ถึงเวลาทบทวนความมั่นคง
ตั้งแต่เกิดการระบาดของไวรัส โควิด-19 และเกิดการชะงักงันของการขนส่ง ทำให้สินค้าต่างๆ ที่เคยส่งจากแหล่งผลิตใดแหล่งผลิตหนึ่งที่สามารถผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด
ด้วยต้นทุนต่ำที่สุด ไปยังประเทศผู้ซื้อได้ทุกมุมในโลก เกิดขาดแคลนรวมถึง ยา และอุปกรณ์ทางสาธารณสุขหลายอย่าง เช่น ชุดป้องกันและหน้ากากอนามัย ฯลฯ พวกเราก็เรียกร้องกันอย่างมากให้ภาครัฐและเอกชน ทำการทบทวนเรื่องการพึ่งพาวัตถุดิบ หรือสินค้าจากภายนอกมากเกินไป เพราะทำให้เกิดควาไม่มั่นคง
ไม่ใช่เฉพาะในประเทศไทย เรื่องนี้เกิดขึ้นทั่วโลก และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง หลังจากเกิดเหตุการณ์รัสเซียบุกยูเครน และประเทศจีนดำเนินนโยบาย “โควิดเป็นศูนย์” ก่อให้เกิดการติดขัดและหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานไปทั่ว เกิดการขาดแคลนทรัพยากรที่จำเป็น โดยเฉพาะประเทศในยุโรปที่เดือดร้อนกันมาก
ขณะนี้จึงเป็นช่วงเวลาแห่งการทบทวนความแข็งแกร่ง เพื่อเตรียมประเทศให้มีความมั่นคงในช่วงทศวรรษต่อไป ดิฉันจะข้ามไม่เขียนถึงความมั่นคงทางอาหารซึ่งได้เขียนไปแล้ว
ความมั่นคงคือ ความปลอดภัย ปราศจากอันตรายคุกคาม ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในทศวรรษนี้
การสามารถจัดการให้เกิดความมั่นคงได้ จึงต้องไปดูว่า มีความเสี่ยง หรือภัยอันตรายใดที่จะมาคุกคามเราได้บ้าง ดิฉันนำข้อมูลเรื่องความเสี่ยงของโลกมาเพื่อวิเคราะห์ เมื่อสามารถจัดการกับความเสี่ยงได้ ความมั่นคงก็จะเกิดขึ้น เราจึงสามารถนำความเสี่ยงมาแจกแจงว่า ความมั่นคงที่แต่ละประเทศควรสร้าง คืออะไรบ้าง โดยบางส่วน ได้รวบรวมจากรายงาน Global Risk Report 2022 ของ World Economic Forum และบางส่วน รวบรวมจาก “Key Words” หรือคำศัพท์ที่พบในบทความที่เกี่ยวกับความเสี่ยงในช่วงที่ผ่านมา
พบว่าความเสี่ยงที่โลกเราเผชิญมากที่สุดในตอนนี้ คือ การถดถอยของความร่วมมือกันของคนในชาติ ของภูมิภาค และของโลก โดยมีแนวโน้มอยู่แล้วก่อนวิกฤติโควิด และวิกฤติโควิดที่ผ่านมาทำให้สถานการณ์แย่ลง
ทั้งนี้ เมื่อแต่ละประเทศมองตนเอง พยายามสำรวจจุดอ่อนเพื่อลดการพึ่งพาภายนอก เกิดความรู้สึกชาตินิยม หรือภูมิภาคนิยมสูงขึ้น เกิดการจับกลุ่มทางรัฐศาสตร์ตามผลประโยชน์และความสนใจแบบโจ่งแจ้ง ทำให้ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวของโลกลดลง ความร่วมมือกันก็ลดลงด้วย แถมยังเกิดการกีดกันกลุ่มที่ไม่ใช่เชื้อชาติ หรือเผ่าพันธุ์เดียวกัน ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องที่อันตรายมากค่ะ
สรุปประเด็นจาก World Economic Forum ได้ว่า ความเป็นพันธมิตรของชาติต่างๆลดลง จากการกีดกันทางการค้า จากการต้องเอาตัวรอดยามฉุกเฉิน และจากนโยบายประเทศที่เปลี่ยนไปเพราะเปลี่ยนผู้นำทางการเมือง
นอกจากจะต้องมีแหล่งทรัพยากรและการผลิตในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศแล้ว เราควรต้องสร้างความสามัคคีในชาติ “เปิดหู เปิดตา เปิดใจ” รับฟังความเห็นและข้อเสนอแนะที่แตกต่าง นำมาหารือ และเมื่อหาคำตอบหรือแนวทางได้แล้ว ก็ควรให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินไปตามแนวทางนั้น ผู้ที่ไม่เห็นด้วยก็ไม่ควรจะขัดขวาง นอกจากนี้ควรเป็นพันธมิตรกับทุกๆประเทศด้วย ไม่จำเป็นต้องเลือกข้าง อยู่อย่างเป็นกลางดีที่สุด
ความเสี่ยงถัดไปคือ ภัยทางสังคม โดยก่อนหน้าวิกฤติโควิด โลกเราก็มีประเด็นเรื่องความเหลื่อมล้ำอยู่แล้ว โดยเฉพาะความเหลื่อมล้ำทางรายได้ เทคโนโลยีและโอกาส พอเกิดวิกฤติขึ้น ความเหลื่อมล้ำก็ยิ่งขยายมากขึ้น เหลื่อมล้ำระหว่าง “ผู้มี” และ “ผู้ไม่มี” ทรัพยากรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเงิน ความรู้ เทคโนโลยี ทรัพยากรต่างๆ และความเหลื่อมล้ำนี่เองที่ทำให้ “การแยกขั้ว” ทวีความถี่และความรุนแรงขึ้น กลายเป็นปัญหาทางสังคม และในหลายประเทศลุกลามเป็นปัญหาทางการเมือง
มหาวิทยาลัยโรวาน ในมลรัฐนิวเจอร์ซี่ ของสหรัฐ (Rowan University) ชี้ว่า การแบ่งขั้ว เลวร้ายลงจากนโยบายประชานิยม การให้ข้อมูลที่ผิด และความสุดขั้วสุดโต่ง โดยมีตัวเร่งคือ “สื่อโซเชียล” ซึ่งถูก ง่าย เร็ว มีประสิทธิผลในการรับสมัคร ฝึกฝน และสื่อสารกับผู้ติดตาม การใช้นโยบายประชานิยมใช้ได้ดีกับกลุ่มที่รู้สึกว่าไม่มีใครรับฟัง ไม่ได้รับการดูแล หรือไม่มีตัวแทนที่จะไปเรียกร้องต่อสู้ให้
นอกจากนี้ โควิดทำให้เกิดความเครียดในอารมณ์ ทั้งเครียดจากการดำเนินชีวิต จากเศรษฐกิจ และจากการขาดการสมาคม ทำให้ความมั่นคงทางอารมณ์ของประชากรโลกลดลง
การอพยพย้ายถิ่นของประชากรโดยไม่เต็มใจ เกิดขึ้นได้บ่อยและมากในช่วงที่โลกมีความขัดแย้ง ไม่ว่าจะในประเทศ ระหว่างประเทศ หรือในภูมิภาค ซึ่งเราก็เห็นตัวอย่างแล้วใน ศรีลังกา ยูเครน ฯลฯ
ประเด็นเกี่ยวกับคนนี้ เปราะบางมาก ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรทุกคน โดยใช้หลักศาสนาเข้ามาช่วย ทุกศาสนาสอนให้คนทำดีอยู่แล้ว หากสังคมมีกฎกติกาที่เป็นธรรม ทุกคนไม่เอารัดเอาเปรียบกัน และมีเมตตา มีความกรุณาให้แก่ผู้อื่น สังคมเราก็จะน่าอยู่
ปัญหาเรื่องหนี้ท่วมโลก ก็เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่คนไม่พูดถึงมาก เพราะกลัวที่จะพูดถึง รัฐบาลของประเทศต่างๆ กู้เงินมาแก้ไขปัญหาอันเป็นผลสืบเนื่องจากโควิด ด้วยการให้เงินชดเชยรายได้ที่ขาดหายไปของประชาชนและธุรกิจ ทำให้ในระยะต่อไป รัฐบาลของประเทศต่างๆจะมีรายได้ลดลง เนื่องจากเก็บภาษีได้น้อยลง จากเศรษฐกิจที่ยังไม่ดี ทั้งยังต้องกันเงินส่วนหนึ่งไปชำระหนี้ จึงจะทำให้มีงบประมาณที่จำกัดไปอีกระยะหนึ่ง เรื่องนี้รัฐต้องมีวินัย ถึงเวลาแจกก็แจก แต่ถึงเวลาเก็บก็ต้องเก็บค่ะ
ความเสี่ยงอื่นๆที่ควรต้องกล่างถึงหลังจากที่เราต่อสู้กับสงครามโควิดกันอย่างโชกโชนคือ การล่มสลายของระบบต่างๆ เช่น ระบบประกันสังคม โครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ความผันผวนของราคาสินค้าและวัตถุดิบ การแย่งชิงทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นพลังงาน น้ำ หรือแร่ธาตุต่างๆ จนอาจเกิดวิกฤติ
และพอมีปัญหาเฉพาะหน้ามาให้จัดการแก้ไข สิ่งที่คนจะละเลยหรือหย่อนยาน คือ วินัยในการจัดการกับความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม และภูมิอากาศของโลก ซึ่งเพิ่งจะมีการให้ความสำคัญเมื่อเร็วๆนี้หลังจากโลกมีความสงบและคนมองไปในอนาคตที่ไกลขึ้น
ภาครัฐและภาคเอกชน ต้องร่วมมือกัน ช่วยกันป้องกัน แก้ไข และเตรียมรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่สำคัญคือเราต้องร่วมมือกันค่ะ ความสามัคคีเท่านั้น ที่จะช่วยให้เรานำนาวาชาติไทย ฝ่าวิกฤติไปข้างหน้าได้อย่างงดงาม