Inflation and Factor Investing
ในปี 2022 แวดวงการลงทุนไม่มีเรื่องไหนถูกพูดถึงมากที่สุดเท่าเรื่องของเงินเฟ้ออย่างแน่นอน เงินเฟ้อได้ปรับสูงขึ้นในเกือบจะทุกประเทศทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา กลุ่มประเทศพัฒนาแล้วในยุโรป เช่น อังกฤษ เยอรมัน สวีเดน เบลเยี่ยม หรือกลุ่มประเทศในทวีปเอเชีย เช่น ฟิลิปปินส์ เกาหลีใต้
รวมถึงประเทศไทยด้วยเช่นกัน โดยธนาคารกลางหลายประเทศเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อควบคุมไม่ให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นเร็วเกินไป จนกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของภาคประชาชน
รูปที่ 1 ด้านล่างแสดงถึงอัตราการเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาผู้บริโภค CPI (Consumer Price Index) ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดระดับเงินเฟ้อ เมื่อเทียบค่า CPI กับปีที่แล้วจะเห็นได้ว่าเงินเฟ้อของสหรัฐอเมริกา เริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ต้นปี 2021 แล้ว และปัจจุบันเงินเฟ้อมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นกว่า 9% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว
โดยแถบสีม่วงในรูปแสดงถึงช่วงเวลาที่อัตราเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 2% และเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนสูงกว่า 5% (วิธีการนิยามช่วงของเงินเฟ้อ อ้างอิงจาก The Best Strategies for Inflationary Times จาก The journal of portfolio management, August 2021) เราจะเห็นได้ว่าช่วงที่เกิดเงินเฟ้อขึ้นนั้น เกิดขึ้น 2 ครั้งตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา ครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี 2007 และปี 2008 (Subprime crisis) และปัจจุบันซึ่งเกิดขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม 2021 นับเป็นระยะเวลากว่า 1 ปีหลังจากมีการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19
รูปที่ 1: US CPI YoY (%) ตั้งแต่ปี 2000 จนถึง 2022
Source: SCBAM, Factset
ในส่วนของการลงทุนแบบ Factor Investing นั้น อย่างที่ทราบกันว่าแต่ละ Factor เช่น กลุ่ม Value, กลุ่ม Growth หรือกลุ่ม Momentum นั้นสร้างผลตอบแทนได้ดีแตกต่างกันตามสภาวะของเศรษฐกิจ ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่าในเวลาที่เป็นช่วงเงินเฟ้อ (Inflationary period) เช่นนี้ การลงทุนด้วยวิธี Factor Investing กลุ่มใดมีโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนที่ดีได้มากกว่ากัน เพื่อที่เราจะสามารถปรับพอร์ตลงทุนให้สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจได้มากที่สุด
รูปที่ 2: Long-Short Equity Factor Strategies ตั้งแต่มีนาคม 2021 จนถึงมิถุนายน 2022
Source: SCBAM, Factset
รูปที่ 3: Long-Short Equity Factor Strategies ตั้งaแต่กันยายน 2007 จนถึงกรกฎาคม 2008
Source: SCBAM, Factset
ในรูปที่ 2 และ 3 แสดงถึงผลตอบแทนของ long-short portfolio (long หลักทรัพย์ที่มีคะแนนสูงกว่า 80 percentile และ short ในหลักทรัพย์ที่มีคะแนนต่ำกว่า 20 percentile) ของแต่ละ Factor แยกเป็นรายภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก ระหว่าง มีนาคม 2021 จนถึงมิถุนายน 2022 และ กันยายน 2007 จนถึงกรกฎาคม 2008 ตามลำดับ ซึ่งเป็นช่วงเวลาของ Inflationary period (เมื่อใช้ CPI YoY ของประเทศสหรัฐอเมริกาเป็น Proxy)
หากพิจารณาทั้ง 2 ช่วงเวลา Factor ในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาของหลักทรัพย์ ได้แก่ Momentum และ Long-term Reversal เป็นกลุ่มที่สามารถสร้างผลตอบแทนได้ดี นอกจากนั้น หุ้นในกลุ่ม Quality ได้แก่ Earning Quality และ Investment Quality ยังเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่น่าสนใจ และสร้างผลตอบแทนได้ดีเช่นกัน
ในทางกลับกัน Low Beta และ Low Liquidity เป็นกลุ่มที่สร้างผลตอบแทนได้ไม่ดีนัก อีกกลุ่มนึงที่มีผลตอบแทนที่ค่อนข้างแตกต่างกันใน 2 ช่วงเวลานี้ ถึงแม้จะเป็นช่วงของ Inflationary period เหมือนกัน ได้แก่ Factor ในกลุ่ม Value ได้แก่ Book-to-Price, Earning Yield และ Dividend Yield นอกจากเรื่องของเงินเฟ้อแล้ว ดอกเบี้ยก็เป็นเรื่องนึงที่เกี่ยวโยงกับเงินเฟ้ออย่าหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในปี 2007 ถึง 2008 นั่นเป็นปีที่
ดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาลง Fed ลดดอกเบี้ยอย่างรวดเร็ว จากระดับ 5% จนถึงเกือบจะ 0% ซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีต่อหุ้นกลุ่ม Growth ซึ่งเราเห็นได้จากหุ้นกลุ่ม Growth ในสหรัฐอเมริกาที่ให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่ในปี 2021 ถึง 2022 นี้ เงินเฟ้อในหลากหลายประเทศปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
ทำให้ธนาคารกลางในหลายประเทศนั้นขึ้นอัตราดอกเบี้ย เช่น สหรัฐอเมริกา อังกฤษ เป็นต้น ซึ่งส่งผลโดยตรงกับหุ้นกลุ่ม Value และ Growth โดยในปี 2021 ถึง 2022 เราจะเห็นว่า Book-to-Price, Earning Yield และ Dividend Yield สร้างผลตอบแทนได้ดีมาก ซึ่งตรงกันข้ามกับ Inflationary period ในปี 2007 และในทางกลับกันหุ้นกลุ่ม Growth ก็สร้างผลตอบแทนที่ไม่ดี
เงินเฟ้อและการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอาจจะยังไม่จบในเร็ววันนี้ ดังนั้น การวิเคราะห์เบื้องต้นเพื่อคาดการณ์ว่า Factor Investing รูปแบบใดจะให้ผลตอบแทนที่ดีจะช่วยให้เราสามารถคัดเลือกหลักทรัพย์ที่จะมาลงทุนในช่วงเวลาที่มีการปรับขึ้นของดอกเบี้ย และสถานการณ์ของเงินเฟ้อในปัจจุบันได้