การสร้าง "คอนเทนท์ มาร์เก็ตติง" บนโลกโซเชียล
เมื่อวันก่อนผมได้เข้าไปอบรมเรื่องการสร้าง "คอนเทนท์ มาร์เก็ตติง" ให้กับหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่งย่านแจ้งวัฒนะ
โดยผู้เชิญไปก็ขอให้ช่วยอธิบายการสร้างเนื้อหาหรือคอนเทนท์ ที่จะทำอย่างไรให้เกิดการรับรู้ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ผมเห็นว่าเรื่องนี้น่าสนใจ จึงหยิบเอาเค้าโครงเนื้อหาการบรรยายมาให้คุณผู้อ่านได้ทราบกันด้วย คิดว่าแนวทางนี้จะมีประโยชน์ในมุมที่ดีต่อการสื่อสารแบรนด์ทั้งระดับองค์กร และต่อสินค้าและบริการครับ
ต้องบอกอย่างนี้ครับว่า ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์คนั้นการซื้อโฆษณาหรือแบนเนอร์ในแบบดั้งเดิม ดูเหมือนว่าจะทำให้เกิดผลที่ยากในแง่ของการสร้างความจดจำต่อสินค้า แบรนด์หรือองค์กร สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่เสียแล้วครับคุณผู้อ่านครับ เนื่องด้วยความสนใจของผู้บริโภคยุคโซเชียลเน็ตเวิร์คที่อยู่ในโซเชียลมีเดียนั้น ให้ความสำคัญกับตอนเทนท์มากกว่าการแสดงผลของโฆษณาแบบดิสเพลย์ แอดส์
การสร้างคอนเทนท์มีหลากหลายรูปแบบครับ โดยรูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจก็คือการทำ "ยูสเซอร์ รีวิว" รูปแบบนี้เหมาะสำหรับการสร้างความน่าเชื่อถือโดยให้กลุ่มคนที่เป็นผู้อ่านเป็นคนสร้างเนื้อหาขึ้นมาเอง เผยแพร่เอง และกลุ่มพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์คของเน็ตเวิร์คนั้น ๆ ในการกระจายข้อความต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นตัวอย่างสินค้า จุดเด่น หรือแม้กระทั่งการรีวิวการใช้งานสินค้าของคุณผู้อ่านเองเลยด้วยซ้ำไปครับ
รูปแบบถัดมาก็ถือการสร้างวีดีโอคลิปในรูปแบบ อินโฟกราฟฟิคเชิงเปิดแบบสั้น ๆ ไม่มีการสรุปเนื้อหาแต่เป็นการตั้งคำถามต่อมาในตอนท้ายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น "ถ้าเป็นคุณ จะทำอย่างไร?" หรือ "ถ้าเป็นคุณ จะเป็นอย่างไร?" ซึ่งจะช่วยทำให้คนที่เห็นเนื้อหาของคลิปนั้นมีการคอมเมนท์และแชร์เนื้อหาของวีดิโอคลิปต่อ ๆ ไปนั่นเองครับ
คอนเทนท์ มาร์เก็ตติงนี้จะอาศัยพลังของกลุ่มคนที่เราเรียกว่า "ไมโคร อินฟลูเอนเซอร์" ครับ
กลุ่มคนพวกนี้ คือ ผู้มีอิธิพลทางความคิดความเชื่อ ผู้มีชื่อเสียงในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์คนั่นเองครับ จะเป็นคนที่ดังอยู่ในกลุ่มกลุ่มหนึ่ง วงการใดวงการหนึ่ง เช่น คุณจอห์น วิญญูจากรายการ เจาะข่าวตื่น และคุณพ่อหมอ กลุ่มพิธีกรจากเทยเที่ยวไทย หรือล่าสุดคือ "แม่บ้านมีหนวด" ที่อาศัยการถ่ายภาพแอคชั่นสวย ๆ ในแบบแหวกแนว แปลกประหลาด จนโด่งดังมีคนกดไลค์แฟนเพจเฟซบุ๊คกว่า 400,000 คนแล้วในตอนนี้
คุณผู้อ่านจะเห็นว่าการใช้คอนเทนท์ มาร์เก็ตติง ก็ต้องอาศัยการโปรโมทควบคู่ไปกับไปกับการหาไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ในโลกของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ควบคู่กันไปด้วย
การหาตัวไมโคร อินฟลูเอนเซอร์นั้นก็ต้องอาศัยการติดตาม เกาะติด และทำนายคาดเดากันไปว่า ในช่วงเวลานั้น ๆ จะมีใครมาเป็นไมโคร อินฟลูเอนเซอร์ คนดังที่โลกโซเชียล เน็ตเวิร์คให้ความสนใจ และมีคอนเทนท์ของตัวคนที่เป็นไมโคร อินฟลูเอนเซอร์นั้น แหวกแนวและน่าสนใจให้ได้ติดตามกัน
ดังนั้นการทำคอนเทนท์ มาร์เก็ตติงนั้นถือว่าเป็นเรื่องของการอัพเดทตัวเองในมุมมองของนักการตลาดที่ต้องฉับไว เกาะทัน แล้วประยุกต์มาสู่การใช้งานได้อย่างแนบเนียนนั่นเองครับ