สานฝันให้นายก (พิเศษ) : ปวงชนชาวไทยมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรี
อำนาจอธิปไตย (Sovereignty) คือ อำนาจสูงสุดในการปกครอง แบ่งออกเป็น 3 ด้านหลัก คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ
มาช่วยกันฝันว่าพวกเราจะมีอำนาจบริหารอย่างไรกันเถิด
ประชาธิปไตยแบบที่ผ่านมาในอดีตพวกเรามีอำนาจอะไรในการบริหารประเทศ
ประชาธิปไตยแบบที่ผ่านมาในอดีต ให้โอกาสการบริหารบ้านเมืองทางอ้อมแก่พวกเราส่วนใหญ่ผู้เป็นเจ้าของอำนาจสูงสุดในการปกครอง พวกเราส่วนน้อยเท่านั้นที่มีโอกาสในการใช้อำนาจด้านการบริหารโดยตรง
ระดับประเทศพวกเราคนส่วนใหญ่เลือกผู้แทนให้เข้าไปทำหน้าที่ในรัฐสภาเกี่ยวกับอำนาจบริหาร คือ การบัญญัติกฎหมายเพื่อเป็นกรอบและแนวทางในการบริหาร เลือกนายกรัฐมนตรีผู้เป็นหัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหาร และทำหน้าที่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับการทำงานของคณะรัฐมนตรี มีพวกเราส่วนน้อยเท่านั้นที่เป็นคณะรัฐมนตรีใช้อำนาจด้านการบริหารโดยตรง
ระดับท้องถิ่น พวกเราส่วนใหญ่เลือกผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่น ระดับหมู่บ้าน ตำบล เทศบาล และจังหวัด มีพวกเราอีกเพียงจำนวนหนึ่งเท่านั้นที่ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้บริหารท้องถิ่นใช้อำนาจด้านการบริหารโดยตรง
ความบิดเบี้ยวของการบริหารบ้านเมืองในประชาธิปไตยที่อดีตผ่านมา
ในอดีตที่ผ่านมานั้น การเลือกนายกรัฐมนตรีโดยผู้แทนของพวกเราในสภาผู้แทนราษฎร เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารโดยอ้อมโดยการ “มอบอำนาจให้ผู้แทนไปเลือกหัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหาร”
ปัญหาที่เกิดขึ้นในการบริหารบ้านเมืองระดับประเทศของคณะรัฐมนตรี เช่น ปัญหาการบริหารบ้านเมืองโดยแจกเงินและผลประโยชน์ในรูปแบบการยกเว้น ลดหย่อนหรือคืนภาษี ซื้อสินค้าหรือพืชผลทางการเกษตรด้วยราคาที่สูงกว่าราคาตลาด ออกนโยบายและมาตรการที่อุดหนุนและเอื้อประโยชน์เฉพาะกลุ่มพรรคพวกและฐานเสียงตนเองเท่านั้นเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า “ประชานิยมสุดขั้ว”
ปัญหาการบริหารบ้านเมืองเพื่อเอาใจกลุ่มฐานเสียงส่วนใหญ่ที่ลงคะแนนเลือกให้พรรคเข้าไปเป็นรัฐบาล แต่ละทิ้ง ไม่สนใจ ไม่ฟังเสียงปวงชนส่วนใหญ่ของประเทศกลุ่มอื่นๆ คือกลุ่มผู้มีสิทธิเลือกตั้งแต่ไม่เลือกพรรครัฐบาล และกลุ่มผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง
ปัญหาวิกฤติของกลุ่มนักการเมือง คือ การทุจริตคอร์รัปชันในระดับปฏิบัติและเชิงนโยบายของคณะรัฐมนตรีและพรรคพวกฝ่ายรัฐบาล ด้วยความร่วมมือ สมยอม และรู้เห็นเป็นใจของบุคลากรกังฉินภาครัฐ และทุจริตชนภาคเอกชนจนทำให้ประเทศเสียหายย่อยยับ
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องจากจุดเริ่มต้นในการกากบาทของพวกเราเพื่อลงคะแนนเลือกผู้แทนในเวลา 3 วินาทีซึ่งเป็นช่วงเวลาที่พวกเราถูกบังคับโดยกฎหมายให้ยกสัมปทานสิทธิความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยแก่ผู้แทนแบบให้ขาดตลอดระยะเวลา 4 ปี ไม่สามารถเรียกคืนได้โดยพวกเราเองไม่ว่าพวกเราจะรวมตัวกันได้จำนวนมากเพียงใดก็ตาม
ช่วงเวลาตลอดระยะเวลา 4 ปี เป็นช่วงที่พวกเราผู้เป็นเจ้าอำนาจอธิปไตยอยู่ในภาวะด้อยสิทธิ “เป็นเจ้าของแต่มีสิทธิการใช้อย่างจำกัดมาก” ได้แต่เฝ้ามอง เป็นกำลังใจ และลุ้นระทึกกับการใช้อำนาจของผู้แทนว่าจะทำหน้าที่อย่างเต็มที่หรือหย่อนยาน สร้างความเจริญหรือความพินาศ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ตนและพรรคพวก
พวกเราทำได้เพียงเสนอความเห็น เรียกร้องขอความเห็นใจ และอ้อนวอนขอความอนุเคราะห์ ให้คณะรัฐมนตรี ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารของพวกเราอย่างสุจริต เที่ยงธรรม ทั่วถึง ยุติธรรม และไม่เลือกปฏิบัติ
ซ้ำร้ายในช่วงเวลาที่ได้สัมปทานสิทธิความเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยผู้แทนบางคนทรยศต่อพวกเราโดยการยึดติดและเสพใช้อำนาจอธิปไตยของพวกเราอย่างลุแก่อำนาจ ตามอำเภอใจ เห็นชอบร่างกฎหมายตามความต้องการของนายทุนเจ้าของพรรคโดยไม่ฟังเสียงประชาชนไม่เข้าประชุมรัฐสภา ไม่ติดตาม ตรวจสอบและกำกับการทำงานของคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานของรัฐ
สรุปปัญหาเกี่ยวกับอำนาจอธิปไตยด้านบริหารที่ผ่านมา คือ พวกเราผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยมีสิทธิ์ใช้อำนาจบริหารอย่างจำกัดมาก ซ้ำร้ายผู้แทนไม่ทำหน้าที่อย่างสุจริตเพื่อประโยชน์ของพวกเราส่วนใหญ่ และประการที่สำคัญพวกเรายังถูกบังคับให้สัมปทานอำนาจอธิปไตยแบบให้ขาด ไม่สามารถเรียกคืน ยึด และเพิกถอนอำนาจอธิปไตยของพวกเรากลับคืน
ปัญหาอำนาจบริหารของนายกรัฐมนตรีไทยในอดีต
ประชาธิปไตยแบบที่ผ่านมาให้อำนาจแก่นายกรัฐมนตรีในการยุบสภาผู้แทนราษฎร เป็นสิ่งบ่งชี้ที่ชัดเจนประการหนึ่งว่าประชาชนมิได้เป็นใหญ่โดยแท้จริง
นั่นเป็นเพราะว่านายกรัฐมนตรี คือ บุคคลที่ผู้แทนของประชาชนส่วนใหญ่คัดเลือกให้ทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง แต่นายกรัฐมนตรีกลับมีอำนาจตัดสินพิพากษาให้สภาพความเป็นผู้แทนของปวงชนทุกคนสิ้นสุดลง (รวมทั้งผู้แทนที่ลงคะแนนสนับสนุนให้เป็นนายกรัฐมนตรีด้วย ภาษาบ้านๆ เขาเรียกว่า “อำนาจในการเนรคุณ”) โดยไม่สนใจไยดีว่าผู้แทนเหล่านั้นบางคนจะเป็นผู้แทนที่ดี มีพฤติกรรมดีเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากปวงชนชาวไทยอย่างแท้จริง
ในอดีตที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีมีอิทธิพลเหนือรัฐสภา จนเป็นที่รับรู้อย่างประจักษ์ของผู้คนโดยทั่วไป แม้ว่าหลายครั้งที่นายกรัฐมนตรีก็กระทำการอย่างกระมิดกระเมี้ยน ไม่โจ่งแจ้ง จนเกินไป แต่นั่นก็ไม่หลักประกันที่เพียงพอจะทำให้คนทั้งกลุ่มบริหารและนิติบัญญัติกระทำการที่เป็นประโยชน์กับประเทศชาติและประชาชนอย่างแท้จริง
ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นสิ่งที่ผิดเพี้ยนของความสัมพันธ์เชิงอำนาจของตัวการ ตัวแทน ผู้แทน และผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงานปฏิบัติหน้าที่
ประชาธิปไตยในอนาคตของไทย ยึดโยงกับปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย
อำนาจนิติบัญญัติและอำนาจบริหารจะมีความเป็นอิสระมากกว่าที่เป็นมาในอดีต ก็ต่อเมื่อ อำนาจทั้งสองมีฐาน มีที่มาจากอิสระชนชาวไทยทั้งปวง
ให้อำนาจนิติบัญญัติมีที่มาจากผู้แทนของปวงชาวไทยทุกๆ ภาคส่วน ที่จะให้ความเห็นชอบในการตรากฎหมาย ออกกติกาที่จะบังคับใช้กับทุกคนในสังคมไทย
การเสนอร่างกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนิติบัญญัติพิจารณานั้นให้มีที่มาอย่างหลากหลายทั้งจากสมาชิกรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ประชาสังคม หรือกลุ่มประชาชนทั่วไปโดยไม่ต้องจำกัดว่าเป็นกฎหมายประเภทใด กฎหมายที่เกี่ยวกับการเงินหรือไม่
คณะรัฐมนตรีไม่ผูกขาดสิทธิในการเสนอกฎหมายเกี่ยวกับการเงินเพียงกลุ่มเดียวเนื่องจากปัจเจกชนที่ประกอบเป็นคณะรัฐมนตรีเองก็เปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง นายกรัฐมนตรีเองก็เป็นเพียง “ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหาร” และประการที่สำคัญเมื่อเกิดความเสียหายขึ้นก็ไม่เคยปรากฏเลยว่าคณะรัฐมนตรีในอดีตรับผิดชอบประการใด
ให้อำนาจบริหารมีที่มาจากผู้แทนปวงชนชาวไทยทั้งประเทศ โดยที่ผู้แทนกลุ่มนี้ไม่จำเป็นต้องเป็นกลุ่มเดียวกับกลุ่มที่ทำหน้าที่นิติบัญญัติ ที่มาของกลุ่มผู้แทนปวงชนชาวไทยที่จะทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี เช่น กลุ่มผู้แทนราษฎรที่เลือกกันเอง ผู้ว่าราชการจังหวัดที่มาจากการเลือกตั้งกลุ่มผู้แทนของนายกองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เลือกกันเอง กลุ่มผู้แทนของหัวหน้าส่วนราชการที่เลือกกันเอง “คณะผู้เลือกนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาในแต่ละครั้ง” เป็นต้น
นายกรัฐมนตรีเป็นเพียงหัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารไม่ใช่ประมุขของรัฐ เป็นบุคคลที่ได้รับมอบอำนาจให้ปฏิบัติงานด้านบริหารจัดการ ไม่มีอำนาจยุบสภาผู้แทนราษฎร “ผู้ได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติหน้าที่หัวหน้าคณะผู้ใช้อำนาจอธิปไตยด้านบริหารต้องมีอำนาจน้อยกว่าปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย”
ให้นายกรัฐมนตรีมีเพียงอำนาจสงวนสิทธิ์ ใช้เอกสิทธิ์ (VETO) ในบางประเด็นเท่านั้น เพื่อคานอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติให้สมดุลและมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ยกเว้นข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐด้านความมั่นคงซึ่งจะมีกลไกพิเศษในการบริหารจัดการ
ฝันถึงดุลอำนาจที่นำพาประเทศสู่ความเจริญมั่นคง
เมื่อนายกรัฐมนตรีและผู้แทนปวงชนชาวไทย มีที่มาจากอิสระชนหลากหลายกลุ่ม และมีขอบเขตอำนาจที่ชัดเจนและอิสระจากกัน ก็จะไม่เกิดปรากฏการณ์ทางการเมืองที่นายกรัฐมนตรีจะทำทุกอย่างเพื่อวงศาคณาญาติหรือพวกพ้องของตนจะไม่เกิดวิกฤติการเมืองจากการผลักดัน “พ.ร.บ.สุดซอย” ดังเช่นในอดีต
ที่มาและขอบเขตอำนาจของนายกรัฐมนตรีดังกล่าวจะเป็นก้าวแรกที่เพิ่มโอกาสให้กับปวงชนชาวไทยผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ที่จะเป็นหนึ่งใน “คณะผู้เลือกนายกรัฐมนตรีที่ประชาชนเลือกตั้งขึ้นมาในแต่ละครั้ง” พวกเราจะมีอำนาจเลือกนายกรัฐมนตรีเพิ่มมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ความฝันว่าประเทศไทยของเราเจริญมั่นคงมากขึ้นก็จะกลายเป็นจริงเพราะปวงชนชาวไทยมีพลังอำนาจเพิ่มขึ้นนั่นเอง
ขอขอบพระคุณผู้อ่านทุกท่านที่ร่วมฝันเกี่ยวกับบ้านกับเมืองด้วยกัน บทความต่อๆ ไปจะกลับเข้าสู่ “สานฝันให้นายก” ที่เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับรัฐวิสาหกิจ อุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะพลังงานไฟฟ้าอย่างที่เคยเป็นในอดีตกันอีกครั้ง ครับ
---------------
บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้อง ไม่ผูกพัน และไม่ใช่ในนามของพนักงาน PEA