มวลมหาประชาชนกับ สงครามข่าวสารนอกประเทศ

มวลมหาประชาชนกับ สงครามข่าวสารนอกประเทศ

คนไทยเป็นห่วงการรายงานข่าว และความเห็นของสื่อต่างประเทศมากกว่าคนอื่น ๆ อีกหลายประเทศ

จะด้วยเพราะความ “เห่อฝรั่ง” หรือเพราะเราไม่เคยเป็นเมืองขึ้น ทำให้มีความตื่นเต้นกับ “ของนอก” มากกว่าคนชาติอื่นในแถบนี้

พาดหัวหนังสือพิมพ์ว่า “สื่อนอก” ว่าอย่างนั้นว่าอย่างนี้มีให้เห็นเป็นประจำ ทั้ง ๆ ที่บางครั้งเป็นเพียงความเห็นของสื่อเดียวหรือนักข่าวต่างชาติคนเดียวเท่านั้น

แต่สื่อไทยก็เห็นว่าสิ่งที่ “สื่อนอก” รายงานเป็นข่าวได้บ่อย ๆ เช่นกัน

ที่จริงสำนักข่าวต่างประเทศก็ทำหน้าที่รายงานข่าวเหมือนสื่อไทยนี่แหละ ไม่ได้แตกต่างอะไรกันมาก มีมุมมองและพาดหัวที่ต่างกันออกไปแล้วแต่ว่านักข่าวคนนั้น ๆ จะรายงานจากแง่มุมไหน

จึงไม่ควรจะต้องตกตื่นหรือตื่นเต้นกับการรายงานข่าวต่างประเทศเกินเหตุ ต้องถือว่าเขาก็คือนักข่าวคนหนึ่ง ไม่ใช่ว่าพอเป็นนักข่าวฝรั่งหรือจีนหรือญี่ปุ่น แล้วจะทำให้ข่าวชิ้นนั้น ๆ มีความแตกต่างไปจากนักข่าวท้องถิ่น

ยิ่งในโลก social media วันนี้ทุกข่าวมีอีกมุมหนึ่งเสมอ ไม่จำเป็นที่เราจะต้องเดือดดาลหรือร้อนรนกับข่าวที่เราไม่เห็นด้วย หรือเห็นว่าเขามองจากมุมที่ไม่ใช่มุมของเรา

ฝ่ายรัฐบาลเชิญทูตประเทศต่าง ๆ มาบรรยายสรุปในประเด็นของตน นายกฯให้สัมภาษณ์สื่อต่างประเทศบ่อยและถี่ตอกย้ำว่า ยุบสภาแล้วเลือกตั้งใหม่เป็นแนวทางประชาธิปไตย

ฝ่ายต่อต้านออกข่าวเป็นภาษาอังกฤษบนเวทีปราศรัยเกือบทุกคืน ยืนยันว่าต้องปฏิรูปก่อนเลือกตั้งเพราะ “ระบอบทักษิณ” เป็นภัยต่อประเทศชาติ

นักข่าวตะวันตกบางคนใส่แว่นสีก็จะมองจากมุมของเขา มีค่านิยมแบบของเขา บางคนมีอคติส่วนตัว แม้บทนำของ Washington Post ล่าสุดที่เข้าข้างรัฐบาลยิ่งลักษณ์ และมองว่าผู้ประท้วงเป็นม็อบข้างถนน, ก็เป็นวิธีคิดของคนนั่งเขียนบทนำที่วอชิงตัน ไม่ได้สัมผัสกับความเป็นไปที่แท้จริงของการเมืองไทย, ความเห็นก็จะออกมาในแนวที่ไม่น่าประหลาดใจ นั่นคือเขามองเห็นการเลือกตั้งเป็นประชาธิปไตย ใครขอเลื่อนเลือกตั้งหรือตั้งคำถามเกี่ยวกับการหย่อนบัตรในคูหาเลือกตั้งก็จะถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านประชาธิปไตยทันที

มันเป็นวิธีคิดในกรอบเก่า ๆ เดิม ๆ ของตะวันตกในหลายอาชีพ ไม่จำกัดเฉพาะในแวดวงสื่อมวลชนเท่านั้น

ยิ่งข้อเสนอเรื่อง “สภาประชาชน” ของ กปปส.ไม่ชัดเจน ไม่มีรายละเลียด ไม่สะท้อนถึงกระบวนการที่จะกลับไปสู่การเลือกตั้ง, ก็ยิ่งทำให้คนทำข่าวและเขียนความเห็นทางตะวันตกสรุปเอาง่าย ๆ ว่ากลุ่มต่อต้านต้องการตั้งกลุ่มคนของตัวเองมาปกครองประเทศ และเขาจะเน้นใช้คำว่า unelected “people’s council” กับ anti-democratic ตลอดเวลา

คนที่ไม่สนใจรายละเอียดของขบวนการประชาชน และการตื่นตัวทางการเมืองของคนไทยที่ออกมากลางถนนเป็นจำนวนมากกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา ก็จะไม่เข้าใจว่าเกิดอะไรขึ้นในเมืองไทย จึงสรุปเอาเองง่าย ๆ ว่านี่เป็นการต่อสู้ระหว่างรัฐบาลที่ได้รับการเลือกตั้งมา กับกลุ่มประท้วงที่ไม่ต้องการให้มีการเลือกตั้ง

ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ผิดในเนื้อหาและบริบทที่สำคัญ

“มวลมหาประชาชน” ที่กำลังเรียกร้องให้มีการ “ปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศ” จึงจะต้องมีกลไกถาวรและมืออาชีพที่จะต้องสร้างความเข้าใจให้กับประชาคมโลกอย่างต่อเนื่องและด้วยคำอธิบายที่ชัดเจนและสมเหตุสมผล ประกอบกับมี Road Map ที่ชัดเจนว่าผู้เรียกร้องความเปลี่ยนแปลงจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร

ขบวนการปฏิรูปของประเทศไทย จะต้องเรียนรู้จากการสร้างความเข้าใจ และเสริมเติมเครือข่ายในเวทีระหว่างประเทศในลักษณะ Friends of Thailand เช่นเดียวกับกลุ่มต่อสู้กับเผด็จการ และอำนาจการเมืองที่ผิดทำนองคลองธรรมระดับสากลเช่นอองซานซูจี, องค์ทะไล ลามะ, Amnesty International, Green Peace เป็นต้น

การต่อสู้กับทุนสามานย์, ประชานิยมเพื่อประโยชน์การเมืองส่วนตน, คอร์รัปชัน, ผลประโยชน์ทับซ้อน, และการเลือกตั้งที่ Free and Fair เป็นมาตรฐานสากลที่ขบวนการ “มวลมหาประชาชน” กำลังเรียกร้องซึ่งหากได้รับการสื่อสารอย่างชัดเจน ต่อเนื่อง และเข้าใจง่ายก็จะสามารถสร้างความเข้าใจในประชาคมโลกได้อย่างแน่นอน