เพลงปลุกใจ...เพลงปลุกไทย

เพลงปลุกใจ...เพลงปลุกไทย

การชุมนุมเพื่อต่อต้านหรือขับไล่รัฐบาล ครั้งที่ผ่านๆมา มีการใช้อุปกรณ์เพิ่มสีสันอย่างเช่น มือตบ หรือ ตีนตบ

ส่วนครั้งนี้เป็นการใช้ นกหวีด ซึ่งเบากว่าและพกพาสะดวกกว่า แต่ก็ส่งเสียงดังและให้อารมณ์คึกคักไม่น้อยไปกว่ากัน

นอกจากอุปกรณ์เสริมประเภทต่างๆแล้ว องค์ประกอบสำคัญอีกอย่างหนึ่ง ที่มักไม่เคยขาดไปจากการชุมนุมแต่ละครั้งเลย ก็คือ “เพลงปลุกใจ” อย่างเช่นครั้งนี้ กปปส. ก็ได้นำ เพลง “สู้ไม่ถอย” มาใช้ในการปลุกขวัญกำลังใจ และสร้างความคึกคักให้แก่ผู้ชุมนุมตลอดมา ทั้งในระหว่างการชุมนุมตามเวทีต่างๆ หรือระหว่างการเคลื่อนขบวน ดังนั้นแม้คนที่ไม่ได้ร่วมชุมนุมที่เวที ก็มีโอกาสได้ฟังเพลงนี้บ่อยครั้งเช่นกัน

ต้องยอมรับว่า การใช้ “เพลง” ที่มีเนื้อหากินใจ มีทำนองไพเราะ และมีจังหวะดนตรีที่เหมาะสมนั้น มีผลต่อความรู้สึกของบุคคลหรือกลุ่มบุคคลเป็นอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ โรงเรียน มหาวิทยาลัย รวมทั้งองค์กรธุรกิจ และหน่วยงานต่างๆของรัฐ จึงมี เพลงสถาบัน เพื่อใช้ขับร้องร่วมกัน เป็นการขับเคลื่อนอารมณ์แห่งความรัก ความผูกพัน ให้แก่หมู่สมาชิกของสถาบันนั้นๆ

เมื่อผู้คนจำนวนมาก ออกมาชุมนุมร่วมกันอย่างยืดเยื้อ ยาวนานหลายเดือน จนบางครั้งอาจเหนื่อยล้า หรือท้อแท้ ก็ต้องมีการปลุกเร้าอารมณ์ให้เป็นหนึ่งเดียวกัน คึกคัก และสร้างกำลังใจ ให้เข้มแข็งเพื่อจะสู้ต่อไป “เพลงปลุกใจ” จึงเข้ามามีบทบาทสำคัญ นี่เป็นเรื่องธรรมดา ไม่มีอะไรน่าประหลาดใจ

นอกจากจะมีการคัดเลือกเพลงปลุกใจ ที่เหมาะสม เพื่อนำมาใช้เป็น “เพลงหลัก” ในการชุมนุมแล้ว ระยะหลังๆ ผู้ชุมนุมก็มักจะมี “เพลงเฉพาะกิจ” ที่ร้องเพื่อความสนุกสนาน และอาจมีเนื้อหาเสียดสีรัฐบาล หรือบุคคลบางคนในรัฐบาล ซึ่งก็สุดแต่ผู้ชุมนุมจะสรรหามาดัดแปลง หรือแต่งขึ้นมาใหม่ ถือว่าเป็นธรรมชาติอีกอย่างหนึ่งของการสร้างสีสันในหมู่ผู้ชุมนุมโดยทั่วไป

ความจริง นอกจากการใช้ เพลง เป็นสื่อสร้างอารมณ์แล้ว บทกวี ก็ยังเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่ง ของการชุมนุมเช่นกัน การเรียงร้อยถ้อยคำสั้นๆแต่คมคายและมีความหมายล้ำลึก ไม่ว่าจะเป็นลักษณะกลอนแปด หรือ กาพย์ยานี 11 ก็ตาม เมื่อนำมาอ่านบนเวที ก็สามารถสะกดใจผู้ชุมนุมได้ไม่แพ้เพลงปลุกใจ

สรุปว่าในการชุมนุมทุกครั้ง ศิลปินหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นนักแต่งเพลง นักร้อง หรือกวี ต่างมีบทบาทสำคัญไม่น้อยไปกว่าบุคคลอาชีพอื่น ครั้งล่าสุดนี้ จิตรกรจำนวนหนึ่งก็ออกมาวาดภาพเพื่อบันทึกเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ของการต่อสู้ และมอบภาพให้ประมูลเพื่อช่วยสนับสนุนผู้ชุมนุม เป็นต้น

ความจริง เพลงปลุกใจ ไม่ได้ถูกนำมาใช้เฉพาะเวลาที่มีการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลเท่านั้น แต่การ สนับสนุนรัฐบาล ก็ใช้เพลงปลุกใจ ประกอบด้วยเช่นกัน เช่นกรณีประชาชนทั้งประเทศสนับสนุนรัฐบาล ในการต่อสู้คดี เขาพระวิหาร เมื่อกว่าห้าสิบปีก่อน ก็มีเพลงที่ร้องโดยสุรพล สมบัติเจริญ และ โกมินทร์ นิลวงศ์ หรือในช่วงของการต่อสู้ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ ที่ประชาชนมากมายพากันร้องเพลง “หนักแผ่นดิน” เป็นต้น

ทั้งบทเพลง และบทกวี ต่างมีบทบาทสำคัญในการปลุกเร้าความรู้สึกของผู้ชุมนุม ให้ติดตรึงอยู่กับอุดมการณ์ และสร้างอารมณ์ร่วมเพื่อโยงใยงผู้ชุมนุมไว้ด้วยกัน แต่เพลงปลุกใจนั้น ใช่ว่าจะต้องมีจังหวะที่รุกเร้าเพื่อสร้างความฮึกเหิม เสมอไป เพลงช้าๆแต่ความหมายกินใจ อย่างเช่นบทเพลงพระราชนิพนธ์ “ความฝันอันสูงสุด” ก็สามารถสร้างจินตนาการและอารมณ์ร่วมได้สูงสุด หรือ ท่อนหนึ่งของบทเพลงพระราชนิพนธ์ “เราสู้” ที่เรียงร้อยไว้อย่างไพเราะว่า “เกียรติศักดิ์ของเรา เราเชิดชู เราสู้ไม่ถอยจนก้าวเดียว” ก็ปลุกหัวใจทหารหาญของชาติ ให้รักษาแผ่นดินไทยไว้ด้วยชีวิต

รวมทั้งเพลง “สุดแผ่นดิน” ท่อนที่ว่า “เราถอยไปไม่ได้อีกแล้ว ผืนดินสิ้นแนวทะเลกว้างใหญ่” ผมฟังครั้งใด ก็ได้ความรู้สึกที่ หวงแหนทุกตารางนิ้วของแผ่นดินไทย และเกิดอารมณ์รักชาติ ที่ฝังลึกเข้าไปถึงก้นบึ้งของหัวใจจริงๆ เพราะถ้าถอยไปอีก ก็ตกทะเลแล้วนี่ครับ

เพลงปลุกใจ นั้น มีทุกชาติ ทุกภาษา และผมคิดว่าเพลงปลุกใจง่ายๆ ที่ทุกคนเคยร้องกันมาตั้งแต่เด็กก็คือ เพลงเชียร์กีฬา นั่นเอง ซึ่งเมื่อนำมาร้องด้วยกันครั้งใด ก็จะก่อให้เกิดความรักสามัคคี สร้างพลังและขวัญกำลังใจให้แก่ทั้งคนเชียร์และนักกีฬา เพลงปลุกใจในสถานการณ์แบบนี้ เราร้องแล้วรู้สึกดี ยิ้มแย้มแจ่มใส

แต่ในสถานการณ์ที่ขัดแย้ง และจำเป็นต้องใช้เพลงปลุกใจ เป็นองค์ประกอบ อย่างที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ ซึ่งเริ่มมีการสูญเสียชีวิตและเลือดเนื้อบ้างแล้ว แม้จะเป็นเพลงปลุกใจ ที่ฟังแล้วคึกคัก แต่ด้วยบรรยากาศเช่นนี้ การที่จะร้องเพลงปลุกใจด้วยรอยยิ้ม หรือได้อารมณ์เดียวกับเพลงรักชาติ หรือเพลงปลุกใจนักกีฬา คงจะทำได้ลำบากครับ

เหตุการณ์บ้านเมืองที่ตึงเครียดเพิ่มขึ้นทุกวัน ท่ามกลาง “เพลงปลุกใจ” ที่คงจะดังถี่ขึ้นเรื่อยๆนั้น ทำให้ผมนึกถึง “เพลงปลุกไทย” ซึ่งผมแอบร้องอยู่ในใจ มาหลายวันแล้ว เพลงนี้เป็นเพลงที่หลวงวิจิตรวาทการ ได้แต่งขึ้นเมื่อเกือบ 70 ปีก่อน มีเนื้อร้องเริ่มต้นว่า “อธิษฐานเอย สองมือจับพาน ประดับพวงพุทธชาด......” ตอนกลางว่า “อย่ามีใครคิดร้าย มุ่งทำลายชาติไทย.... และตอนท้ายว่า “... ขอให้ช่วยกันสมาน เพื่อนไทยทั้งผอง มุ่งสามัคคี เหมือนพี่เหมือนน้อง....รักกันทั่วทุกคน”

เพลงนี้มีชื่อว่า “อธิษฐาน” และวันนี้ซึ่งยังไม่มีใครรู้ว่าสถานการณ์บ้านเมือง จะยุติอย่างรุนแรงหรือไม่นั้น ผมก็ขอเชิญชวนพี่น้องชาวไทยทั้งหลายโปรด..... “อธิษฐาน” ร่วมกันครับ