ปฏิรูปบทลงโทษผู้ทุจริตคอร์รัปชัน

ปฏิรูปบทลงโทษผู้ทุจริตคอร์รัปชัน

การทุจริตคอร์รัปชันเกิดขึ้นได้ด้วยปัจจัยการมีส่วนร่วมของ นักการเมือง ข้าราชการ และนักธุรกิจเอกชน รวมสามฝ่าย

หากขาดฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งการทุจริตย่อมทำให้สำเร็จได้ยาก ทั้งหมดนี้นับว่าสร้างความเสียหายให้กับประเทศชาติ นอกจากทำให้สูญเสียงบประมาณไปกับการทุจริตแล้ว ยังให้เอกชนที่มีส่วนร่วมหัวเราะเยาะจากการที่สามารถฟ้องร้องภาครัฐเรียกค่าเสียหายจากการสูญเสียโอกาสทางธุรกิจเมื่อโครงการถูกระงับอีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นยังก่อให้เกิดความเสียหายอื่นๆ อีกดังนี้

1. บริษัทเอกชนที่เข้าประมูลงานจำต้องจ่ายเงินใต้โต๊ะ หรือติดสินบนเพื่อให้ได้มาซึ่งงานจากภาครัฐ รายได้ของนักการเมืองและข้าราชการที่ขัดต่อศีลธรรมกำลังกลายเป็นสิ่งปกติที่สังคมยอมรับได้

2. บริษัทเอกชนไม่อาจได้รับความเป็นธรรม หากปฏิเสธไม่จ่ายเงินสินบน ดังนั้น การชนะงานประมูลจึงเกิดจากจำนวนเงินที่ให้สินบนมากกว่าความสามารถในการแข่งขันเหนือเอกชนรายอื่น ตัดโอกาสเอกชนที่เก่งกว่าไม่ให้ได้รับงาน

3. ผลงานของบริษัทที่ชนะการประมูลได้งานไม่จำเป็นต้องทำงานให้ดี เพราะได้จ่ายเงินให้นักการเมืองและข้าราชการที่เกี่ยวข้องเรียบร้อยแล้ว เวลาตรวจรับงานจึงมีการผ่อนผันรับงานหรือสินค้าที่ไม่มีคุณภาพได้ เป็นการร่วมมือกันทุจริตอย่างเป็นขบวนการ

4. การทุจริตคอร์รัปชันขยายวงกว้างออกไป และกลายเป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่อาจยกเลิกได้เพราะได้กลายเป็นความเคยชิน ข้าราชการและนักการเมืองมองรายได้จากการทุจริตเป็นรายได้ที่พึงหวังได้จากตำแหน่งหน้าที่ หากใครจะห้ามไม่ให้มีย่อมรับไม่ได้

5. จำนวนเงินสินบนที่นักการเมืองและข้าราชการเรียกรับนับวันจะมีจำนวนมากขึ้น จากการศึกษาพบว่า เดิมสิบกว่าปีก่อนเคยอยู่ในระดับ 5 - 10 เปอร์เซ็นต์ ปัจจุบันได้มีมากถึงร้อยละ 25-45 เฉลี่ยที่ร้อยละ 30 และนับวันจะมากขึ้นทุกปี

6. หากปล่อยให้เป็นไปในลักษณะนี้ ประเทศไทยจะล้มละลายทางเศรษฐกิจ ประชาชนคนไทยส่วนใหญ่จะยากจนลงกว่าที่เป็นอยู่ ประเทศชาติที่เคยร่ำรวยจะยากจนลง หมดความสง่างามจะกลายเป็นประเทศที่ต่างชาติล้วนดูถูกดูหมิ่น

7. ดัชนีคอร์รัปชันของไทยในสายตานานาประเทศ CPI (Corruption Perception Index) นับวันจะแย่ลงไปเรื่อย ๆ หากไม่มีกฎหมายป้องกันการทุจริต ปีนี้ไทยถูกพบว่านักการเมืองและข้าราชการโกงกินมากขึ้นกว่าปีก่อน ๆ

กฎหมายปัจจุบันเป็นเพียงระเบียบสำนักนายกฯว่าด้วยการพัสดุ 2535 การกำหนดโทษของผู้กระทำการทุจริตจึงมีแต่โทษทางวินัยนับว่าเบามาก เช่น ลดขั้น ลดเงินเดือน ย้ายออกจากหน่วยงานที่มีปัญหา หากโทษหนักหน่อยก็อาจจะให้ออกจากราชการโดยไม่มีเงินบำนาญ ส่วนโทษจำคุกไม่มี ส่วนพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ 2542 นั้นแม้กำหนดโทษไว้หนักกว่า สูงสุดอาจจำคุกนานถึง 20 ปี (มีตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป) แต่ในความผิดเดียวกันมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้มีสองฉบับ โอกาสในการกำหนดโทษที่เบากว่าโดยอาศัยระเบียบพัสดุฯ จึงมีสูงกว่าการไปใช้ พ.ร.บ. ความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐ 2542 นักธุรกิจเอกชนที่ทำความผิดมักจะไม่ได้รับโทษเนื่องจากปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย นักการเมืองแม้มีโทษจำคุกบ้างก็ปรากฏนักการเมืองส่วนใหญ่เอาเงินที่โกงบ้านเมืองมาได้นำไปเสวยสุขในกัมพูชาบ้าง ประเทศอื่นๆ บ้าง ไม่อาจนำมาทำโทษได้ตามกฎหมาย การพัฒนากฎหมายให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการป้องกันการทุจริต โดยให้โทษมีความรุนแรงกว่าที่เป็นอยู่ และการจำกัดบริเวณไม่ให้หนีออกนอกประเทศอย่างเฉียบขาดจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อให้ผู้กระทำผิดต้องรับโทษตามกฎหมาย

ตามสภาพการณ์ปัจจุบันเป็นที่ยอมรับว่านิติบุคคลสามารถที่จะถูกลงโทษได้ แต่ส่วนของการกำหนดโทษหรือการบังคับใช้โทษทางอาญาต่อนิติบุคคลยังคงมีปัญหา เนื่องจากยังไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยชัดแจ้ง โดยเฉพาะความผิดอันเกิดจากการสมยอมในการเสนอราคา ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ เนื่องจากโทษทางอาญาถือเป็นผลร้ายที่สำคัญของสภาพบังคับทางอาญา ซึ่งการลงโทษนิติบุคคลเมื่อพิจารณาถึงโทษที่บัญญัติไว้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 โดยกำหนดโทษสำหรับลงโทษแก่ผู้กระทำความผิดไว้ ได้แก่ ประหารชีวิต จำคุก กักขัง ปรับและริบทรัพย์สินไม่เกินสี่แสนบาท ซึ่งจะเห็นได้ว่า โทษที่บัญญัติไว้ดังกล่าวมุ่งหมายที่จะลงโทษตัวบุคคลธรรมดามากกว่าลงโทษนิติบุคคล

สำหรับความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลในประเทศไทย นิติบุคคลไม่สามารถทำผิดและรับโทษทางอาญาได้ เว้นแต่ มีกฎหมายบัญญัติไว้ชัดเจนหรือโดยปริยายว่าให้นิติบุคคลรับผิดทางอาญาในความผิดนั้นๆ แต่เมื่อพิจารณาหลักการเรื่องความรับผิดทางอาญาของนิติบุคคลของประเทศไทย ยังขาดความชัดเจนในบทบัญญัติของกฎหมาย โดยเฉพาะความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นตัวแทนของนิติบุคคลเข้ามาเสนอราคากับหน่วยงานของรัฐ โดยมิได้มีการกำหนดโทษที่จะลงแก่นิติบุคคลอันส่งผลถึงการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว

นอกจากนี้ความผิดอันเกิดจากการสมยอมในการเสนอราคาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ผู้ที่ร่วมกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ หรือที่เรียกว่า “ฮั้ว” ประกอบด้วยบุคคลหลายฝ่ายโยงใยร่วมกันกระทำความผิด แบ่งเป็นกลุ่มผลประโยชน์ โดยการฉ้อโกงรัฐ ทำให้รัฐได้รับความเสียหายทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างร้ายแรง ถือได้ว่าเป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งอยากแก่การป้องกันและปราบปราม เพราะผู้ประกอบอาชญากรรมเป็นผู้มีอำนาจทางการเมืองมีตำแหน่งหน้าที่ มีความรู้ด้านการทุจริตดี มีฐานะทางเศรษฐกิจดี ร่วมกันกระทำความผิดเป็นขบวนการหรือเป็นองค์กรเครือข่ายโดยอาศัยความไว้วางใจจากสังคม

ดังนั้น จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า หากการลงโทษทางอาญาสำหรับนิติบุคคลในความผิดที่นิติบุคคลกระทำความผิดหรือมีส่วนร่วมในการกระทำความผิดในการสมยอมการเสนอราคาได้ถูกกำหนดไว้โดยชัดเจนในตัวบทกฎหมายและโทษนั้นมีความเหมาะสมกับผู้กระทำความผิดที่เป็นนิติบุคคลโดยคำนึงถึงสิ่งที่นิติบุคคลนั้นๆ หวงแหนเป็นหลัก

สำหรับนักธุรกิจที่บริหารงานบริษัทเอกชนที่มีส่วนร่วมในการกระทำผิดย่อมมีความผิดไม่น้อยกว่านักการเมืองและข้าราชการ จึงจำเป็นต้องมีความผิดที่ต้องรับโทษหนักเช่นเดียวกัน หากมีการกำหนดโทษภาคเอกชนจะทำให้ภาคเอกชนปฏิเสธการร่วมมือทุจริต ปฏิเสธการให้สินบนได้ เพราะอาจเกรงกลัวว่า หากถูกจับได้จะได้รับโทษ การพิจารณาระดับการทำโทษผู้บริหารบริษัทเอกชน นักการเมือง และข้าราชการที่ร่วมกันทุจริตควรพิจารณาด้วยการเปรียบเทียบโทษที่เกิดกับผู้ค้ายาเสพติด ว่าพ่อค้ายาเสพติดให้โทษต่อคนเสพจำนวนมาก ทำลายเศรษฐกิจของประเทศชาติ เปรียบเสมือนการให้โทษแก่คนหมู่มาก

แต่การทุจริตคอร์รัปชันนั้น เป็นพฤติกรรมของโจรที่เปรียบเสมือนการปล้นชาติ ปล้นบ้านคนไทยทุกๆ คนพร้อมๆ กัน เป็นการทำให้ตนเองและผู้ร่วมกันทุจริตร่ำรวย แต่ทำให้ประเทศชาติยากจนลง ทำลายเศรษฐกิจของประเทศยิ่งกว่าพ่อค้ายาเสพติด ทำให้ประเทศชาติมีหนี้สินมากขึ้น ทำให้ไทยเป็นที่ดูหมิ่นของนานาประเทศว่าปกครองโดยกลุ่มโจร ไม่อาจพัฒนาประเทศได้ทันประเทศอื่นๆ ความผิดจึงต้องหนักหนาสาหัสกว่าพ่อค้ายาเสพติด โทษที่ควรกำหนดจึงควรพิจารณาให้เป็นการยึดทรัพย์ทั้งหมดที่มีปรากฏในชื่อเอกชน ข้าราชการ และนักการเมืองที่กระทำผิด หรือที่มีในชื่อของสมาชิกคนใดคนหนึ่งของครอบครัวของคนเหล่านั้นให้ตกเป็นของรัฐทั้งหมด และโทษจำคุกตลอดชีวิตก็ควรมีเช่นเดียวกันกับพ่อค้ายาเสพติด ผลของการลงโทษย่อมสามารถยับยั้งอาชญากรรมทางเศรษฐกิจหรืออาชญากรรมที่เกิดจากนิติบุคคลโดยเฉพาะการฮั้วประมูลได้ดีมากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและความมั่นคงของประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย การลงโทษอาจมีโทษปรับที่รุนแรง ห้ามประกอบกิจการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับความผิดที่ได้กระทำ ฯลฯ

ดังนั้น หากจะป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน จำเป็นต้องกำหนดโทษทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งข้าราชการ นักการเมือง และนักธุรกิจเอกชนอย่างรุนแรง จึงจะมีประสิทธิผลอย่างแท้จริง และหากโทษมีความหนักหนาสาหัสมากพอ การเมืองไทยจะไม่มีนักการเมืองที่ทุจริตมากอย่างทุกวันนี้ เพราะจะมีหลายรายที่ต้องถูกยึดทรัพย์ทั้งหมด และต้องไปอยู่ในคุก จะมีนักการเมืองดีๆ ที่มีความรู้และมีความหวังดีต่อประเทศชาติ ยอมเสียสละเพื่อชาติเข้ามาบริหารประเทศ ประเทศไทยจะได้มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง ไม่ใช่โจราธิปไตย (kleptocracy) อย่างที่เป็นมานานหลายสิบปี