ปัญหารถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะ 2 สัญชาติ

ปัญหารถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะ 2 สัญชาติ

รถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะ 2 สัญชาติ หรือรถ 2 ป้าย หมายถึง รถที่ได้มีการนำมาจดทะเบียนซ้อนใน 2 ประเทศ

เพื่อวัตถุประสงค์ในการหลีกเลี่ยงข้อจำกัดในทางกฎหมายที่ห้ามไม่ให้รถซึ่งไม่ได้รับอนุญาตสามารถทำการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้

ในทางปฏิบัติผู้ประกอบการรถ 2 ป้าย จะทำการติดแผ่นป้ายทะเบียนรถที่ได้มาจากการจดทะเบียนอย่างถูกต้องตามกฎหมายของทั้ง 2 ประเทศไว้คู่กันบริเวณด้านหน้าและด้านหลังของตัวรถ ซึ่งจะมีผลทำให้รถคันดังกล่าว กลายเป็นรถ 2 สัญชาติ หรือรถ 2 ป้าย ที่จะสามารถเข้าออกเพื่อให้บริการรับขนสินค้าภายในประเทศของรัฐเจ้าของสัญชาติได้เหมือนกับรถที่จดทะเบียนภายในประเทศนั้นๆ โดยไม่จำเป็นต้องขอหรือได้รับอนุญาตก่อนอย่างในกรณีของรถต่างสัญชาติแต่อย่างใด

การจดทะเบียนรถ 2 ป้าย อาจเป็นการจดทะเบียนในลักษณะที่ผู้ประกอบการต่างชาติ เข้ามาร่วมทุนหรือลงทุนโดยให้คนในท้องถิ่นที่ไว้ใจได้ดำเนินการจัดตั้งองค์กรธุรกิจ เช่น ตัวแทนที่ได้มีการทำสัญญารับสภาพหนี้หรือโอนหุ้นไว้ล่วงหน้า ภรรยา (ใหม่) หรือบุตร เป็นผู้ถือหุ้นแทน และดำเนินการยื่นคำขอจดทะเบียนในนามองค์กรธุรกิจท้องถิ่น เพื่อให้รถคันดังกล่าวได้มาซึ่งสัญชาติของรัฐนั้น เป็นต้น

สำหรับประเทศไทย ปัญหาเรื่องรถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะ 2 สัญชาติ หรือรถ 2 ป้าย พบมากบริเวณชายแดนแถบภาคใต้ที่มีพรมแดนติดกับประเทศมาเลเซีย โดยผู้ประกอบการชาวมาเลเซียจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลของตนในเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน ทำให้ผู้ประกอบการชาวมาเลเซียส่วนใหญ่มีศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันที่สูงกว่าผู้ประกอบการชาวไทย เพราะมีต้นทุนในทางธุรกิจที่ต่ำกว่า

ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการชาวมาเลเซียที่มีศักยภาพและมีสายสัมพันธ์อันดีกับคนไทย จึงมักเข้ามาร่วมทุนหรือลงทุนให้กับคนไทย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการขยายกิจการให้ตนสามารถเข้ามาทำการรับขนสินค้าในประเทศไทยได้โดยไม่ขัดกับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศ มาใช้ประกอบการขนส่งในประเทศไทย เว้นแต่เพื่อการขนส่งระหว่างประเทศและได้รับใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางแล้ว (มาตรา 26) และห้ามมิให้ผู้ใดประกอบการขนส่งระหว่างประเทศ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนกลางโดยอนุมัติของคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง (มาตรา 25 วรรค 1) การขออนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ และวิธีการ ที่กำหนดในกฎกระทรวง (มาตรา 25 วรรค 2)

อย่างไรก็ดี การขนส่งสินค้าข้ามแดน (Cross border) ทางถนนระหว่างประเทศไทยกับประเทศมาเลเซียในปัจจุบัน ปรากฏว่ายังไม่มีการให้อนุญาตหรือออกใบอนุญาตจากนายทะเบียนกลางให้ผู้ประกอบการต่างชาติสามารถนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาให้บริการรับขนสินค้าในประเทศไทยได้แต่อย่างใด จะมีเฉพาะแต่การขนส่งสินค้าผ่านแดน (Goods in transit) ที่ประเทศไทยมีข้อตกลงกับประเทศมาเลเซียตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งมาเลเซียว่าด้วยการขนส่งสินค้าเน่าเสียง่ายผ่านแดนโดยทางถนนจากประเทศไทยผ่านมาเลเซียไปยังสิงคโปร์ (Memorandum of understanding between the government of the kingdom of Thailand and the government of Malaysia on the movement in transit of perishable goods by road from Thailand through Malaysia to Singapore) เท่านั้น

แม้บทบัญญัติของพระราชบัญญัติขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 จะได้กำหนดโทษแก่ผู้ประกอบการที่กระทำการฝ่าฝืนรับขนสินค้าระหว่างประเทศหรือนำรถที่จดทะเบียนในต่างประเทศเข้ามาให้บริการในประเทศไทยโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน อาจต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 126) แต่ในทางปฏิบัติบทบัญญัติดังกล่าวไม่สามารถนำมาใช้บังคับเพื่อลงโทษกับผู้ประกอบการรถ 2 ป้ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะผู้ประกอบการรถ 2 ป้าย อาจสามารถต่อสู้ได้ว่าตนกระทำการรับขนสินค้าในฐานะผู้ประกอบการขนส่งสินค้าภายในประเทศเท่านั้น

ในความเห็นของผู้เขียน การอาศัยช่องว่างทางกฎหมายเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในทางธุรกิจในลักษณะนี้สามารถแก้ไขได้โดยการปรับปรุงบทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดสัญลักษณ์ประจำตัวรถ เช่น ห้ามแสดงตัวอักษรหรือตัวหนังสือภาษาต่างประเทศไว้บริเวณด้านหน้าและด้านหลังของตัวรถเพื่อป้องกันการแสดงป้ายทะเบียนซ้อน หรือการกำหนดให้รถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะต้องมีการรายงานเลขระยะทางประจำตัวรถตามมาตรวัดระยะทางที่ปรากฏติดอยู่กับตัวรถเพื่อใช้สำหรับควบคุมการเดินทางในกรณีที่จำเป็นต้องมีการขนส่งสินค้าเข้าและออกประเทศในทุกกรณี

นอกจากนั้น ควรกำหนดบทลงโทษในทางกฎหมายให้ชัดเจนเกี่ยวกับการห้ามจดทะเบียนและการห้ามใช้รถ 2 ป้ายในประเทศไทย และควรกำหนดหน่วยงานผู้ทำหน้าที่ในการควบคุมดูแลให้ชัดเจน เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะชาวไทย สามารถสร้างและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันต่อสู้กับผู้ประกอบการรถรับจ้างขนส่งสินค้าสาธารณะต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นโดยไม่เสียเปรียบมากจนเกินไป และจะเป็นการรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์ของคนในชาติอีกประการหนึ่งด้วย