ความขัดแย้งทางการเมืองในส่วนกลาง : เสียงสะท้อนจากสามจังหวัดชายแดนใต้
เมื่อวันจันทร์ที่ 23 ธันวาคม 2556 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในเวทีพูดคุย สภาประชาชน : เลือกหรือไม่เลือก?
ที่ร้านหนังสือบูคู อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ซึ่งเป็นเวทีที่นักวิชาการในพื้นที่ นักกิจกรรมทางด้านสิทธิมนุษยชน นักจัดรายการวิทยุ รวมถึงนิสิตนักศึกษา ได้ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่มีต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน และได้มีการสะท้อนให้เห็นแง่มุมที่เชื่อมโยงกับสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ด้วย นอกเหนือจากความประทับใจในฐานะผู้ฟังมากกว่าที่จะเป็นผู้พูดในเวทีดังกล่าว ผู้เขียนเห็นว่ามีประเด็นสำคัญที่น่าสนใจอยากจะนำเสนอให้ผู้อ่านได้ร่วมรับฟังด้วย ดังนี้
ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือ ผู้ร่วมพูดคุยท่านหนึ่งตั้งประเด็นที่ผู้เขียนได้ยินแล้วรู้สึกประหวั่นพรั่นพรึง กล่าวคือ หากเรายอมรับว่าการกระทำของ กปปส. ซึ่งกลุ่มผู้ชุมนุมเองกล่าวอ้างว่าเป็นการต่อต้านรัฐ และมีการกระทำที่มีลักษณะเป็นการฝ่าฝืนบทบัญญัติของกฎหมายมากมาย มีการละเมิดสิทธิของบุคคลอื่นอย่างชัดแจ้ง เช่น การขัดขวางการใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลอื่นอันเป็นความพยายามในการล้มการเลือกตั้งที่จะเกิดมีขึ้นในวันที่ 2 กุมภาพันธ์ ศกหน้า เป็นสิ่งที่สังคมไทยยอมรับได้ หากเป็นดังนี้ กลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ก็อาจจะกล่าวอ้างได้เช่นกันว่าการกระทำต่อต้านรัฐของพวกเขาก็มีความชอบธรรมในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน การยอมรับว่าการชุมนุมต่อต้านรัฐของ กปปส. เป็นสิ่งที่ชอบธรรมยอมรับได้ของสังคมไทยย่อมส่งผลต่อความชอบธรรมในการต่อสู้ของกลุ่มผู้ก่อการและมีผลต่อสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ในลักษณะที่เราไม่อาจคาดหมายได้เลย
ประการต่อมาที่น่าสนใจและผู้เขียนเห็นว่าเป็นประเด็นที่สะท้อนให้เห็นถึงความเหมือนกันของปัญหาการเมืองปัจจุบันกับปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ก็คือ ผู้ร่วมสนทนาส่วนหนึ่งเห็นว่าไม่มีพื้นที่ทางการเมืองในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่เป็นพื้นที่กลางที่ประชาชนสามารถวางใจได้ในการเข้ามามีส่วนร่วมแสดงออกซึ่งความคิดเห็นทางการเมืองของตนเอง โดยเห็นว่ากระบวนการทางการเมืองในพื้นที่ในปัจจุบันไม่อาจสะท้อนให้เห็นเจตจำนงที่แท้จริงของคนในพื้นที่ได้ กล่าวคือ พื้นที่การเมืองถูกผูกขาดโดยรัฐไทยหรือไม่ก็โดยกลุ่มผู้ก่อการ โดยทั้งสองฝ่ายกล่าวอ้างว่าตนเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงเจตจำนงที่แท้จริงของประชาชนได้ โดยนัยนี้ การเปิดพื้นที่กลางทางการเมืองให้มากขึ้นจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่จะทำให้เราสามารถมองเห็นความต้องการที่แท้จริงของประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น
ทำนองเดียวกันกับความขัดแย้งทางการเมืองที่กำลังดำเนินอยู่นี้ กปปส. ได้เสนอแนวทางการปฏิรูปประเทศไทย และกล่าวอ้างว่าข้อเสนอของตนเป็นความต้องการของ “มวลมหาประชาชน” ตามที่ปรากฏตามหน้าข่าวแล้วนั้น หากข้อเสนอดังกล่าวประสบผลสำเร็จจริงย่อมมีผลเป็นการกีดกันผู้คนกลุ่มหนึ่งซึ่งเป็นสมาชิกของรัฐที่เท่าเทียมกันกับผู้ชุมนุมในนาม กปปส. ออกไปจากการมีส่วนร่วมในการกำหนดกติกาพื้นฐานร่วมกันอย่างสิ้นเชิง และการกำหนดแนวทางความเป็นไปของประเทศย่อมตกอยู่ในมือของกลุ่มคนเพียงหยิบมือเดียว แน่นอนว่าหากเป็นดังนี้ กลุ่มทางการเมืองในขั้วตรงข้ามกับ กปปส. ซึ่งรู้สึกว่าตนถูกข่มเหงอย่างไม่เป็นธรรมโดยคนจำนวนหนึ่งที่กล่าวอ้างว่าเสียงในทางการเมืองของตนมีคุณภาพกว่า ก็มีแนวโน้มที่จะลุกขึ้นสู้ และหากพวกเขาจะคิดแบบเดียวกับที่กลุ่มผู้ก่อการในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ “มิคสัญญี” ก็คงไม่ใกล้ไม่ไกลจากความเป็นจริงที่จะเกิดขึ้นในสังคมไทยเท่าใดนัก
ทางออกจากเส้นทางตีบตันที่อาจนำไปสู่มิคสัญญีได้ถูกแสดงให้เห็นแล้วโดยผู้ที่เข้าร่วมแลกเปลี่ยนพูดคุย กล่าวคือ เราต้องเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้มากที่สุด และระบอบการปกครองที่เปิดพื้นที่ให้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกันก็คือ ประชาธิปไตย ซึ่งเป็นการปกครองที่ยอมรับลักษณะพื้นฐานสำคัญของความเป็นมนุษย์ 2 ประการคือ ประการแรกคือการยอมรับว่าทุกคนเท่ากันในทางการเมือง ดังนั้น ทุกคนจึงมีสิทธิมีส่วนร่วมในการกำหนดความเป็นไปของสังคมอย่างเท่าเทียมกัน และสองคือการยอมรับว่ามนุษย์อาจตัดสินใจผิดพลาดได้ อันจะทำให้การตัดสินใจในทางประชาธิปไตยสามารถที่จะมีกระบวนการตัดสินใจใหม่ได้เสมอ และนี่คือลักษณะความเป็นมนุษย์ของประชาธิปไตยที่เราไม่อาจพบได้ในการปกครองรูปแบบอื่นและเป็นสิ่งที่ผู้เขียนเองไม่อาจปฏิเสธได้เลย
ถึงตรงนี้ผู้เขียนใคร่ขอแสดงทัศนะส่วนตัวเพิ่มเติม โดยขอยืนยันว่าเฉพาะแต่หนทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่เราจะแก้ไขข้อขัดแย้งที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความขัดแย้งทางการเมืองในปัจจุบัน หรือปัญหาในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เฉพาะแต่หนทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้กระบวนการสันติภาพในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่ได้เริ่มขึ้นแล้วสามารถดำเนินต่อไปได้ และเฉพาะแต่หนทางประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะทำให้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้มีที่ยืนในกระแสการปฏิรูปประเทศไทยที่กำลังดำเนินไป
และสิ่งสุดท้ายที่เราต้องยืนยันในวิกฤติที่เกิดขึ้นก็คือ สังคมไทยในปัจจุบันต้องไม่ยินยอมให้บุคคลหรือกลุ่มบุคคลใดที่จะกล่าวอ้างผูกขาดการแสดงเจตจำนงของประชาชนคนไทยได้อีกแล้ว นอกจากประชาชนคนไทยทั้งหมดที่จะร่วมกันกำหนดตนเองโดยการแสดงเจตจำนงทางการเมืองที่แสดงออกผ่านการเลือกตั้ง อันเป็นวิธีเดียวที่จะนำไปสู่ทางออกของปัญหาวิกฤตการเมืองได้อย่างแท้จริงและยั่งยืน