นักการเมืองจะทำอย่างไร เมื่อประชาชนรู้สึกเบื่อหน่าย
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นของประชาชนทั่วประเทศ ในหัวข้อ "พฤติกรรมของนักการเมือง(ส.ส./ส.ว.)ในสภา ณ วันนี้"
โดยผลสำรวจพบว่าพฤติกรรมในสภาของ ส.ส./ส.ว. ที่ประชาชนรังเกียจและไม่ชอบ อันดับแรก คือ การแสดงพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม ขว้างปาสิ่งของ ใช้คำพูดที่ไม่สุภาพ หยาบคาย 43.47 % รองลงมา คือ ไม่เคารพหรือเชื่อฟังประธานในที่ประชุม การโต้เถียงกับประธาน 21.85 % และการไม่ให้เกียรติผู้ที่กำลังอภิปราย เช่น นั่งหลับ เล่นโทรศัพท์ คุยกับคนอื่น 13.18 %
สำหรับพฤติกรรมที่ประชาชนอยากเห็น อันดับแรก คือ อภิปรายน่าสนใจ เน้นเนื้อหาสาระ ใช้ถ้อยคำสุภาพ ไม่พูดนอกเรื่องหรือพาดพิงผู้อื่น 36.24 % รองลงมาคือ ให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามกฎระเบียบของสภาอย่างเคร่งครัด 25.45 % และการปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์ ยึดมั่นในสิ่งที่ถูกต้อง คำนึงถึงส่วนรวม 18.26 % และสิ่งที่ประชาชนอยากฝากเกี่ยวกับพฤติกรรมของส.ส./ส.ว. ในสภา คือ การใช้ถ้อยคำ คำพูด การแสดงกริยาท่าทางและพฤติกรรมต่างๆในที่ประชุมที่เหมาะสม
ผลการสำรวจของสวนดุสิตโพลในครั้งนี้ ถือว่าเป็นเสียงบ่นที่ได้ยินกันอยู่เสมอจากคนที่ติดตามการอภิปรายทุกครั้งของสภาผู้แทนราษฎร โดยเฉพาะในช่วงหลังที่จะมักจะมีการถ่ายทอดสดให้ประชาชนทางบ้านได้ติดตามกันอย่างใกล้ชิด แม้ในช่วงหลังจะไม่ได้รับความสนใจมากนัก เพราะคนรู้สึกเบื่อหน่ายการโต้แย้งกันอย่างไร้สาระ ดังนั้นเวทีการอภิปรายของนักการเมืองยุคนี้ก็ไม่ต่างจากการโจมตีและการกล่าวหาทางการเมืองระหว่างกัน ส่วนประเด็นข้อเท็จจริงและประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับนั้นน้อยเต็มที
หากติดตามพัฒนาการของความขัดแย้งทางการเมืองในเวทีสภาผู้แทนราษฎร เราจะพบว่ามีความเปลี่ยนแปลงสำคัญในยุคปัจจุบัน กล่าวคือ การเมืองในยุคก่อน ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นมักเป็นเรื่องของต่างฝ่ายต่างทำหน้าที่ หรือที่เรียกกันว่าละครการเมือง แต่เริ่มมีความขัดแย้งกันอย่างรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆและการใช้คำพูดที่ด่ากันดุเดือดเหมือนผลของสวนดุสิตโพล ต้องถือเป็นปรากฏการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในช่วงหลัง ซึ่งการทำหน้าที่ในรัฐสภาของเหล่าสมาชิกที่บอกว่าตัวเองเป็นผู้ทรงเกียรตินั้น ทำให้คนรู้สึกเบื่อหน่าย ยกเว้นแต่บรรดากองเชียร์แต่ฝ่าย
ที่ผ่านมา นักการเมืองที่ทำหน้าที่อยู่ในสภา มักจะอ้างอำนาจของประชาชนมาทำหน้าที่ในระบอบประชาธิปไตย ซึ่งพวกเขาก็สามารถให้คุณให้โทษในเรื่องนโยบายและการทำอำนาจหน้าที่ได้ แต่เรากำลังสงสัยว่าคงมีประชาชนไม่มากนักที่ต้องการให้ตัวแทนของพวกเขามาแสดงบทบาทที่ไม่เหมาะสมในสภา พวกเขาอาจหวังว่าตัวแทนของพวกเขาจะพูดหรืออธิปรายอย่างมีสติและใช้ความรู้ความสามารถที่เคยประกาศไว้ เพื่อทำหน้าที่ในสภาได้อย่างเต็มที่
เราเห็นว่าจากตัวอย่างของโพลที่ออกมา อาจไม่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพฤติกรรมได้โดยทันที แม้ว่ามีหัวข้อหนึ่งที่ผู้ตอบบอกว่าจะมีส่วนในการลงคะแนนในครั้งหน้าก็ตาม แต่เราก็หวังว่าจะมีการพัฒนาที่ดีขึ้นในอนาคต อีกทั้งพวกท่านเหล่านี้มักอ้างอำนาจของประชาชนหรือเป็นผู้ที่ประชาชนเลือกมาให้เป็นตัวแทน แต่หากผลการสำรวจความเห็นในครั้งใกล้เคียงกับความจริง เราก็หวังว่าจะเกิดการปรับตัวของตัวแทนประชาชน ซึ่งหากพวกท่านเหล่านี้มีพฤติกรรรมที่เหมาะสมแล้ว จึงจะขึ้นชื่อว่าเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง