บทบาทสถาบันศาสนากับทิศทางการพัฒนาสังคมไทย
เมื่อกล่าวถึงศาสนาในประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่ได้มีการเปิดกว้างในเรื่องสิทธิเสรีภาพในการนับถือและปฏิบัติตามหลักคำสอนของแต่ละศาสนา
ตามความเชื่อของแต่ละบุคคล ดังนั้น จึงมีสถาบันทางศาสนาเป็นสถาบันหลักที่ประชาชนนับถือที่มีความหลากหลายด้วยความเชื่อมั่นว่าหลักธรรมคำสอนของทุกศาสนานั้นมีขึ้นเพื่อมุ่งที่จะผดุงไว้ซึ่งศีลธรรม คุณธรรม และจริยธรรมอันดี รวมทั้งการรักษาไว้ซึ่งระเบียบแห่งสังคมอันดีงามและการมีชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขในสังคมไทย และได้มีการบัญญัติไว้เป็นตัวบทกฎหมายที่สำคัญของประเทศ ดังนี้ คือ
1. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรทางด้านศาสนา โดยสรุปสาระสำคัญแต่ละมาตราได้ให้ความสำคัญและบัญญัติไว้ดังนี้ คือ มาตรา 9 พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ และทรงเป็นอัครศาสนูปถัมภก มาตรา 37 บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมในทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติ พิธีกรรมตามความเชื่อถือของตน เมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมืองและไม่เป็นการขัดต่อ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน ในการใช้เสรีภาพตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้ เพราะเหตุที่ถือศาสนา นิกายของศาสนา ลัทธินิยม ในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนธรรม ศาสนบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือ แตกต่าง จากบุคคลอื่นและ มาตรา 79 รัฐต้องให้ความอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นศาสนา ที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านานและศาสนาอื่น ทั้งต้องส่งเสริมความเข้าใจอันดีและ ความสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนา รวมทั้งสนับสนุนการนำหลักธรรมของศาสนา มาใช้เพื่อเสริมสร้างคุณธรรมและพัฒนาคุณภาพชีวิต
2. นโยบายรัฐบาลปัจจุบัน ด้านศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม โดยสรุปดังนี้คือ 1) เร่งดำเนินการให้ศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม มีบทบาทนำในการร่วมเทิดทูนสถาบันหลัก ชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และร่วมสร้างประเทศไทยให้เป็นประเทศที่อยู่สบาย 2) อุปถัมภ์คุ้มครองและทำนุบำรุงศาสนา ส่งเสริมการปรับปรุงองค์กรและกลไกที่รับผิดชอบด้านศาสนาเพื่อให้การบริหารจัดการส่งเสริมทำนุบำรุงศาสนามีความเป็นเอกภาพและประสิทธิภาพ รวมทั้งส่งเสริมความเข้าใจอันดีและสมานฉันท์ระหว่างศาสนิกชนของทุกศาสนาเพื่อนำหลักธรรมของศาสนามาใช้ในการส่งเสริมคุณธรรม จริยธรรม และสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนใช้หลักธรรมในการดำรงชีวิตมากขึ้น 3) อนุรักษ์ทำนุบำรุงและบูรณปฏิสังขรณ์แหล่งศาสนา 4) สร้างสรรค์อารยธรรมที่ดีงามสู่วิถีชีวิตและสังคมคุณภาพ 5) นำทุนทางวัฒนธรรมของประเทศมาสร้างคุณค่าทางสังคมและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ 6) พัฒนาแหล่งเรียนรู้ทางวัฒนธรรมและการนันทนาการ 7) ขยายบทบาทและสร้างเครือข่ายความร่วมมือของสภาวัฒนธรรมทุกจังหวัดกับภาคีการพัฒนาทุกภาคส่วน
3. แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ที่เกี่ยวข้องกับสถาบันทางสังคมและกระบวนการเรียนรู้ตลอดชีวิต ยุทธศาสตร์การพัฒนาคนสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 พ.ศ. 2555-2559 นั้นได้สรุปสาระสำคัญไว้ดังนี้ คือ 1) การปรับโครงสร้างและการกระจายตัวประชากรให้เหมาะสม 2) การพัฒนาคุณภาพคนไทยให้มีภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลง 3) การส่งเสริมการลดปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพอย่างเป็นองค์รวม 4) การส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิต และ 5) การเสริมสร้างความเข้มแข็งของสถาบันทางสังคม เป็นการเสริมสร้างความเข้มแข็งและพัฒนาบทบาทของสถาบันหลักทางสังคมให้เอื้อต่อการพัฒนาคน สร้างค่านิยมให้คนไทยภูมิใจในวัฒนธรรมไทยและยอมรับความแตกต่างของความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่ลดปัญหาความขัดแย้งทางความคิดและสร้างความเป็นเอกภาพในสังคมสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวัฒนธรรมร่วมกับประชาคมโลกโดยเฉพาะประชาคมอาเซียนให้เกิดการไหลเวียนทางวัฒนธรรมในรูปแบบการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในการเรียนรู้ประวัติศาสตร์วัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ข้อมูลข่าวสาร
4. พระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ที่เกี่ยวกับประเด็นทางด้านศาสนา โดยสรุปดังนี้ คือ มาตรา 7 ในกระบวนการเรียนรู้ต้องมุ่งปลูกฝังจิตสำนึกที่ถูกต้องเกี่ยวกับการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข รู้จักรักษาและส่งเสริมสิทธิ หน้าที่ เสรีภาพ ความเคารพกฎหมาย ความเสมอภาค และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ มีความภาคภูมิใจในความเป็นไทย รู้จักรักษาผลประโยชน์ส่วนรวมและของประเทศชาติ รวมทั้งส่งเสริมศาสนา ศิลปวัฒนธรรมของชาติ การกีฬา ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาไทย และความรู้อันเป็นสากล ตลอดจนอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีความสามารถในการประกอบอาชีพ รู้จักพึ่งตนเอง มีความริเริ่มสร้างสรรค์ ใฝ่รู้และเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง มาตรา 29 ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการ และสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษาอบรม มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาสาระสำคัญ จากบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 นโยบายรัฐบาล แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 และพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้มองเห็นมิติและความสำคัญของสถาบันศาสนาในฐานะที่เป็นสถาบันทางสังคมหนึ่งของประเทศไทยที่มีบทบาทในการพัฒนาประเทศควบคู่กันไปกับมิติทางด้านอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมิติทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ผู้เขียนมีความคิดเห็นว่า แต่ละมิติดังกล่าวล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างแยกกันไม่ได้ และต่างก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันในการเป็นปัจจัยหลักในการพัฒนาประเทศ และผู้เขียนนั้นได้มีข้อเสนอในการพัฒนาสถาบันทางศาสนาเพื่อการพัฒนาประเทศไทยต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1) ควรมีการวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประชาชน องค์กรภาคประชาสังคม และภาคเอกชนให้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการศึกษา ศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรมของประเทศ รวมถึงการสร้างกระบวนการศึกษาและเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิตและการให้เกิดบูรณาการแห่งสังคมและคนในสังคมไทยที่มีความรู้คู่คุณธรรมอย่างแท้จริง
2) ควรมีการนำผลการวิจัย วิทยานิพนธ์ ที่เกี่ยวกับองค์กรศาสนากับการพัฒนา ที่มีอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ มาสังเคราะห์และถอดบทเรียนหลักธรรมและหลักปฏิบัติที่ดีของแต่ละศาสนา ซึ่งเป็นการนำผลการศึกษาวิจัยไปสู่การปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมในการพัฒนาประเทศไทย
3) ควรสนับสนุนและพัฒนาบุคลากรทางศาสนา ได้แก่ พระภิกษุ นักบวชและผู้นำทางศาสนาต่างๆ รวมทั้งครู คณาจารย์ นักวิชาการ ผู้ทำหน้าที่สอนด้านศาสนาให้สามารถ เป็นผู้สอนและผู้เผยแพร่ ศาสนธรรมอย่างเหมาะสมและกลมกลืนกับวิถีชีวิตของ ศาสนิกชนของแต่ละศาสนา ตลอดจนการดำเนินกิจกรรม ทางด้านศาสนาโดยเน้นด้านหลักธรรม เพื่อให้ศาสนิกชนได้เข้าใจและ เข้าถึงแก่นแท้ของศาสนาตนเองที่นับถือได้อย่างแท้จริง
4) ที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการนำสาระสำคัญในด้านการพัฒนาสถาบันศาสนาให้เป็นสถาบันที่มีพลังในการขับเคลื่อนและพัฒนาประเทศไทยตามที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ในนโยบายรัฐบาลปัจจุบันก็ดี ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 11 ก็ดี และในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ก็ดี ไปสู่กระบวนการปฏิบัติให้เป็นรูปธรรมเพื่อเป็นพลังในการพัฒนาสังคมไทยต่อไป