พร้อมทำงานข้ามวัฒนธรรม หรือยัง?
สิ่งที่ต้องคำนึงก็คือไม่เพียงภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ในการสื่อสารกับระดับบน แต่ยังมีภาษาถิ่นตามสัญชาติที่แต่ละบริษัทมีแรงงานเข้ามาอยู่
ในอดีตการศึกษาและทำความเข้าใจถึงความแตกต่างของคนในแต่ละพื้นที่ แต่ละภูมิภาค และในแต่ละประเทศ ที่เรียกว่าวัฒนธรรมข้ามชาติ (Cross Cultural) นั้น จะเป็นไปเพื่อผลประโยชน์เชิงพาณิชย์หรือธุรกิจการค้าเป็นหลัก
เพราะสิ่งที่เคลื่อนย้ายไปในที่ต่างๆทั่วโลกนั้น ไม่ใช่ผู้คน หากแต่เป็นผลผลิตที่เกิดจากคน อันเนื่องมาจากความแตกต่างในเชิงภูมิศาสตร์ ทรัพยากรธรรมชาติ สภาพอากาศ ธรณีวิทยา ความอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายทางชีวภาพ ไม่เหมือนกันและมีไม่เท่ากัน
ประเทศในภูมิภาคที่สามารถทำเกษตรกรรมได้ดี ก็จะส่งออกผลผลิตทางการเกษตรที่มีมาก จนเกินกว่าจะบริโภคในประเทศได้ ส่งออกไปขายในประเทศอื่นๆ ที่ขาดแคลนอาหาร ในขณะที่บางภูมิภาคก็จะมีทรัพยากรใต้ดินใต้น้ำ เช่น แร่ธาตุ น้ำมัน และก๊าซธรรมชาติ ก็จะส่งเชื้อเพลิงพลังงานไปขายให้กับประเทศที่ต้องการและไม่มีแหล่งพลังงานของตนเอง ประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าอุปโภคและอุตสาหกรรมต่างๆ ก็จะผลิตสินค้าเพื่อประโยชน์ใช้สอยต่างๆ และส่งออก
ดังนั้นนักธุรกิจ ผู้ผลิต และพ่อค้าจะให้ความสนใจที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมของผู้บริโภค เพื่อที่จะปรับปรุงพัฒนาและสร้างสรรค์สินค้าของตนเองให้ตอบสนองต่อตลาดที่จะส่งสินค้าเป็นหลัก แต่ด้วยการเคลื่อนย้ายเสรีในหลายๆ ด้าน รวมถึงการเคลื่อนย้ายแรงงานเสรีที่เป็นกลุ่มวิชาชีพ ทำให้ตลาดแรงงานมีฝีมือและสาขาที่หายากมีการขยับปรับตัวก่อน
จึงไม่แปลกใจที่ปัจจุบันหลายประเทศในโลกมีชาวต่างชาติเข้ามาทำงานทั้งในระยะสั้นและระยะยาวกันมากขึ้น ซึ่งเมื่อรวมเข้ากับนักท่องเที่ยวด้วยแล้ว ทำให้มีปริมาณมากจนเราสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะประเทศไทยที่เป็นฐานการผลิตการลงทุนข้ามชาติ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญในหลายทศวรรษที่ผ่านมา
การเข้ามาอยู่เดิมของนักลงทุน นักธุรกิจ และผู้บริหารในองค์กรข้ามชาติ ผนวกกับการนำเข้าผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน กลุ่มวิศวกร กลุ่มวิชาชีพเฉพาะ และการขยายธุรกิจของบริษัทที่ปรึกษาต่างๆที่เข้ามาเปิดสำนักงานในประเทศต่างในภูมิภาคอาเซียน ประกอบกับความจำเป็นที่จะต้องใช้แรงงานระดับล่างจำนวนมาก อันเนื่องมาจากการที่อุตสาหกรรมของประเทศที่เข้มแข็ง อาทิ สิงคโปร์ มาเลเซีย และประเทศไทย ต้องพึ่งพาแรงงานระดับล่างที่ไม่ได้ต้องการฝีมือมากนักจากประเทศเพื่อนบ้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นลาว กัมพูชา และพม่า
ดังนั้นคนไทยส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะทำงานระดับกลางถึงสูงขององค์กรเป็นหลัก โดยมีผู้บริหารระดับสูงสุดหรือสูงกว่า ตลอดจนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านมาจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือบริษัทแม่ที่อยู่ในต่างประเทศ ส่วนแรงงานระดับล่างจะมาจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นหลัก
ไม่ใช่เพียงภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ในการสื่อสารกับระดับบน แต่ยังต้องมีภาษาถิ่นตามสัญชาติที่แต่ละบริษัทมีแรงงานเข้ามาอยู่ การทำงานให้สอดประสานกันจึงมีความหมายมากกว่าเพียงแค่ภาษาเพื่อการสื่อสารพูดคุยเท่านั้น แต่ยังต้องทำความเข้าใจให้ลึกถึงวิถีชีวิต ความคิด ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรมอันหลากหลายของเชื้อชาติที่มาอยู่ร่วมกัน
สิ่งนี้ไม่ใช่เฉพาะกับคนไทยที่ทำงานในประเทศไทยเท่านั้น แต่ถึงแม้ว่าจะไปทำงานในประเทศอื่น หรือได้รับมอบหมายจากบริษัทในไทยไปประจำในต่างประเทศก็ตาม เนื่องจากเดี๋ยวนี้บริษัทขนาดใหญ่ของไทยก็ไปลงทุนในต่างประเทศกันมากขึ้น การจัดการแบบข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural Management) จึงกลายเป็นหัวข้อใหม่ที่ทั้งกำลังมาแรงแซงทางโค้งนอกเหนือจากเรื่อง Work-Life Balance และถือเป็นเรื่องสำคัญทีเดียวต่อผลสำเร็จในงาน
คำถามคือแล้วบุคคลที่สามารถทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ หรือทำงานยังต่างประเทศให้ได้ผลงานดี ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจะช่วยพัฒนาคนไทยให้ทำงานบรรยากาศแบบนี้ได้หรือไม่ และบุคลากรที่พึงประสงค์ควรเป็นอย่างไร ลองพิจารณาคุณสมบัติต่อไปนี้เป็นแนวทาง
-มีความรู้ ความเข้าใจในมิติทางวัฒนธรรมที่แตกต่าง ยอมรับความหลากหลาย และมีทัศนคติที่เป็นบวกต่อทั้งวัฒนธรรมของตนเอง และของเพื่อนร่วมงานจากชาติอื่น
-มีความสามารถทางภาษาต่าง ๆ อย่างน้อย 2 ภาษา (หากสามารถสื่อสารได้หลายภาษายิ่งดี) โดยเฉพาะภาษาอังกฤษและภาษาของประเทศที่เราต้องทำงานด้วย โดยเฉพาะภาษาของประเทศในอาเซียนด้วยกัน ถ้าสามารถจดจำคำทักทาย มารยาทของแต่ละประเทศที่ไปพบปะ ก็จะช่วยเพิ่มเสน่ห์และความประทับใจเมื่อแรกเจอได้เป็นอย่างดี
-ยืดหยุ่น ปรับตัวได้ในสถานการณ์ที่แตกต่าง ไม่ยึดติดในเรื่องใดเรื่องหนึ่งจนเกินไป และชอบแสวงหาความรู้ในสิ่งแปลกๆ ใหม่ๆ
-พร้อมเดินทางทั้งต่างจังหวัดและต่างประเทศ มีความอดทนกับการเดินทางระยะเวลานานๆ อยู่ตามลำพังได้ สามารถช่วยเหลือตนเองหรือพึ่งตนเองได้
-มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัวที่รุนแรงจนเป็นอุปสรรคในการเดินทางไกลๆ และมีสุขภาพจิตที่ดี เผชิญกับอุปสรรคต่างๆ ได้อย่างมีสติ
-มีความรู้ หรือความสามารถพิเศษเกี่ยวกับวัฒนธรรมประจำชาติ อาทิ การปรุงอาหารประจำชาติ ร้องเพลง ศิลปะการแสดง สถานที่สำคัญ สถานที่ท่องเที่ยว ประวัติศาสตร์ และความรู้ทั่วไป เพื่อใช้ในการแลกเปลี่ยนบทสนทนา ทำให้สร้างความคุ้นเคยและกระชับมิตรได้เร็วขึ้น
สิ่งเหล่านี้คงเป็นตัวอย่างเล็กๆ น้อยๆ ที่พอจะทำให้เราเห็นภาพและบรรยากาศการเปลี่ยนแปลงที่เราจะต้องประสบพบเจอมากขึ้นเรื่อยๆ เชื่อว่าในหลายพื้นที่โดยเฉพาะในเมืองหลวง และเมืองเศรษฐกิจสำคัญของไทย ถ้าสังเกตให้ดีจะพบเจอสิ่งเหล่านี้กันแล้ว