วัดใจ คสช. มิติผู้หญิงผ่านกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี
วัดใจคสช.มิติผู้หญิงในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมาคือนโยบายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2557
ที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติได้พิจารณาตัดสินอนาคตกองทุนที่ใช้งบประมาณของสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีจำนวน 6 กองทุนในสังกัดให้มีดำเนินการต่อ หรือ ยุบ ถ่ายโอน สังกัดในเนื้องานของกระทรวงหนึ่งใน 6 นี้คือ กองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ที่อยู่ในนโยบายเร่งด่วนของรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ดำเนินการตั้งแต่ปี 2555
โดยออกแบบให้กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีเป็นแหล่งเงินทุนทั้งกองทุนหมุนเวียน (เงินกู้) และ กองทุนเงินอุดหนุน (ให้เปล่า) ให้สตรีมีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปนำไปพัฒนาอาชีพสร้างงาน สร้างราย เพื่อการสร้างสุขภาวะ ความมั่นคงในชีวิต และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น รวมทั้งเป็นกองทุนเพื่อการพัฒนาภาวะผู้นำ พัฒนาบทบาท ศักยภาพสตรี องค์กรเครือข่ายสตรี เพื่อยกระดับการมีส่วนร่วมของสตรีในการพัฒนาประเทศทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมให้เข้มแข็งและเป็นรูปธรรมมากขึ้น
กองทุนพัฒนาบทบาทสตรีแบ่งงบประมาณออกเป็น 2 กองทุนคือ กองทุนเงินหมุนเวียน มีเงินกองทุนร้อยละ 80 ของเงินที่รัฐบาลจัดสรรให้ตามจำนวนประชากรในแต่ละจังหวัดและเป็นการจัดสรรงบประมาณให้เพียงครั้งเดียว จากนั้นคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีต้องช่วยกันบริหารเงินที่ให้กู้ไป และนำเอาดอกผลซึ่งมาจากการให้กู้ไปเป็นเงินหมุนเวียนต่อยอดขยายผล กองทุนนี้กำหนดให้มีดอกเบี้ยประมาณร้อยละ 3 หรือปลอดดอกเบี้ย (กรณีของสตรีชาวมุสลิม เรียกว่า ค่าธรรมเนียม) สำหรับการกู้ยืม ในส่วนอีกกองทุนหนึ่งคือกองทุนเงินอุดหนุนมีเงินกองทุนร้อยละ 20 สำหรับกองทุนนี้เป็นเงินให้เปล่า สำหรับสมาชิกที่มาขอรับการสนับสนุนเพื่อพัฒนาศักยภาพของสตรี หรือแก้ไขปัญหาสตรีในหลากหลายมิติ
ล่าสุด คสช.มีคำสั่งให้โอนย้ายกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีไปสังกัดกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย และให้พิจารณาทบทวนหรือยุบรวมภารกิจเข้ากับกระทรวงมหาดไทย ซึ่งในขณะนี้ก็ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากระทรวงมหาดไทยโดยเฉพาะกรมการพัฒนาชุมชนจะเลือกแนวทางไหน คือ จะทบทวนและดำเนินการอย่างที่ดำเนินการมาแล้ว 2 ปี หรือยุบรวมเป็นภารกิจหนึ่งของกรมพัฒนาชุมชน สตรีจำนวน 24 ล้านคนกำลังเฝ้าจับตาดูความเคลื่อนไหวและแน่นอนว่าย่อมมีกลุ่มสตรีหลากหลายมุมมองส่งสัญญาณไปยังคสช.และ กระทรวงมหาดไทยว่าฟังเสียงผู้หญิงหรือยังคะท่านคสช.
ผู้เขียนมีข้อเสนอที่เกิดจากการพูดคุยกับผู้หญิงกลุ่มต่างๆ คิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ เพื่อให้งบประมาณแผ่นดินที่ได้ทุ่มไปแล้วกว่า 7,700 ล้านไม่สูญเปล่าสามารถนำต่อยอดขยายผลในการส่งเสริมบทบาทยกระดับสตรี ให้มีศักยภาพทางความคิด และภาวะการเป็นผู้นำมีพื้นที่ในการมีส่วนร่วมเชิงคุณภาพคือร่วมตัดสินใจในการบริหารจัดการ ตั้งแต่ในครอบครัว ความรับผิดชอบต่อสังคม ไปจนถึงเรื่องชาติบ้านเมือง เป็นเรื่องที่คสช.ต้องให้ความสำคัญระดับสูงสุด เพื่อให้สอดคล้องกับพันธะกิจของประเทศไทยในฐานะภาคีสมาชิกของอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีทุกรูปแบบ (CEDAW)
รวมทั้งแผนปฏิบัติการปักกิ่งเพื่อความก้าวหน้าของสตรีและแผนพัฒนาสตรีแห่งชาติ ฉบับที่ 11 ซึ่งเป็นคัมภีร์ที่ทุกรัฐบาลต้องใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความเสมอภาคและความเป็นธรรมระหว่างเพศ รวมทั้งเพื่อให้การปรับกระบวน ปฏิรูปประเทศมีผลต่อการส่งเสริมบทบาท และสร้างพลังกลุ่มสตรีเชิงคุณภาพที่ยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนทำได้สำเร็จเลย ทางเลือกที่คสช. ควรรับไปพิจารณาตามคำมั่นสัญญาของสุภาพบุรุษ ที่กล่าวไว้ว่า เราจะคืนความสุขให้ประเทศนั้นหมายรวมถึงพลเมืองหญิงที่ต้องเป็นสุขและมีส่วนร่วมด้วย
ทางเลือกที่ 1 คสช.และกรมการพัฒนาชุมชนกระทรวงมหาดไทยต้องใจกว้างโดยเป็นเพียงที่ปรึกษาสนับสนุนและเปิดพื้นที่ให้กลุ่มสตรีเป็นผู้ดำเนินการกันเอง โดยขอให้มีการคัดเลือกคณะกรรมการชุดใหม่แทนชุดเก่าที่อยู่ในช่วงรักษาการ ซึ่งจะต้องหมดวาระไปในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 คือ ตัดโครงสร้างคณะกรรมการชาติออก ขอให้คงไว้ซึ่งคณะกรรมการกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีจังหวัดและตำบลตามกระบวนการเดิม โดยให้มีการทำประชาคมหมู่บ้านคัดเลือก โดยที่ผู้หญิงทุกคนที่มีบัตรประชาชน มีสิทธิที่จะเข้าไปสมัครเป็นได้ทั้งผู้สมัครรับเลือกเป็นผู้แทนและผู้ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง เพื่อคัดเลือกผู้หญิงที่มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในการทำงานเรื่องสตรีอย่างน้อย 5 ปี เข้ามาบริหารจัดการกองทุน โดยกรมพัฒนาชุมชนเป็นที่ปรึกษาและสนับสนุน การทำงานเท่าที่จำเป็น เพื่อสร้างโอกาสและพื้นที่ยืน รวมทั้งกระบวนการเรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการกองทุนให้กลุ่มผู้หญิงได้แสดงบทบาทและฝีมือเต็มที่
ในส่วนของงบประมาณกองทุนพัฒนาบทบาทสตรีที่คสช.ดึงไปใช้ในส่วนอื่นขอให้คสช.ทบทวนโดยให้คงไว้เพื่อกลุ่มสตรีสามารถนำเงินมาพัฒนาศักยภาพและสร้างความเข้มแข็งให้กลุ่มสตรี เพื่อลดปัญหา มิติ เปราะบางของสตรีและครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่อยู่อาศัย ความรุนแรงต่อเด็กสตรี ปัญหาการค้ามนุษย์ การตั้งครรภ์ไม่พร้อม ผู้ต้องขังหญิง ยุวชนสตรี รวมทั้ง ปัญหายาเสพติดในกลุ่มสตรี และหลายประเด็น กลายเป็น ปัญหาเร่งด่วนสำคัญระดับชาติในขณะนี้
ทางเลือกที่ 2 หากกรมพัฒนาชุมชนเลือกยุบรวมเป็นภารกิจหนึ่งของกรมการพัฒนาชุมชน ซึ่งพอจะเห็นแนวทางว่าคงไม่พ้นการตีกรอบศักยภาพของสตรีในมิติทางเศรษฐกิจคือสร้างงาน สร้างรายได้ ที่เราพอจะมองเห็นภาพโอท็อป กลุ่มสตรียังคงวนเวียนอยู่กับเรื่องทำมาหากิน จริงอยู่หากไปสำรวจความต้องการของสมาชิกของกองทุนพัฒนาบทบาทสตรี ข้อมูลจากหลายหน่วยงานพบว่ากลุ่มสตรีส่วนมาก ต้องการให้สนับสนุนเรื่องรายได้ให้เพียงพอต่อการจ่ายใช้ภายในครอบครัวนั้นแน่นอน หากครอบครัวใดผู้ชายในฐานะผู้นำครอบครัว ขาดความรับผิดชอบต่อการดูแลสมาชิก และหรือมีหลายครอบครัว หรือ เสพติดอบายมุข การพนัน เหล้า เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้ที่ต้องดูแลและหาเลี้ยงครอบครัวคือ "แม่" ผู้หญิงที่ย่อมไม่อยากเห็นลูกหรือสมาชิกในครอบครัวอยู่ในฐานะลำบาก หลายคนต้องบากหน้าทำงาน หารายได้และแบกหนี้สินไว้บนบ่า
ผู้หญิงส่วนมากจึงต้องบริหารเวลาในกับเรื่องการทำมาหากินและการทำงานบ้านประเภทตื่นก่อนนอนทีหลัง ไม่มีเวลาพอสำหรับเรื่องอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาตนเองหรือการเข้าร่วมการประชุมในเวทีชุมชน การติดตามข่าวสารบ้านเมือง และที่น่าตกใจคือข้อมูลของสมาชิกกองทุนพัฒนาสตรีที่มีอยู่ประมาณ 9 ล้านคน มีระดับการศึกษาสูงสุดอยู่ในระดับประถมและมัธยมศึกษา มีอาชีพเป็นแม่บ้าน เกษตรกรและอาชีพอิสระ ขาดความมั่นใจในตนเอง เขียนอ่านได้แบบไม่ซับซ้อน ชีวิตจึงถูกตรึงอยู่ในบริบทของครอบครัว และกลายเป็นผู้หญิงกลุ่มใหญ่ของประเทศที่นักการเมืองมักเข้าไปแสวงหาประโยชน์ ในช่วงการหาเสียง และผู้หญิง ก็มักเป็นกลุ่มที่ถูกกระทำ เพราะขาดโอกาส เข้าไม่ถึงนโยบาย หรือถูกเลือกปฏิบัติ แบบซ้ำซาก แถมไม่น่าเชื่อว่าในยุคข้อมูลข่าวสาร และกระทรวงศึกษาได้ประกาศในหลายปีที่ผ่านมาให้การไม่รู้หนังสือของประชาชนต้องเป็นศูนย์ แต่เรากลับพบผู้หญิงหลายต่อหลายคนอ่านหนังสือไม่ออกเขียนไม่ได้ และอีกหลายคนยังถูกหลอกลวงให้ขนยาเสพติดโดยไม่รู้ว่าเป็นยาเสพติดโดยชายต่างชาติ และต้องกลายเป็นผู้ต้องหาขนยาเสพติด ต้องโทษประหารชีวิต ติดคุก อยู่ในหลายประเทศ
ทางเลือกข้อนี้จึงเป็นข้อท้าทายของคณะผู้บริหารประเทศ หน่วยงานภาครัฐต้องทำความเข้าใจเรื่องของสตรีอย่างลึกซึ้งถึงแก่น และมองให้เห็นถึงความคาดหวังและภาระความรับผิดชอบที่สังคมได้เรียกร้องต่อผู้หญิงให้เสียสละมาเป็นเวลานานหลายร้อยปี ความไม่เข้าใจในปัญหาผู้หญิงจึงทำให้ที่ผ่านมาไม่มีแผนระดับชาติ กลไก และงบประมาณที่เพียงพอ มารองรับสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสตรี หรือส่งเสริมสตรี ให้มีบทบาทลงมือทำด้วยตัวเองอย่างจริงจัง หรือหากมีการดำเนินการอยู่ก็มักจะไปฝากแปะไว้ที่กระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง การเป็นของฝากมีนัยที่ไม่เห็นความสำคัญและยังหมายรวมถึงการเห็นกลุ่มสตรี เป็นเพียงผู้รับบริการ ที่รอรับเพียงการช่วยเหลือเท่านั้น ทำให้การมีส่วนร่วมหรือความรู้สึกเป็นเจ้าของ อยากมีส่วนร่วม ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ในกระบวนการเรียนรู้ของผู้หญิงจึงกลายเป็นศูนย์
ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงในปัจจุบันไม่ว่าจะเป็นประเด็นปัญหาความรุนแรงภายในครอบครัว หรือความรุนแรงทางเพศที่มีทั้งมิติความเข้มข้นของความรุนแรงและจำนวนความรุนแรงที่สูงมากขึ้นไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยมิติทางเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว ดังนั้น หากผู้บริหารประเทศมองว่าปัญหาที่สตรีประมาณ 33 ล้านคนกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันเป็นปัญหาใหญ่และควรได้รับการแก้ไขก็ต้องฟังเสียงผู้หญิงด้วยค่ะ