ลดลงเหลือ 0.75% ซึ่งก็ยังนับว่าสูงเมื่อเทียบกับการดำเนินนโยบายการเงินในอดีต

การเร่งขึ้นดอกเบี้ยยังส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเพิ่มโอกาสที่เศรษฐกิจจะชะลอตัวและอาจนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยในท้ายที่สุด นอกจากนั้นตัวเลขเงินเฟ้อที่ยังคงสูงก็ยังอาจทำให้นักลงทุนยังคงไม่มั่นใจเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยและเศรษฐกิจในอนาคตด้วย ซึ่งทั้งหมดนี้ล้วนแล้วแต่ส่งผลลบต่อสินทรัพย์เสี่ยง และตลาดก็เผชิญกับแรงขายมาแล้วหลายรอบโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่สอง

อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันมีปัจจัยบางอย่างที่อาจจะแตกต่างไปจากช่วงก่อนหน้า คือ การที่แนวโน้มการคาดการณ์เงินเฟ้อ (Inflation Expectation) ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง สะท้อนจากส่วนต่างของพันธบัตรรัฐบาลและพันธบัตรชดเชยเงินเฟ้อ ซึ่งสะท้อนการคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตของผู้เล่นในตลาดได้

โดยล่าสุดเงินเฟ้อคาดการณ์เฉลี่ยในอีก 10 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 2.35% ซึ่งเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงต้นปี 2564 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับช่วงสูงสุดที่ผู้เล่นในตลาดคาดว่าเงินเฟ้อในระยะยาวจะสูงถึง 3.00% 

โดยเฉลี่ย และใกล้เคียงกับการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาวของธนาคารกลางสหรัฐฯ ด้วย ซึ่งนับเป็นสัญญาณที่ดีขึ้นแม้ว่าเงินเฟ้อทั่วไปจะยังคงเร่งตัวสูงขึ้น แม้บางส่วนอาจะเกิดจากแนวโน้มเศรษฐกิจที่น่าจะชะลอตัวลง แต่ก็เป็นสัญญาณที่น่าจะสร้างความมั่นใจและลดความกังวลเกี่ยวกับประเด็นเรื่องของ “Wage-Price Spiral” ให้ผู้เล่นในตลาดการเงินบ้าง

โดยหากการคาดการณ์เงินเฟ้อยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง ในท้ายที่สุดเงินเฟ้อก็น่าจะค่อยๆ ปรับลดลง อาจจะยกเว้นส่วนที่เกิดจากปัญหาด้านอุปทาน แต่ก็น่าจะลดความไม่แน่นอนลงได้ (ที่มา: การคาดการณ์เงินเฟ้อ https://fred.stlouisfed.org/series/T10YIE)

การคาดการณ์เงินเฟ้อในอนาคตสามารถประเมินได้หลายช่องทาง เช่น จากการสำรวจ หรือสะท้อนจากราคาสินทรัพย์ และอาจจะมีทิศทางเดียวกันหรือต่างกันกับเงินเฟ้อระดับปัจจุบันได้ ขึ้นอยู่กับมุมมองของผู้เล่นในตลาด แนวโน้มเศรษฐกิจ และความเชื่อมั่นของนโยบายการเงินในการควบคุมเงินเฟ้อ

สินทรัพย์เสี่ยงจะสามารถฟื้นตัวกลับมาได้หรือไม่ในครึ่งปีหลัง น่าจะขึ้นอยู่กับสองปัจจัยหลักได้แก่ (1) การคาดการณ์เงินเฟ้อ และ (2) ตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ โดยสินทรัพย์เสี่ยงจะฟื้นได้ ปัญหาเรื่องของเงินเฟ้อต้องดูแนวโน้มควบคุมได้และสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนเสียก่อน

ในขณะที่เศรษฐกิจอาจจะชะลอตัวได้แต่ต้องอยู่ภายใต้เงื่อนไขของการชะลอตัวแบบ Soft Landing ซึ่งทั้งสองอย่างนี้น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับแนวโน้มของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ โดยเฉพาะหุ้น ทำให้เราอาจจะยังต้องคอยติดตามสถานการณ์และแนวโน้มกันต่อไปอย่างใกล้ชิด

กลยุทธ์การลงทุนที่เหมาะสมในช่วงนี้ยังน่าเป็นเรื่องของการรักษาระดับความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนให้เหมาะสม แม้ความผันผวนและระดับความไม่แน่นอนจะลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 2 แต่โดยรวมก็ยังอาจจะเร็วเกินไปที่จะเพิ่มระดับความเสี่ยงในภาวะปัจจุบัน (แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับระดับและความเต็มใจในการรับความเสี่ยงของนักลงทุนด้วย)

การฟื้นตัวของตลาดหุ้นในรอบนี้มีโอกาสน้อยที่จะเป็นในลักษณะ “V-Shape” เหมือนในช่วงของ COVID-19 เนื่องจาก ยารักษาโดยเฉพาะเรื่องของการดำเนินนโยบายการเงินเป็นยาที่ต้องใช้เวลาก่อนจะออกฤทธิ์อย่างมีประสิทธิภาพ การรักษาระดับความเสี่ยงให้เหมาะสมกับจุดประสงค์การลงทุนในระยะยาวรวมถึงการกระจายการลงทุนยังคงนับเป็นกลยุทธ์ที่น่าจะได้ผลดีในช่วงครึ่งปีหลังครับ

หมายเหตุ บทวิเคราะห์นี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของหน่วยงานต้นสังกัดแต่อย่างใด