ความก้าวหน้าด้านพลังงานทดแทนของอียูสู่บทเรียนของไทย

อียูมีความก้าวหน้าและเป็นผู้นำของโลกในสาขาพลังงานทดแทน โดยสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนมากถึง 44% ของที่ผลิตได้ทั่วโลก
และสร้างงานถึง 1.2 ล้านคน โดยผู้บริโภคอียูใช้พลังงานทดแทนเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทุกๆ ปี เมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา Eurostat ชี้ให้เห็นว่า ในปี 2555 อียูมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทน 14.1% ของพลังงานที่ใช้ทั้งหมด เมื่อเทียบในช่วงเวลาเดียวกัน สัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนของไทยน้อยกว่าของอียูถึงครึ่งหนึ่ง หรือ 6.7%
ในอียู มีโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนขนาดใหญ่ลำดับต้นๆ ของโลก ขณะนี้ โรงผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพที่ใหญ่ที่สุดของโลกอยู่ระหว่างการก่อสร้างในฟินแลนด์ โดยบริษัท Metso และโรงผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนแพร่หลายอย่างมากในอียู ยกตัวอย่างในเยอรมนี มีโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มากถึง 8,000 โรง
ความก้าวหน้าดังกล่าวน่าจะมีเหตุผลสำคัญหนึ่งมาจากนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนของอียู เมื่อเดือนมีนาคม 2550 ผู้นำประเทศสมาชิกอียูได้ประกาศให้อียูบรรลุเป้าหมายด้านการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและด้านพลังงาน หรือที่เรียกว่า เป้าหมาย 20-20-20 ภายในปี 2563 หรือ ค.ศ. 2020 ได้แก่ (1) ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 20% จากปี 2533 (2) เพิ่มการใช้พลังงานทดแทนให้เป็นสัดส่วน 20% ของปริมาณการใช้พลังงานทั้งหมด และ (3) ปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงานขึ้น 20%
เพื่อสร้างความเข้าใจถึงองค์ความรู้ในการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการบริหารจัดการด้านพลังงานทดแทนของอียู และการดำเนินงานของภาคเอกชนในอียูและความสนับสนุนจากภาครัฐเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย 20-20-20 รวมทั้งเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานของอียู เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2557 นายนพปฎล คุณวิบูลย์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงบรัสเซลส์ และหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป (อียู) ได้นำคณะทีมประเทศไทย หรือ หน่วยงานราชการทุกแห่งในกรุงบรัสเซลส์ ซึ่งทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการไปดูงานด้านพลังงานทดแทนที่บริษัท NPG Energy เมือง Tongeren ประเทศเบลเยียม
นาย Andre Jurres ซึ่งเป็น 1 ใน 3 ของผู้ก่อตั้งและประธานกรรมการบริหารบริษัท ได้นำคณะเยี่ยมชมทั้งที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ “Isola Belgium Tongeren” และที่โรงผลิตกระแสไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ “Biopower Tongeren” ซึ่งถือเป็นธุรกิจสำคัญ 2 สาขาของบริษัท นอกเหนือจากกิจการพลังงานทดแทนอื่นๆ อาทิ พลังงานน้ำ และพลังงานลม
สำหรับโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ได้เริ่มดำเนินกิจการเมื่อปี 2554 โดยเป็น 1 ใน 23 โรงงานผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ในเบลเยียมของบริษัท NPG Energy ที่มีขนาด 3,700 แผงพลังงาน มีกำลังการผลิต 566.10 กิโลวัตต์ต่อปี และมีประสิทธิภาพพลังงานสูงสุดประมาณ 12%-14% โดยใช้เทคโนโลยีส่วนใหญ่จากสหราชอาณาจักรและญี่ปุ่น โดยแผงพลังงานของโรงงานแห่งนี้มีอายุการใช้งานแผงพลังงานถึง 40 ปี สำหรับส่วนประกอบที่มีอายุการใช้งานน้อยที่สุด คือ ตัวแปลงกระแสไฟ ซึ่งมีอายุการใช้งาน 10 ปี สำหรับโรงงานพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดใหญ่ที่สุดของบริษัทตั้งอยู่ที่เมือง Antwerp ซึ่งเป็นโรงงานขนาด 12,000 แผงพลังงาน และมีกำลังการผลิต 2.1 กิกะวัตต์ต่อปี และใช้เทคโนโลยีจากเนเธอร์แลนด์
เมื่อพิจารณาถึงความเหมาะสมในการถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวแก่ประเทศไทย นาย Jurres ได้ให้ข้อมูลว่า แม้ไทยมีแสงแดดมากและอุณหภูมิที่สูงกว่าในเบลเยียม แต่เทคโนโลยีดังกล่าวเหมาะสมกับสภาพภูมิอากาศในยุโรปมากกว่าในไทย เพราะประสิทธิภาพการผลิตจะลดลงในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงมาก อย่างไรก็ดี ก็มีเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในสภาวะที่มีอุณหภูมิสูงด้วย
ในส่วนของการสนับสนุนจากภาครัฐ บริษัทแห่งนี้ได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลท้องถิ่นภูมิภาคฟลานเดอร์ส แก่โรงผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ 20% ของมูลค่าการลงทุน ตามนโยบายส่งเสริมการลงทุนเพื่อการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ของรัฐบาลท้องถิ่น (เบลเยียมมีการปกครองแบบกระจายอำนาจการตัดสินใจระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่น 4 ระดับ สำหรับระดับภูมิภาคได้แบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาค ได้แก่ วัลลูน ฟลานเดอร์ส และบรัสเซลส์)
เมื่อมีการสนับสนุนอย่างนี้แล้ว บริษัทก็ได้ดำเนินกลยุทธ์ที่เน้นการลงทุนด้านพลังงานทดแทนในประเทศที่มีกฎระเบียบและให้ความสนับสนุนเงินอุดหนุนที่น่าดึงดูดใจและมีเสถียรภาพ โดยในระยะแรก ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งบริษัทเมื่อปี 2551 บริษัทได้เน้นลงทุนในเบเนลักซ์ (เบลเยียม เนเธอร์แลนด์ และลักเซมเบิร์ก)
โรงงานต่อไปที่คณะเยี่ยมชม คือ โรงผลิตก๊าซชีวภาพเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ซึ่งดูเหมือนว่า ผู้ก่อตั้งบริษัทจะภาคภูมิใจเป็นพิเศษ เพราะโรงงานนี้มีจุดแข็งที่ให้ค่าประสิทธิภาพพลังงานสูงที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานทดแทนอื่นๆ ที่บริษัทดำเนินการ คือ 95% และกล่าวว่า เป็นเทคโนโลยียุโรปขั้นสูงกว่าและมีประสิทธิภาพมากกว่าเทคโนโลยีผลิตก๊าซชีวภาพของจีน โดยส่วนใหญ่เป็นเทคโนโลยีของเยอรมนี ความร้อนที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการผลิตหนึ่งๆ ไม่ได้สูญเสียไปเปล่าๆ เพราะบริษัทได้เก็บความร้อนไปใช้ต่อสำหรับกระบวนการอื่นๆ นอกจากนั้น ยังมีระบบควบคุมคุณภาพมาตรฐาน โดยสุ่มตรวจสัปดาห์ละ 3 ครั้ง
นาย Jurres ยังได้กล่าวอีกว่า กระบวนการผลิตของโรงงานไม่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (carbon footprint) สู่สิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่นาย Jurres ภาคภูมิใจ คือ โรงงานแห่งนี้ได้ชื่อว่าช่วยสร้างเสถียรภาพด้านรายได้แก่เกษตรกรในชุมชน เพราะบริษัทได้รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นวัตถุดิบในการผลิตก๊าซ จากเกษตรกรในชุมชนในรัศมี 20 กิโลเมตร กว่า 100 ราย ซึ่งช่วยเกษตรกรลดการพึ่งพาการปลูกข้าวโพดเพื่อจำหน่ายในฐานะอาหารและอาหารสัตว์ ซึ่งปัจจุบันมีราคาที่ผันผวนสูงกว่าราคาไฟฟ้าจากสถานการณ์ราคาอาหารโลกปัจจุบัน นอกจากนี้ผลพลอยได้จากการผลิต หรือ กากปุ๋ย บริษัทยังได้จำหน่ายแก่เกษตรในฝรั่งเศสในราคาถูกอีกด้วย
สำหรับผลิตภัณฑ์ขั้นสุดท้าย บริษัทได้แปลงพลังงานที่เกิดขึ้นให้เป็นกระแสไฟฟ้าสำหรับใช้ในครัวเรือนในเมือง Tongeren ได้ประมาณ 6,700 ครัวเรือน และบริษัทยังมีแผนจะขยายกำลังการผลิตให้สามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียวนี้ให้เพียงพอต่อการอุปโภคของทุกครัวเรือนในเมือง Tongeren อีกด้วย นาย Jurres ให้ข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับการใช้ไฟฟ้าของเบลเยียมว่า บริษัทขนาดใหญ่ที่สุดของเบลเยียม 1,500 บริษัท ใช้ไฟฟ้ามากถึงครึ่งหนึ่งของไฟฟ้าทั้งหมดที่ใช้ในเบลเยียม
ในฐานะผู้คลุกคลีในวงการพลังงานทดแทนของยุโรป นาย Jurres แสดงความเห็นว่า ก๊าซชีวภาพเป็นสาขาพลังงานทดแทนที่มีประสิทธิภาพสูง และแพร่หลายอย่างมากในยุโรป และชี้ให้เห็นถึงข้อได้เปรียบของประเทศในการพัฒนาโรงผลิตก๊าซชีวภาพในแง่ศักยภาพในการผลิต เพราะมีพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรมาก และมีอุณหภูมิที่สูงกว่าซึ่งอุณหภูมิถือเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการผลิต
ความสนับสนุนจากภาครัฐนี้ ไม่ได้มาจากรัฐบาลกลาง และรัฐบาลท้องถิ่นระดับภูมิภาคเท่านั้น แต่ระดับชุมชนในเบลเยียมก็สนับสนุนการดำเนินกิจการพลังงานทดแทน ซึ่งนาย Guy Schiepers สมาชิกสภาเมือง Tongeren ซึ่งได้มาต้อนรับคณะด้วย ได้กล่าวแก่คณะถึงความสำคัญของการดำเนินกิจการด้านพลังงานทดแทนของบริษัท NPG Energy ที่มีต่อการพัฒนาพลังงานอย่างยั่งยืนของเมือง Tongeren และเน้นย้ำว่า เมือง Tongeren ได้ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ การสร้างอาชีพ ควบคู่ไปกับการส่งเสริมสิ่งแวดล้อมด้วย
อย่างไรก็ดี เป็นที่ทราบกันดีว่า อียูยังเผชิญความท้าทายเรื่องนโยบายส่งเสริมพลังงานทดแทนภายหลังจากปี 2563 (ค.ศ. 2020) และขณะนี้ ผู้นำอียูยังอยู่ระหว่างการถกเถียงกันถึงเป้าหมายร่วมกันหลังปี ค.ศ. 2020 ซึ่งคณะกรรมาธิการยุโรปได้เคยออกมาเสนอว่า อาจตั้งเป้าหมายผูกพันประเทศสมาชิกอียูเพียงเป้าหมายเดียว คือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงให้ได้ 40% จากปี 2533 ส่วนเป้าหมายอื่นๆ ให้เป็นไปโดยความสมัครใจ แต่ก็มีผู้ออกมาต่อต้านจำนวนมากเพราะเห็นว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะทำลายอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของอียู
นอกจากนี้ อียูยังอยู่ระหว่างการตัดสินใจว่าจะลดเงินอุดหนุนแก่สาขาพลังงานทดแทนหรือไม่ ซึ่งมาจากการที่คณะกรรมาธิการยุโรปเห็นว่า การลดการอุดหนุนดังกล่าวจะช่วยลดการบิดเบือนตลาดพลังงานภายในประเทศ และหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีอย่างสูญเปล่า ซึ่งคาดว่าอียูจะประกาศแนวทางการให้เงินอุดหนุนในเดือนกรกฎาคมปีนี้ และจะเริ่มมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้
ในขณะเดียวกัน ปัญหาความขัดแย้งระหว่างอียูกับรัสเซียในเรื่องการผนวกไครเมีย อาจทำให้อียูต้องเร่งมองหาและพัฒนาแหล่งพลังงานใหม่ๆ รวมทั้งพลังงานทดแทน เพื่อลดการพึ่งพาพลังงานจากรัสเซีย ซึ่งเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้อียูไม่สามารถกดดันรัสเซียได้เต็มที่
จากที่กล่าวมาข้างต้น จะเห็นได้ว่า อียูมีพัฒนาการเรื่องการพัฒนาพลังงานทดแทนทั้งด้านนโยบายและด้านเทคโนโลยีอย่างมาก ขณะนี้ อียูได้นำเสนอแผนปฏิบัติการส่งเสริมพลังงานสีฟ้า (blue energy) หรือพลังงานมหาสมุทร แล้ว เมื่อวันที่ 20 มกราคมที่ผ่านมา โดยพลังงานสีฟ้านี้เป็นการใช้ประโยชน์จากพลังงานคลื่น พลังงานจากกระแสน้ำขึ้นลง พลังงานจากความแตกต่างของอุณหภูมิที่พื้นผิวมหาสมุทรและใต้มหาสมุทร ไปจนถึงพลังงานจากความแตกต่างของน้ำเค็มและน้ำจืดเลยทีเดียว
จากการเรียนรู้ด้วยมุมมองของฝั่งยุโรป ในส่วนของประเทศไทยซึ่งมีศักยภาพด้านทรัพยากรอย่างมาก การสนับสนุนเชิงนโยบายอย่างเป็นรูปธรรม และการถ่ายทอดองค์ความรู้และส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงาน เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาประเทศไทยให้มีการเติบโตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Growth) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังจะเกิดประโยชน์ทางสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างที่ท่านผู้อ่านสามารถเห็นตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมจากบทเรียนของอียูที่กล่าวมาข้างต้น
ท่านสามารถติดตามข้อมูลเชิงลึกของอียูที่มีผลกระทบสำคัญ หรือเป็นโอกาสต่อประเทศไทย ได้ที่ www.thaieurope.net และติดตามรับข้อมูลข่าวสารได้ที่ Twitter ‘@Thaieuropenews’ และ facebook ‘Thaieurope.net’