บทเรียนจากสินค้า GI ส่งออกอันดับต้นๆ ของอิตาลี
ตามที่หลายท่านได้ทราบข่าวดีแล้วว่า เมื่อวันที่ 12 ก.พ. ที่ผ่านมา ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทยได้รับการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
หรือ Geographical Indications (GI) ของอียูเป็นสินค้าแรกของประเทศ และเป็นสินค้าที่สองของอาเซียนรองจากน้ำปลา Phu Quoc ของเวียดนาม โดยข้าวหอมมะลิของไทยได้ขึ้นทะเบียน GI ประเภท PGI (Protected Geographical Indication) เป็นสินค้าแรกของอาเซียน (ส่วนน้ำปลา Phu Quoc ได้ขึ้นทะเบียน GI ประเภท PDO (Protected Designation of Origin))
นายกรัฐมนตรีได้รับมอบประกาศการขึ้นทะเบียน GI ดังกล่าวจากนายบาโรโซ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป เมื่อวันที่ 6 มี.ค. 2556 ที่กรุงบรัสเซลส์ ประเทศเบลเยียม และขณะนี้ประเทศไทยยังได้ยื่นขอจดทะเบียน GI ประเภท PGI กับอียูไปอีก 3 รายการ ได้แก่ กาแฟดอยช้าง กาแฟดอยตุง และข้าวสังข์หยด
ทีมงานไทยยุโรป.เน็ต ขอขยายความให้ท่านผู้อ่านเข้าใจมากขึ้นว่า การได้รับขึ้นทะเบียน GI ของอียูเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยอย่างไร และ GI คืออะไร...... GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่ส่งเสริมและคุ้มครองชื่อสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะอันเป็นผลจากอิทธิพลทางภูมิศาสตร์ อาทิ สภาพแวดล้อม ดิน และอากาศ โดยข้อแตกต่างที่ชัดเจนจากทรัพย์สินทางปัญญาประเภทอื่น คือ ผู้เป็นเจ้าของจะไม่ใช่บุคคลหนึ่ง บุคคลใด แต่จะเป็นชุมชนผู้ผลิต หรือ ผู้ประกอบการในแหล่งภูมิศาสตร์นั้นๆ
GI ของอียูนั้น สามารถจำแนกออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) PDO ซึ่งสินค้ามีกระบวนการผลิต และมีการเตรียมในพื้นที่ภูมิศาสตร์หนึ่งๆ โดยใช้ know-how ที่เป็นที่ยอมรับ เช่น ชีส Parmigiano Reggiano ของอิตาลี (2) PGI ซึ่งสินค้ามีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ และมีการผลิต หรือ ผ่านกระบวนการ หรือ การเตรียม อย่างน้อย 1 ขั้นตอนเกิดขึ้นในพื้นที่ภูมิศาสตร์นั้น เช่น ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ของไทย และ (3) TSG (Traditional Specialty Guaranteed) ซึ่งเป็นสิ่งบ่งชี้ความชำนาญพิเศษแบบดั้งเดิมโดยไม่คำนึงถึงแหล่งผลิต เช่น เบียร์เชอร์รี่ชื่อ Kriek ของเบลเยียม
การขึ้นทะเบียน GI จะช่วยส่งเสริมการแข่งขันที่เป็นธรรม กล่าวคือ ผู้ผลิตอื่นนอกพื้นที่ ซึ่งมักผลิตสินค้าที่ไม่ได้มีลักษณะเฉพาะและคุณภาพมาตรฐานอย่างผู้ผลิตในพื้นที่ จะไม่สามารถแอบอ้างนำชื่อสินค้าไปใช้ได้
นอกจากนั้น ยังช่วยยกระดับและเพิ่มมูลค่าแก่สินค้า เพราะผู้บริโภคย่อมมีความรู้สึกว่าสินค้า GI มีลักษณะพิเศษที่แตกต่างจากสินค้าทั่วไป และมีความเชื่อมั่นในคุณภาพของสินค้า
ในเรื่องนี้ คณะกรรมาธิการยุโรปได้เคยจัดทำการศึกษาและพบว่า สินค้าภายหลังจากได้รับ GI ของอียูจะมีราคาโดยเฉลี่ยจะเพิ่มขึ้น 2.23 เท่า หากเป็นไวน์ GI จะมีราคาเพิ่มขึ้น 2.75 เท่า ในขณะที่สุราเพิ่มขึ้น 2.57 เท่า และสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น 1.55 เท่า
GI ยังจะช่วยส่งเสริมให้ผู้ผลิตดูแลรักษาคุณภาพมาตรฐานสินค้า เพราะหากคุณภาพมาตรฐานของผู้ผลิตใดไม่เป็นไปตามข้อกำหนด ก็จะไม่สามารถใช้ชื่อสินค้านั้นได้ นอกจากนั้น ยังช่วยสร้างความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนผู้ผลิต เนื่องจากเป็นการสร้างความรู้สึกผูกพันต่อแหล่งภูมิศาสตร์ และสร้างความร่วมมืออย่างเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในชุมชนในการร่วมกันรักษาและพัฒนาคุณภาพสินค้า และในการรักษาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่อาจประสบปัญหาในการแข่งขันกับสินค้าที่ผลิตจากโรงงานครั้งละมากๆ (mass production) ในแง่ผู้บริโภคนั้น การขึ้นทะเบียน GI ยังช่วยคุ้มครองผู้บริโภคให้ได้สินค้าของแท้ ไม่ถูกหลอกลวงจากผู้แอบอ้างชื่อ
การขึ้นทะเบียน GI ของอียูนั้น ปัจจุบันมีสินค้าที่ได้รับ GI (รวมข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้) 1,108 รายการ ซึ่งมียอดขายรวมประมาณ 2.17 ล้านล้านบาทต่อปี โดยสินค้า GI ของอียูเป็นไวน์ถึง 56% สินค้าเกษตรและอาหาร 29% และสุรา 15%
สินค้า GI ส่วนใหญ่จำหน่ายในประเทศที่ผลิต 60% จำหน่ายระหว่างประเทศสมาชิกอียู 20% และส่งออกไปยังประเทศที่มิใช่สมาชิกอียู 20% โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐฯ สวิตเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ และแคนาดา ซึ่งสินค้าที่ส่งออกเป็นอันดับต้นๆ ก็คุ้นหูท่านผู้อ่านเป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นแชมเปญและคอนยัคจากฝรั่งเศส วิสกี้จากสกอตแลนด์ และชีส Grana Padano และชีส Parmigiano Reggiano จากอิตาลี
ประเทศที่เป็นผู้นำในการผลิตสินค้า GI ของอียู คงหนีไม่พ้นฝรั่งเศส อิตาลี เยอรมนี และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ โดยยอดขายของเพียง 4 ประเทศที่กล่าวมานี้ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของยอดขายรวมของอียูเลยทีเดียว ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องไวน์ สามารถจำหน่ายไวน์ GI เป็นสัดส่วน 75% ของสินค้า GI ทั้งหมดในประเทศ รองลงมา คือ เหล้าคอนยัค และชีส โดยมีรายได้เข้าประเทศจากการขายสินค้า GI ประมาณ 8.36 แสนล้านบาทต่อปี
อีกประเทศที่เป็นผู้นำสินค้า GI ที่น่าจับตามอง คือ อิตาลี ซึ่งสร้างรายได้จากการขายสินค้า GI ประมาณ 4.72 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่ง 57% ของสินค้า GI อิตาลี เป็นชีส อีก 48% เป็นไวน์ และที่เหลือเป็นผลิตภัณฑ์เนื้อ เช่น พาร์มาแฮม ถ้าพิจารณาในแง่การส่งออก อิตาลีเป็นผู้นำอันดับหนึ่งในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหาร GI ของอียูเลยทีเดียว โดยมีจำนวนรายการสินค้าเกษตรและอาหาร GI มากที่สุดในอียูถึง 254 รายการ (ฝรั่งเศสมี 200 รายการ)
สำหรับสินค้า GI ส่งออก 4 อันดับแรกของอิตาลี ได้แก่ ชีส Grana Padano ชีส Parmigiano Reggiano น้ำส้มสายชูบัลซามิก Aceto Balsamico di Modena และแฮม Prosciutto di Parma ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นสินค้า GI ประเภท PDO
เกี่ยวกับสินค้า GI อิตาลี เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา นายอภิชาติ ชินวรรโณ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์/หัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป พร้อมด้วยคณะผู้แทนไทยฯ และทีมงานไทยยุโรป.เน็ต ได้ดูงานสินค้า GI สำคัญๆ ของอิตาลี ภายหลังจากการเข้าพบหารือผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ European Food Safety Authority (EFSA) ซึ่งเป็นหน่วยประเมินความเสี่ยงของความปลอดภัยด้านอาหารของอียู เพื่อสร้างความเข้าใจเชิงลึกเรื่องความปลอดภัยด้านอาหาร ซึ่งเป็นประเด็นที่คณะผู้แทนไทยฯ ให้ความสำคัญในฐานะเป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไทยไปยังอียู และสร้างเครือข่ายกับ EFSA และทาบทามผู้เชี่ยวชาญจาก EFSA มาเป็นวิทยากรในการสัมมนาให้ความรู้เชิงลึกเรื่องความปลอดภัยด้านอาหารแก่ภาคเอกชนไทยและภาครัฐ ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 26-27 ก.ย. 2556 ที่กรุงเทพฯ
โดยที่แรกที่เราไปดูงาน คือ น้ำส้มสายชูบัลซามิก ACETAIA PICCI ซึ่งมีสัดส่วนการส่งออกมากถึง 80% ของน้ำส้มฯ ที่ผลิตได้ทั้งหมด โดยส่วนใหญ่ส่งออกไปยังแคนาดา และญี่ปุ่น ที่นี่เราพบว่า ความจำเพาะที่สะท้อนความเป็นน้ำส้มสายชูบัลซามิก ACETAIA PICCI ที่สำคัญๆ คือ การมีวัตถุดิบตั้งต้นที่มาจากองุ่นขาวที่เพาะปลูกในพื้นที่เท่านั้น (น้ำส้มสายชูทั่วไปในอิตาลีผลิตจากไวน์ และในเยอรมันผลิตจากข้าวโพดหรือแอปเปิล) โดยการหมักน้ำส้มสายชูด้วยวิธีการดั้งเดิมเพื่อให้ได้น้ำส้มสายชูคุณภาพดีที่สุดนั้น ต้องใช้เวลาหมักถึง 30 ปี
นอกจากนั้น คุณภาพมาตรฐานจะได้รับการควบคุมโดยสมาคมผู้ผลิตน้ำส้มสายชูบัลซามิกดั้งเดิมแห่งเมืองเรคจิโอ เอมิเลีย (Consorzio Tutela Aceto Balsamico Tradizionale di Reggio Emillia) โดยหนึ่งในวิธีการควบคุมคุณภาพ คือ ไม่ว่าน้ำส้มสายชูบัลซามิกจะยี่ห้ออะไร ก็จะต้องบรรจุขวดในโรงงานบรรจุเดียวกันเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบคุณภาพ และเพื่อความประหยัดต่อขนาดในการจัดหาขวด โดยขวดจะมีขนาดและรูปร่างเพียง 1 ขนาดที่เป็นมาตรฐาน
น้ำส้มสายชูฯ ที่นี่ เป็นตัวอย่างสำคัญที่เห็นได้ชัดแก่สินค้า GI ไทย ในแง่ของการรวมตัวของผู้ผลิตเป็นสมาคม (consortium) ที่มีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพของสินค้า (ทั้งทางวิทยาศาสตร์ และความชำนาญในการแยกแยะคุณภาพด้วยการชิม) รวมถึงการตรวจสอบย้อนกลับ (traceability) รวมทั้งมีการประกวดให้รางวัลผู้ผลิตประจำปี สำหรับในส่วนของการควบคุมสินค้าให้เป็นไปตามกฎระเบียบของสหภาพฯ ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนสินค้า GI และการออกใบอนุญาตแก่สมาคมฯ และผู้ผลิต นั้น กระทรวงเกษตรฯ ของอิตาลีจะเข้ามามีบทบาท
สำหรับที่ต่อไป เราได้ไปดูงานที่ พาร์มาแฮม Prosciutto di Parma ซึ่งมียอดขายทั้งสมาคมฯ ประมาณ 3.6 หมื่นล้านบาทต่อปี พาร์มาแฮมที่ผลิตได้ 35% จะส่งออกไปยัง สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น ฮ่องกง เกาหลีใต้ รวมถึงประเทศไทย ที่นี่เราทราบว่าสิ่งบ่งชี้ความเป็นพาร์มาแฮม Prosciutto di Parma ที่สำคัญ คือ วัตถุดิบจะต้องประกอบด้วยขาหมูจากหมูในเขตพื้นที่ 10 พื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น (หมูจะต้องมีอายุอย่างน้อย 9 เดือน และมีน้ำหนักอย่างน้อย 140 กก.ขณะเชือด) โดยจะถนอมขาหมูด้วยวิธีการดั้งเดิม และใช้เกลือธรรมชาติที่ไม่มีสารเจือปนหรือวัตถุกันเสียใดๆ ซึ่งในบางขั้นตอนขาหมูจะต้องได้รับอากาศจากลมทะเลในเขตพื้นที่เท่านั้น
ที่นี่ สมาคมผู้ผลิตพาร์มาแฮม Prosciutto di Parma (Consorzio del Prosciutto di Parma) มีบทบาทในการส่งเสริมการคุ้มครอง GI แก่พาร์มาแฮมฯ และในการทำการตลาดแก่สินค้า สำหรับกระทรวงเกษตรฯ จะมีบทบาทสำคัญในการตรวจสอบและควบคุมคุณภาพ และจัดการระบบตรวจสอบย้อนกลับ โดยกำหนดให้หน่วยงานตรวจสอบ (ที่มิใช่สมาคมฯ) เป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งการตรวจสอบย้อนกลับนี้ หมูจะได้เริ่มได้รับการติดรหัสที่ขาภายใน 30 วันหลังจากเกิดเลยทีเดียว
ที่สุดท้ายที่เราไป คือ ชีส Parmigiano Reggiano ซึ่งถือเป็นสินค้า GI ส่งออกอันดับ 2 ของอิตาลี เราพบว่า ความจำเพาะที่สะท้อนความเป็นชีส Parmigiano Reggiano ที่สำคัญ คือ วัตถุดิบจะต้องมาจากนมวัวในพื้นที่ ซึ่งวัวจะต้องได้รับอาหารเป็นหญ้าแห้งที่เติบโตในพื้นที่ที่กำหนดเท่านั้น และกระทำการผลิตในเขตพื้นที่ดังกล่าว นั่นหมายความว่า ภายใต้สมาคมชีส Parmigiano Reggiano ไม่เพียงแต่ผู้ผลิตชีสเท่านั้นที่จะเข้าเป็นสมาชิก แต่รวมถึงชาวนาผู้ผลิตนมสำหรับใช้ในการผลิตชีสด้วย
สำหรับสมาคมชีส Parmigiano Reggiano (Consorzio del Formaggio Parmigiano-Reggiano) นอกจากบทบาทในการควบคุมคุณภาพ การตรวจสอบย้อนกลับด้วย QR Code และระบบตรวจสอบต่างๆ และการอนุมัติให้ใช้ชื่อ Parmigiano Reggiano บนสินค้า (โดยคิดค่าใช้จ่ายแก่ผู้ผลิต 6 ยูโร ต่อวงล้อชีส) แล้ว สมาคมฯ ยังมีบทบาทสำคัญในการคุ้มครอง ส่งเสริม และพิทักษ์ ต่อการคุ้มครอง GI ของชีสฯ เป็นอย่างมาก
โดยกรณีศึกษาที่สำคัญของไทยจากการดูงานที่นี่ เราได้แลกเปลี่ยนข้อมูลจากนักกฎหมายผู้แทนสมาคมฯ ซึ่งได้กล่าวถึงประสบการณ์กรณีพิพาทจากการละเมิดใช้ชื่อ "Parmigiano Reggiano" โดยประเทศสมาชิกอียูด้วยกันเอง เช่น กรณีบริษัทในเยอรมนี และสเปน ซึ่งในกรณีดังกล่าว สมาคมฯ ได้เป็นตัวแทนผู้ผลิตทั้งหมดยื่นหนังสือคำร้องต่อคณะกรรมาธิการยุโรป และคณะกรรมาธิการยุโรปจะส่งหนังสือเตือนถึงบริษัทดังกล่าว และดำเนินคดีกับบริษัท (หากยังไม่ยุติการละเมิด) สำหรับในประเทศที่มิใช่สมาชิกอียู อย่างเช่นประเทศไทย สมาคมฯ ได้ยื่นจด/อยู่ระหว่างการยื่นจดขอขึ้นทะเบียนคุ้มครองชีส Parmigiano Reggiano ในประเทศนั้นๆ รวมทั้งประเทศไทยด้วย
เมื่ออ่านมาถึงตอนนี้ ท่านผู้อ่านคงได้เรียนรู้ตัวอย่างที่สำคัญของการบริหารจัดการสินค้า GI ของอิตาลี โดยเฉพาะในแง่ของการรวมตัวเป็นสมาคมผู้ผลิตที่มีบทบาทที่เข้มแข็งในการรักษาและควบคุมคุณภาพมาตรฐานของสินค้า การจัดการระบบตรวจสอบย้อนกลับ และการปกป้องคุ้มครองชื่อสินค้าของตน ซึ่งเป็นบทเรียนและตัวอย่างที่สำคัญต่อสินค้าไทยที่ได้ขึ้นทะเบียน GI ของอียูแล้ว หรือ อยู่ระหว่างการขอขึ้นทะเบียน GI
ท่านผู้อ่านสามารถติดตามข้อมูลเชิงลึกของอียูที่มีผลกระทบสำคัญต่อประเทศไทย ได้ที่ www.thaieurope.net หรือติดตามรับข้อมูลข่าวสารดังกล่าวได้ที่ Twitter ‘@Thaieuropenews’ และ facebook ‘Thaieurope.net’