พัฒนาการเศรษฐกิจการเมือง "ระบอบศักดินาสยาม" สู่ "ระบอบทุนนิยมแบบไทย" (1)

ประเทศหรือสังคมที่สามารถตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงอันเป็นผลจากพัฒนาการเศรษฐกิจการเมืองได้อย่างเหมาะสม
ย่อมสามารถดำรงอยู่ได้และมีความเจริญก้าวหน้าตามลำดับ ช่วง 100 ปีก่อนสนธิสัญญาเบาว์ริงนั้น เกษตรกรรมแบบยังชีพและการหาของป่าเป็นรากฐานสำคัญของเศรษฐกิจสยาม ชาติตะวันตกได้เข้ามาตั้งสถานีการค้าในราชอาณาจักรอยุธยาสมัยสมเด็จพระนารายณ์ (พ.ศ. 2200-2231)
อยุธยาถือเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจการค้าของเอเชียในยุคนั้น อังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลแลนด์และโปรตุเกสมีความใกล้ชิดกับอยุธยาและมีการตั้งสถานีการค้า เสนาบดีคนสำคัญของสมเด็จพระนารายณ์ท่านหนึ่งเป็นชาวต่างชาติ นามว่า คอนสแตนติน ฟอลคอน หรือ เจ้าพระยาวิชาเยนทร์เป็นขุนนางชาวกรีกในราชสำนักอยุธยาที่ได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากฝรั่งเศสและศาสนจักรคาทอลิก ปลายสมัยพระนารายณ์ท่านผู้นี้ได้รับการต่อต้านจากขุนนางกลุ่มอื่นในราชสำนักโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากพระเพทราชา ต่อมาหลังหมดสมัยของสมเด็จพระนารายณ์ คอนสแตนติน ฟอลคอนก็ถูกประหารชีวิต ราชวงศ์ใหม่ภายใต้กษัตริย์อย่างพระเพทราชากลับมาเป็นปฏิปักษ์กับประเทศตะวันตก หลังจากกษัตริย์ไทยก็พยายามหลีกเลี่ยงการติดต่อกับประเทศตะวันตกเป็นเวลานานกว่าศตวรรษ
หลังจากเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่สองมาจนถึงรัชกาลที่สามแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ก็ยังไม่ได้เปิดประเทศอย่างเต็มที่และมีการติดต่อกับชาติตะวันตกเพียงเล็กน้อย การเปิดประเทศเกิดขึ้นหลังมีการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริงซึ่งได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญทางเศรษฐกิจการค้าและส่งผลต่อพลวัตทางการเมืองและการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในช่วงต่อมา หลังความล่มสลายของอาณาจักรอยุธยาในปี พ.ศ. 2310 สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพร้อมกองทหารจำนวนหนึ่งตีฝ่าวงล้อมพม่ามุ่งหน้าสู่หัวเมืองภาคตะวันออกเพื่อสร้างฐานที่มั่นกอบกู้เอกราชคืนจากพม่า
การกอบกู้เอกราชและการรวบรวมราชอาณาจักรให้เป็นปึกแผ่นเป็นภารกิจสำคัญในสมัยกรุงธนบุรี
งานส่วนใหญ่ของราชสำนักเวลานั้นจึงเป็นเรื่องการจัดการเรื่องสงครามและการเมืองเป็นด้านหลัก การจัดการและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการค้าการขายกับต่างประเทศเริ่มกลับมามีบทบาทอีกครั้งในสมัยรัชกาลที่ 3
ชาวนาเป็นรากฐานสำคัญที่สุดของเศรษฐกิจสังคมไทย ตลอดระยะเวลาประวัติศาสตร์อันยาวนานของสยาม การปลูกข้าวเพื่อส่งออกและเพื่อการค้าภายในเป็นกิจกรรมหลักทางเศรษฐกิจ
พ.ศ. 2500 ต้นๆ สินค้าส่งออกเกษตรมีสัดส่วน 80% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด สังคมเกษตรกรรมช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นต่อเนื่องจนถึงราว พ.ศ. 2490
สังคมภาคเกษตรในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้นถือเป็นสังคมที่ประกอบไปด้วยชาวนาอิสระจำนวนมาก และ ชาวนาเหล่านี้ก็สามารถจับจองพื้นที่ในการเพาะปลูกได้ สังคมแบบนี้สะท้อนถึงวัฒนธรรมแห่งการพึ่งตัวเอง ให้คุณค่ากับความเสมอภาคและความเท่าเทียมกัน มีประเพณีช่วยเหลือเกื้อกูลและมีน้ำใจต่อกัน ระบอบศักดินาสยามจึงเป็นศักดินาที่ยืดหยุ่นกว่าศักดินาในยุโรป
อย่างไรก็ตาม ในสมัยอยุธยานั้น กิจการค้าข้าวส่งออกไปต่างประเทศยังไม่เฟื่องฟูเต็มที่ เนื่องจากชนชั้นนำเวลานั้นจัดการเรื่องข้าวอยู่บนพื้นฐานของการบริโภคภายในและเป็นเสบียงสำหรับกิจการสงคราม มากกว่า จะนำไปส่งออกเพื่อหารายได้
การส่งออกข้าว น้ำตาล และสินค้าเกษตรอื่นๆ เริ่มมาเติบโตแบบก้าวกระโดดหลังจากที่สยามได้เซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริง
สยามส่งออกข้าวเพียง 15,000 กว่าตันในปี พ.ศ. 2393 พอปี พ.ศ. 2403 ปริมาณส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 62,000 ต้นต่อปี และในช่วงทศวรรษ 2470 การส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นมาเป็น 100,000 ตันต่อปี
ปัจจุบัน ไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ แต่พันธุ์ข้าวของไทยกำลังถูกแย่งชิงไปอย่างแยบยลด้วยเกมทรัพย์สินทางปัญญา
การเปลี่ยนแปลงทางด้านโครงสร้างของการผลิตข้าว จากการผลิตเพื่อการยังชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงดั้งเดิม เป็นการผลิตเพื่อการส่งออกมากขึ้นทำให้พ่อค้านักธุรกิจและรัฐเข้ามามีบทบาทเพิ่มการลงทุนในภาคเกษตรมากขึ้น
สังคมชาวนาอิสระที่มีวัฒนธรรมแบบเสมอภาคค่อยๆ เสื่อมลง สังคมชาวนาแบ่งแยกเป็นชาวนาร่ำรวยเจ้าของทุนและผืนดินขนาดใหญ่ กับ ชาวนาไร้ที่ดิน
การเพิ่มจำนวนคนในสังกัด และ การเพิ่มจำนวนประชากร เป็นทั้งความจำเป็นทางเศรษฐกิจและการเมือง การทำนาและการผลิตภาคเกษตรต้องการแรงงานจากไพร่ทาสจำนวนมาก
เมื่อมีความจำเป็นต้องใช้แรงงาน จึงต้องมีระบบเกณฑ์แรงงาน ในช่วงรัตนโกสินทร์ตอนต้น มีการปรับปรุงระบบการจดทะเบียนไพร่โดยการสักที่ข้อมือ มีการส่งข้าราชการไปตรวจสอบดูว่า ใครข้อมือขาวให้ตามล่ามาสักข้อมือเสียเพื่อจะได้เข้าระบบบังคับเกณฑ์แรงงาน
มีการสึกพระให้ออกมาเป็นไพร่เพื่อเพิ่มกำลังแรงงานหากพระรูปนั้นสอบตกในการทดสอบความรู้ของพระสงฆ์
ไพร่นั้นแบ่งออกเป็นไพร่สม และ ไพร่หลวง โดยไพร่หลวงทำงานโครงการก่อสร้างวัง ขุดคลอง สร้างวัดตามโครงการของพระมหากษัตริย์ ขณะที่ไพร่สมจะทำงานให้กับขุนนางหรือมูลนายต่างๆ นอกจากการทำงานให้มูลนายแล้ว ไพร่สมยังต้องส่งส่วยเป็นอาหารและของใช้จำเป็นอื่นๆ ให้แก่มูลนาย
นอกจากไพร่แล้ว ยังมีแรงงานอีกกลุ่มใหญ่ คือ ทาส มีทั้งที่เป็นชาวไทย และถูกกวาดต้อนจากดินแดนอื่นในฐานะเชลยศึก ส่วนหนึ่งต้องโทษทางอาญา หรือ ตกเป็นหนี้จนต้องขายตัวเป็นทาส ทาสไม่มีสิทธิในที่ดิน
การซื้อขายทาสนั้นมีอยู่ในสังคมสยามก่อนสมัยรัชกาลที่ห้า กษัตริย์นักปฏิรูปผู้เลิกทาส แต่สยามไม่ได้มีตลาดค้าทาสเหมือนยุโรปหรือสหรัฐอเมริกา และทาสในสยามเองก็มีชีวิตความเป็นอยู่ดีกว่าทาสในประเทศอื่นๆ
ความรุนแรงทางการเมืองและทางสังคมจากการลุกอือเพื่อต่อสู้การกดขี่ในสังคมจึงไม่ค่อยเกิดขึ้นมานักในสังคมสยาม
การค้าต่างประเทศและการค้าในประเทศอยู่ในการควบคุมของชนชั้นนำและราชสำนัก
“การศึกสงครามข้างญวน ข้างพม่าก็เห็นจะไม่มีแล้ว จะมีอยู่ก็แต่ข้างฝรั่ง ให้ระวังให้ดี อย่าให้เสียทีแก่เขาได้การงานสิ่งใดของเขาที่ควรจะเรียนเอาไว้ ก็ให้เอาอย่างเขาแต่อย่าให้นับถือเลื่อมใสไปทีเดียว”
นั่นคือ พระราชกระแสของรัชกาลที่สามเกี่ยวกับการต่างประเทศก่อนสวรรคตไม่นานนัก
พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาเป็นหลักฐานชั้นดีของประวัติศาสตร์รัตนโกสินทร์ตอนต้น เนื่องจากในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นมีการชำระประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยากันหลายครั้ง
แต่ละครั้งที่ถูกชำระชนชั้นนำของรัตนโกสินทร์ตอนต้นได้ใส่ทัศนคติ ความคิด ความเชื่อ ความใฝ่ฝัน ความเป็นไปในบ้านเมืองลงไปในพงศาวดารอยุธยาด้วย ชนชั้นนำและสถาบันกษัตริย์เพิ่งผ่านความตื่นตระหนกอย่างใหญ่หลวงมาจากความพินาศล่มสลายของอยุธยา
พงศาวดารอยุธยาที่เขียนขึ้นใหม่ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงบอกถึง สภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในสมัยก่อนการปฏิรูปให้ทันสมัยในสมัยรัชกาลที่ห้าได้เป็นอย่างดี จักรวรรดินิยมตะวันตกกำลังไล่ล่าประเทศเมืองขึ้นในแถบเอเชีย และ หลังจากไทยก็เริ่มได้รับแรงกดดันให้ทำสนธิสัญญาทางการค้ากับจักรวรรดินิยมเหล่านี้
หากมีใครสักคนถามว่า ระบบทุนนิยมไทยเกิดขึ้นเมื่อไหร่? ในความเห็นของผมมองว่า ระบบทุนนิยมไทยเริ่มก่อรูปอย่างชัดเจนหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง
สนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการค้าระหว่างอังกฤษกับสยามนี้กระทำขึ้นในปี พ.ศ. 2398 มีการลงนามกันเมื่อวันที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2398 โดยมีข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำฮ่องกงเซอร์จอห์น เบาว์ริงเป็นหัวหน้าคณะอังกฤษ มีเจ้าพระยาประยูรวงศ์ เป็นผู้แทนในการเจรจาฝ่ายไทย แต่อำนาจสิทธิขาดตัดสินใจอยู่ที่ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
สนธิสัญญาฉบับนี้มีผลสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจการค้าต่อสยามในเวลาต่อมาอย่างมาก
เช่นเดียวกับ การทำเอฟทีเอทั้งหลายในเวลานี้ก็ต้องดำเนินการอย่างรอบคอบเพื่อให้เกิดผลบวกระยะยาวต่อประเทศมากที่สุด
เหตุการณ์บ้านเมืองเวลานี้ มีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราสามารถนำบทเรียนในอดีตมาพิจารณาเพื่อกำหนดแนวทางหรือนโยบายที่เหมาะสมได้
หลังสนธิสัญญาเบาว์ริงแล้ว สยามก็ได้จัดทำสนธิสัญญากับหลายประเทศโดยยึดสนธิสัญญาเบาว์ริงเป็นต้นแบบ ส่วนใหญ่สยามเป็นฝ่ายเสียเปรียบเพราะมีอำนาจต่อรองน้อยกว่ากลุ่มประเทศมหาอำนาจจักรวรรดิโรมันตะวันตก
สยามทำสนธิสัญญา แฮริส กันสหรัฐอเมริกา และ สนธิสัญญา มองติญญี ในปีถัดมาหลังจากสนธิสัญญาเบาว์ริงเกิดผล ต่อจากนั้นก็ได้ทำสัญญากับ เดนมาร์ก โปรตุเกส ญี่ปุ่น รัสเซีย และประเทศยุโรปอีกหลายประเทศ
เนื้อหาที่ไม่เป็นธรรมกับสยามได้ถูกแก้ไขในสมัยที่ท่านปรีดี พนมยงค์ เป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ
อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาล อันหมายถึง ราชสำนักก็ได้ออกประเทศชี้แจงถึงประโยชน์ที่ได้จากการทำสัญญากับฝรั่ง โดยแนวทางในการชี้แจงเวลานั้นมีหลายข้อก็คล้ายๆ กับที่เราชี้แจงเหตุผลในการเปิดเสรีและทำเอฟทีเอในปัจจุบัน
เวลานั้นมีการชี้แจงประชาชนว่า การทำสัญญากับฝรั่งเป็นโอกาสที่ชาวสยามจะได้เรียนรู้เลียนแบบอุตสาหกรรมของประเทศเจริญแล้ว การผลิตที่ทันสมัยจะทำให้เราได้บริโภคสินค้าที่ถูกลง เก็บภาษีได้มากขึ้น มีการลงทุนและมีงานทำมากขึ้น
สาระสำคัญของสนธิสัญญาเบาว์ริงทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งแบบแผนการค้าระหว่างประเทศ โครงสร้างการผลิต โครงสร้างการส่งออก ฐานะทางการคลัง สภาพทางสังคมและการเมืองสนธิสัญญาเบาว์ริงให้สิทธิทางการค้าและสิทธิพิเศษนอกราชอาณาจักรให้กับชาวอังกฤษ การค้าการขายกับชาวต่างชาติก็ไม่ถูกจำกัดเฉพาะกลุ่มแต่ได้ขยายวงกว้างมากขึ้นและอาจพอสรุปได้ว่าสนธิสัญญาทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการค้าแบบผูกขาด มาเป็นระบบเสรีมากขึ้น
ระบบการจัดเก็บภาษีก็มีการเปลี่ยนแปลง ตามเงื่อนไขสัญญาระบุให้เก็บภาษีขาเข้าสินค้าทุกประเภทเพียงร้อยละ 3 ส่วนสินค้าขาออกให้เสียเพียงครั้งเดียวตามพิกัดอัตรากำหนดไว้
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับฐานะการคลังของสยามหลังสนธิสัญญาเบาว์ริง ก็คือ รายได้ที่ลดลงของพระคลังข้างที่ อย่างไรก็ตาม รัฐก็เก็บภาษีจากเอกชนได้มากขึ้น เพราะการค้าของเอกชนได้เติบโตมากขึ้นจากการติดต่อการค้าโดยตรงกับต่างชาติโดยไม่ต้องผ่านราชสำนักเช่นในอดีต
ธุรกิจการค้าเฟื่องฟูเกิดชนชั้นพ่อค้านายทุนขึ้นมา จากเดิมที่การค้าถูกผูกขาดโดยชนชั้นปกครอง โครงสร้างการส่งออกสินค้าก็มีการเปลี่ยนแปลง การค้าข้าวรุ่งเรืองมากจนรัฐบาลต้องมีนโยบายขุดคลองเพื่อเปลี่ยนพื้นที่ป่าเป็นนาข้าว