แก้คอร์รัปชัน : โจทย์ทดสอบประเทศไทย
กระแสความต้องการของประชาชนให้รัฐบาลแก้ปัญหาคอร์รัปชันขณะนี้ต้องเรียกว่าเป็นกระแสสูง ที่ปฏิเสธไม่ได้เพราะคอร์รัปชันนับวันจะเลวร้ายมากขึ้นๆ
และส่งผลกระทบไปทั่ว เห็นได้จากการจัดอันดับประเทศไทยด้านภาพลักษณ์คอร์รัปชัน โดยองค์กรความโปร่งใสระหว่างประเทศล่าสุด ที่ภาพลักษณ์ประเทศด้านคอร์รัปชันตกลงอย่างน่าใจหาย จากอันดับ 88 ปี 2012 เป็นอันดับ 102 ปี 2013 ลดลง 14 อันดับในปีเดียว ซึ่งไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สะท้อนว่าทำไมปัญหาขณะนี้ประชาชนส่วนใหญ่จึงอดทนไม่ได้ ต้องออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องให้มีการแก้ไข
ที่ต้องตระหนักก็คือ ปัญหาคอร์รัปชันของไทยเลวร้ายลงต่อเนื่องในช่วงสิบปีที่ผ่านมา ไม่ว่าใครจะเข้ามาเป็นผู้นำบริหารประเทศ และปัญหารุนแรงขึ้นทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่เกลียดและไม่ชอบคอร์รัปชัน และเกิดขึ้นท่ามกลางความพยายามของภาคเอกชนที่จะปรับปรุงธรรมาภิบาลและการกำกับดูแลกิจการของบริษัทธุรกิจให้ดีขึ้น ปัจจุบันคอร์รัปชันได้เข้าไปสัมผัสทุกส่วนของสังคมจนเหมือนจะเป็นวิถีชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่อันตราย
อีกประเด็นก็คือ คอร์รัปชันที่รุนแรงขึ้นสะท้อนความล้มเหลวของพฤติกรรมปัจจุบันและการทำหน้าที่ของเกือบทุกส่วนในสังคมทั้งนักการเมือง ข้าราชการประจำ บริษัทธุรกิจเอกชนที่ยอมให้คอร์รัปชันเกิดขึ้น ไม่แก้ไข ซ้ำยังซ้ำเติมพฤติกรรมคอร์รัปชันให้ยิ่งรุนแรงขึ้น แต่ผู้ที่ต้องรับผิดชอบเรื่องนี้มากที่สุด ก็คือ นักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศเพราะมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องแก้ปัญหา แต่กลับไม่ใช้อำนาจที่มาจากความไว้วางใจของประชาชนแก้ปัญหา ตรงกันข้ามประเทศยิ่งเกิดการคดโกงทุจริตคอร์รัปชันมากขึ้น จนปัญหาคอร์รัปชันเสื่อมลงอย่างน่าตกใจ
พฤติกรรมที่ชี้ให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบการเมือง และการทำหน้าที่ของนักการเมืองที่พูดกันมาก ก็คือ
หนึ่ง ใช้อำนาจบริหารที่มาจากตำแหน่งทางการเมืองหาประโยชน์ โดยออกนโยบายหรือแทรกแซงระเบียบปฏิบัติของราชการ เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจให้กับตนเองและพวกพ้อง
สอง เมินเฉยต่อปัญหาคอร์รัปชัน ไม่แก้ไขปัญหา จนพฤติกรรมคอร์รัปชันรุนแรงขึ้นเหมือนเป็นระบบอาชญากรรมจัดตั้ง ที่มีการหมุนเวียนสับเปลี่ยนกันเข้ามาหาประโยชน์จากระบบดังกล่าว
สาม แทรกแซงการทำงานของภาครัฐ จนระบบการบังคับใช้กฎหมายของประเทศอ่อนแอ การเอาผิดลงโทษคนที่ทุจริตคอร์รัปชันตามกฎหมาย จึงไม่เป็นผลอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้ความเสี่ยงที่จะถูกลงโทษจากคอร์รัปชัน แทบไม่อยู่ในสายตานักการเมืองและพวกพ้อง
ศาสตราจารย์รัฐศาสตร์สองท่าน คือ Bruce Buens de Mesquita และ Alastair Smith ในหนังสือคู่มือเผด็จการ หรือ The Dictator's Handbook ได้อธิบายความล้มเหลวของระบบการเมืองในลักษณะนี้ว่า เป็นผลจากที่นักการเมืองต้องหาเงินให้ผู้สนับสนุนตน เพื่อการรักษาอำนาจทางการเมือง ทำให้คอร์รัปชันได้กลายมาเป็นเครื่องมือ ที่ใช้หล่อเลี้ยงระบบอุปถัมภ์ของนักการเมือง เพื่อรักษาสถานะและอำนาจทางการเมือง และเมื่อนักการเมืองทุกฝ่ายทำเหมือนๆ กัน ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในสังคมจึงรุนแรงขึ้นและบั่นทอนศักยภาพการเติบโตของประเทศ
ในกรณีของประเทศไทยขณะนี้ สถานการณ์คอร์รัปชันได้ตกต่ำลงมาก ล่าสุดภาพลักษณ์คอร์รัปชันได้ลดต่ำลงเทียบได้กับประเทศยากจนในแอฟริกาบางประเทศ เช่น การ์บอง และ ไนเจอร์ ขณะที่ดัชนีที่วัดความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อนักการเมืองในประเทศ (Public trust in politicians) ก็ลดลงมากเช่นกัน จากการประเมินความสามารถในการแข่งขัน ที่ทำโดย World Economic Forum ล่าสุด ดัชนีดังกล่าวอยู่ในอันดับ 127 จาก 148 ประเทศ ขณะเดียวกันประเทศที่เป็นคู่แข่งทางเศรษฐกิจของไทยอย่าง ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย ภาพลักษณ์ด้านคอร์รัปชันของประเทศเหล่านี้ดีกว่าไทย แม้ปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจของไทยพูดได้ว่าไม่แตกต่างกับประเทศเหล่านี้ รวมถึงประเทศที่อยู่อันดับที่สูงกว่าเราในดัชนีภาพลักษณ์คอร์รัปชัน
คำถามที่ตามมาก็คือ เมื่อความล้มเหลวของระบบการเมืองและการทำหน้าที่ของนักการเมืองไม่ตอบสนอง แต่กลับมีส่วนอย่างสำคัญทำให้ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงขึ้น เราจะแก้หรือปฏิรูประบบ หรือกลไกของบ้านเมืองอย่างไร เพื่อให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้น
ในเรื่องนี้ เพราะคอร์รัปชันเป็นเรื่องของพฤติกรรม และพฤติกรรมมนุษย์เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงได้ สิ่งที่ต้องเกิดขึ้น คือ คนในประเทศต้องร่วมกันสร้างภาวะแวดล้อมและแรงกดดันทางสังคมให้การเปลี่ยนพฤติกรรมเกิดขึ้น ซึ่งเป็นสิ่งที่สามารถทำให้เกิดขึ้นได้ เพราะในต่างประเทศมีตัวอย่างให้เห็นหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ไต้หวัน และ เกาหลีใต้ ที่สามารถแก้ไขหรือลดทอนปัญหาคอร์รัปชันได้ และจุดเริ่มต้นสำคัญที่ประเทศเหล่านี้มีและขณะนี้ประเทศไทยก็มีคือ การออกมาเรียกร้องของคนในประเทศ ให้มีการแก้ไขปัญหา
แต่การแก้ไขปัญหาจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าผู้ที่เข้ามาทำหน้าที่ทางการเมืองและมีหน้าที่โดยตรงที่ต้องแก้ไขปัญหาไม่ทำหน้าที่เมินเฉย ไม่จริงใจต่อการแก้ปัญหา ตัวอย่างเรื่องนี้ที่ชัดเจน ก็คือในประเทศที่การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้จริงจังและสามารถลดหรือ turnaround ปัญหาคอร์รัปชันได้ เงื่อนไขสำคัญที่สุด ก็คือ การเอาจริงในการแก้ไขปัญหาโดยนักการเมืองที่เป็นผู้บริหารสูงสุดของประเทศ ที่พร้อมเอาผิดกับนักการเมืองด้วยกัน โดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงของประเทศที่ทุจริตคอร์รัปชัน คือกล้าจับปลาตัวใหญ่ อย่างกรณีของสิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้ หรือแม้แต่ ฟิลิปปินส์ แต่ในกรณีของไทย เรายังไม่เห็นผู้นำประเทศเอาจริงกับการทุจริตคอร์รัปชัน คอร์รัปชันจึงเกิดหนักมือขึ้น จนทำลายภาพลักษณ์ และความน่าเชื่อถือของประเทศอย่างที่เป็นอยู่ขณะนี้
เมื่อเราไม่สามารถพึ่งระบบการเมืองและนักการเมือง ที่เข้ามาบริหารประเทศให้แก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน การผลักดันการแก้ไขปัญหาก็ต้องมาจากผู้ที่เสียหาย ผู้ที่ถูกกระทบจากการทุจริตคอร์รัปชัน นั่นก็คือ ต้องมาจากภาคธุรกิจและภาคประชาชนในประเทศ ในรูปของการเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจ เอกชน และประชาชน ร่วมกับภาคทางการ คือ นักการเมืองที่พร้อมจะแก้ปัญหา และข้าราชการประจำ ที่ต้องทำงานร่วมกันแก้ปัญหา อันนี้เป็นทางออกอีกทางหนึ่งที่จะช่วยประเทศได้
แนวคิดนี้มาจากการยอมรับความล้มเหลวของระบบการเมือง ที่มีข้อสมมุติว่านักการเมืองที่เข้ามาบริหารประเทศเข้ามาทำงานเพื่อส่วนรวม พร้อมผลักดันและกำกับดูแลการทำงานของภาคราชการเพื่อลดปัญหาคอร์รัปชัน แต่เมื่อไม่เป็นไปอย่างที่สมมุติ ผู้ที่จะต้องผลักดันการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องมาจากภาคเอกชน และ ประชาชน ที่เป็นผู้เสียหายจากปัญหาคอร์รัปชัน
การเข้ามามีบทบาทและผลักดันการแก้ไขดังกล่าว โดยภาคธุรกิจและประชาชนจะก้าวข้ามระบบอุปถัมภ์ของนักการเมืองไปสู่การแก้ไขปัญหา เพื่อหยุดความเสียหายต่อประเทศ นำไปสู่การสร้างประเทศ และสร้างอนาคตทางเศรษฐกิจใหม่ให้กับประเทศ
แต่การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้จะเกิดขึ้น ก็ต่อเมื่อประชาชนของประเทศร่วมกันผลักดันการเปลี่ยนแปลง เพื่ออนาคตของประเทศ และของคนรุ่นต่อไป