"พลานุภาพของสื่อสังคม" กับ สิ่งที่เรียกว่า "มวลมหาประชาชน"
กำลังอำนาจหรือพลานุภาพของสื่อสังคมในโลกเสมือนจริง (virtual world or cyber world)ได้สร้างปรากฏการณ์ให้เห็นแจ้งชัดได้จากจำนวนของผู้ออกมาชุมนุม
ในวิกฤตการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง “กลุ่มของ คุณสุเทพ เทือกสุบรรณ” และ ฟากฝ่ายของรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อย่างมากมาย เพราะการใช้การสื่อข้อความด้วยโปรแกรม ไลน์ (Line) การทวิตเตอร์ข้อความ (Twitter) หรือ การใช้สื่อสังคมอย่างเฟซบุ๊ค (Facebook) ทำให้ข่าวสารสามารถแพร่กระจายออกไปได้อย่างรวดเร็วและสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายทุกเพศทุกวัยด้วยเวลาอันรวดเร็วอย่างยิ่ง
ยิ่งกว่านั้นการนำภาพขึ้นแสดงบนสื่อออนไลน์ทั่วๆ ไป รวมทั้งเว็บไซต์ยูทูป (Youtube) ได้เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มีการนำข้อมูลข่าวสารต่างๆ เหล่านั้นไปเผยแพร่ได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพในการส่งผ่านข้อมูล แต่ปัญหาอยู่ที่การคัดกรองหรือการตรวจสอบข้อมูลข่าวสารอย่างละเอียดที่มักถูกละเลย ทำให้หลายต่อหลายกรณีมีการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารอันเป็นเท็จรวมทั้งเข้าข่ายในการหมิ่นประมาทดูหมิ่นละเมิดสิทธิผู้อื่นอยู่เนืองๆ กระทั่งเกือบจะกลายเป็นคดีความฟ้องร้องในชั้นศาลขึ้นมาอยู่หลายคดี
ในวันที่สื่อมีกลุ่มองค์กรตามสาขาวิชาชีพ มีการวางกรอบจริยธรรมจรรยาบรรณของสื่อขึ้นมา ซึ่งเปรียบได้กับสัญญาประชาคมสำหรับให้คนในสังคมได้รับรู้ถึงแนวทางเป้าหมายในการทำหน้าที่ของสื่อแต่ละแขนง สิ่งที่เป็นคำถามตามมาคือ การตรวจสอบกันเองของสื่อนั้นจะสร้างความมั่นใจให้สังคมได้อย่างไรว่าจะไม่มีการเอนเอียงหรือปกป้องกันเอง ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นสิ่งที่สื่อทุกแขนงควรตระหนัก เพราะปรัชญาที่แสดงถึงพลังอำนาจของสื่อได้ปรากฏให้เห็นดังภาษิตอังกฤษที่ว่า “คมปากกานั้นคมยิ่งกว่าคมดาบ (The pen is mightier than the sword)” แม้จะเป็นการพูดถึงการขีดเขียนซึ่งน่าจะเป็นงานของนักหนังสือพิมพ์ แต่เจตนาของภาษิตดังกล่าวสะท้อนให้รับรู้กันว่า การสื่อสารของสื่อไปยังผู้รับสารนั้นมีส่วนสำคัญต่อสังคมส่วนรวมและสามารถให้คุณและโทษกับผู้อื่นได้อย่างง่ายดาย
ดังนั้น การที่สื่อเรียกร้องพื้นที่ว่างทางสังคม (public sphere) เพื่อให้สื่อสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างเข้มแข็งไม่ให้ผู้ใดเข้าครอบงำสื่อ จึงเป็นสิ่งที่สื่อเองต้องพึงตระหนักเช่นเดียวกันว่า ความเข้มแข็งเหล่านี้จะมีขึ้นได้ด้วยกำลังความสามัคคีความตั้งใจจริงในการมุ่งมั่นสร้างความถูกต้องเป็นเยี่ยงอย่างให้กับคนในสังคมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์
ในสังคมนิติรัฐ หรือ สังคมที่ใช้กฎหมายที่คนในสังคมเห็นพ้องต้องกันสำหรับเป็นเครื่องมือในการปกครองขับเคลื่อนสังคม เป็นสังคมที่คนในสังคมเคารพเชื่อฟังและปฏิบัติตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด ทำให้เจ้าหน้าที่บ้านเมืองสามารถทำหน้าที่ของตนได้อย่างเต็มกำลังความสามารถ ในขณะที่ประชาชนและสังคมส่วนรวมสามารถที่จะมีช่องทางในการตรวจสอบการทำหน้าที่ขององค์กรทางสังคมต่างๆ และสื่อมวลชนในทุกแขนงได้อย่างถูกต้องเป็นธรรมและเสมอภาคกัน ซึ่งอาจมีผู้โต้แย้งว่าเป็นด้วยที่มาแห่งวัฒนธรรมประเพณีของชนในชาตินั้นๆ แต่ต้องเข้าใจว่า วัฒนธรรมประเพณี โดยนัยหนึ่ง คือ สิ่งที่มนุษย์ในสังคมร่วมกันสร้างสรรค์จรรโลงให้คงอยู่และถือปฏิบัติ จึงเสมือนแนวทางหรือมาตรฐานหนึ่งทางสังคมที่ผ่านกระบวนการศึกษาเรียนรู้และปรุงแต่งให้เข้ากับค่านิยมหรือรสนิยมของคนในสังคมที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ทำให้ในอนาคตทุกกลุ่มผลประโยชน์และฝักฝ่ายในสังคมไม่อาจมองข้าม พลานุภาพหรือกำลังอำนาจของ “สื่อสังคม” ได้อีกต่อไป