ถึงเวลาของตราสารหนี้...หลังบอนด์ยีลด์พุ่ง!
ในภาวะปกติ ตราสารหนี้จะถือเป็นสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ โดยเฉพาะพันธบัตรรัฐบาลที่แทบจะไม่มีความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้เลย นักลงทุนบางกลุ่มจึงเลือกลงทุนเพื่อรักษาเงินต้น
แต่ปีนี้กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะการลงทุนในพันธบัตรของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ถือเป็นประเทศที่แข็งแกร่งที่สุดให้ผลขาดทุนราว8% (อ้างอิงดัชนี Bloomberg US Treasury Total Return Index) ยิ่งไปกว่านั้น ราคาหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนทั้งระดับความน่าเชื่อถือสูง (Investment Grade) และระดับความน่าเชื่อถือต่ำลงมา (High Yield) ก็ปรับตัวลงราวๆ -15% ตั้งแต่ต้นปี (ข้อมูล ณ 26 กรกฎาคม 2022)
สาเหตุสำคัญที่ทำให้การลงทุนในตราสารหนี้ไม่ปลอดภัยเหมือนภาวะปกติคงหนีไม่พ้นการที่ธนาคารกลางทั่วโลกเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง ในอัตราที่เร็วและแรงกว่าในอดีตอย่างมาก และดูเหมือนว่าการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 0.25% จะเป็นเรื่องปกติไปแล้วสำหรับช่วงเวลานี้ นำโดยธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่ใช้ยาแรงในการสกัดเงินเฟ้อ โดยขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 2 ครั้งติดต่อกันในเดือนมิถุนายนและกรกฎาคมที่ผ่านมา
ด้านยุโรปที่แม้เศรษฐกิจไม่ได้ฟื้นตัวแข็งแกร่งเท่าสหรัฐฯ แต่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ย 0.5% ในการประชุมครั้งล่าสุด นับเป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 11 ปี และเป็นการปรับเพิ่มขึ้นมากสุดในครั้งเดียวตั้งแต่ปี 2000 ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ย นโยบาย Deposit Facility Rate ขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 0% หลุดพ้นภาวะดอกเบี้ยติดลบที่กินเวลานานกว่า 9 ปี
แต่ด้วยความที่ประเทศสมาชิกในยูโรโซนมีความสามารถในการรองรับต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้นได้ไม่เท่ากัน ECB จึงได้ออกมาตรการ Transmission Protection Instrument (TPI) เพื่อช่วยเหลือประเทศที่มีระดับหนี้สาธารณะสูง โดย ECB จะสามารถเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อสกัดการเพิ่มขึ้นของบอนด์ยีลด์ และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศสมาชิก
สำหรับประเทศไทย ตลาดค่อนข้างคาดการณ์ไปแล้วว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ในการประชุมวันที่ 10 สิงหาคม ที่จะถึงนี้ หลังเงินเฟ้อทำจุดสูงสุดในรอบ 14 ปี รวมถึงเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดี โดย KBank Capital Market คาดการณ์ว่า กนง.จะขึ้นดอกเบี้ยอีกครั้งในการประชุมเดือนพฤศจิกายน ทำให้ดอกเบี้ย ณ สิ้นปี 2022 อยู่ที่ 1%
ในระยะข้างหน้า บอนด์ยีลด์ยังมีโอกาสผันผวนตามทิศทางเงินเฟ้อ แต่การที่ธนาคารกลางทั่วโลกมีความชัดเจนในการสื่อสารเกี่ยวกับนโยบายการเงินมากขึ้น ทำให้บอนด์ยีลด์ ณ ระดับปัจจุบันได้สะท้อนการขึ้นดอกเบี้ยไประดับหนึ่งแล้ว หลังจากที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วงก่อนหน้านี้ สังเกตุได้จากบอนด์ยีลด์ของสหรัฐฯ ที่เริ่มทรงตัวได้ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ทำให้ตราสารหนี้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าสนใจลงทุนมากขึ้น
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศ แนะนำลงทุนในหุ้นกู้ของบริษัทเอกชนที่มีระดับความน่าเชื่อถือสูง เนื่องจาก อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทยอายุ 2 ปี ปรับเพิ่มขึ้นมาแล้วมากกว่า 1% ตั้งแต่ต้นปี มาอยู่ที่ราวๆ 1.80% ส่งผลให้ผลตอบแทนของหุ้นกู้ในประเทศน่าดึงดูดมากขึ้น เช่น หุ้นกู้เรทติ้ง BBB+ อายุ 3 ปี ให้ผลตอบแทนราวๆ 4%
ด้านการลงทุนตราสารหนี้ในต่างประเทศ หากนักลงทุนต้องการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนจากดอลลาร์สหรัฐฯ กลับมาเป็นเงินบาท จะมีต้นทุนในปัจจุบันค่อนข้างสูง การลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความเสี่ยงต่ำที่ให้ผลตอบแทนต่ำเมื่อหักต้นทุนดังกล่าวอาจทำให้ผลตอบแทนคาดหวังสุทธิต่ำจนไม่น่าสนใจ จึงควรพิจารณาหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพื่อให้ได้ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น อย่างหุ้นกู้ High yield ในภูมิภาคเอเชีย เพราะช่วงนี้ราคาหุ้นกู้ในเอเชียกลับมาน่าสนใจ หลังจากถูกเทขายจากความกังวลเรื่องการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัทอสังหาฯ ในจีน และความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม หุ้นกู้ที่ให้ผลตอบแทนสูงย่อมมีความเสี่ยงสูงกว่าพันธบัตรรัฐบาลมาก การลงทุนตามกลยุทธ์นี้ จึงควรลงทุนผ่านกองทุนรวมที่มีการกระจายในหุ้นกู้หลายประเทศ เช่น จีน อินเดีย ฮ่องกง อินโดเนเซีย และกระจายหลายอุตสาหกรรม เช่น การเงิน อสังหาฯ พลังงาน และที่สำคัญคือมีผู้เชี่ยวชาญในการเลือกหุ้นกู้ของบริษัทที่มีพื้นฐานดี อัตราการผิดนัดชำระหนี้ต่ำ มีกระแสเงินสดเพียงพอต่อการชำระดอกเบี้ยและชำระคืนเงินกู้ เพื่อให้นักลงทุนได้รับผลตอบแทนใกล้เคียงกับที่คาดหวังและลดโอกาสในการสูญเสียเงินต้น