จาก FATCA สู่เหรียญเด็กน้อย
ในช่วงที่ผ่านมาพลังของโซเชียลเน็ตเวิร์ค ทำให้พนักงานแบงก์ที่ประจำอยู่ในสาขาทั่วประเทศ ต้องทำงานหนักมากขึ้น
ทั้งในเรื่องข่าวการปฏิเสธที่จะรับเหรียญ จากเด็กที่ทุบกระปุกเงินออมมาฝากธนาคาร หรือจะเป็นเรื่องของการเปิดบัญชีเพื่อทำธุรกรรมทางการเงินที่ยุ่งยากมากขึ้น เพื่อให้เป็นไปตามข้อตกลงเพื่อความร่วมมือด้านภาษีอากร ระหว่างไทยกับสหรัฐอเมริกา (Foreign Account Tax Compliance Act) หรือ FATCA นับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา
ในเรื่องแรกเป็นปัญหาเล็ก ๆ ที่การสื่อสารของพนักงานอาจไม่ถูกวิธีหรือไม่ถูกจริตกับลูกค้า แต่ร้อนไปถึงวังบางขุนพรหม หรือธนาคารแห่งประเทศไทย ที่เป็นผู้กำกับเมื่อข้อความเหล่านี้ถูกถามผ่านช่องทางของ Line ต่อเนื่อง จนอาจต้องทบทวน การเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการฝากเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งค่าธรรมเนียมในการรับฝากเหรียญมีการเรียกเก็บมาหลายปีแล้ว เพราะการรับฝากและจัดเก็บเหรียญ ถือเป็นภาระอย่างหนึ่งของพนักงานสาขา ทั้งเวลาในการนับและพื้นที่ในการจัดเก็บ โดยเฉพาะความกดดันในภาวะที่ต้องเร่งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ ความรวดเร็วในการให้บริการถือเป็น KPI สำคัญของสาขา
แต่ละธนาคารมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าวแตกต่างกันไป เช่นรับฝากได้ แต่ต้องไม่เกิน 2,000 บาท หากเกินกว่านั้นจะคิดค่าธรรมเนียม 2 บาทเป็นต้น เหล่านี้เป็นค่าธรรมเนียมที่ลูกค้าทั่วไปอาจไม่รู้ แต่พนักงานสาขามีหน้าที่ในการสร้างความเข้าใจ
เช่นเดียวกับกรณีของการเปิดบัญชีธนาคาร ที่ลูกค้าต้องรายงานตัวว่ามีพลเมืองอเมริกัน หรือมีถิ่นที่อยู่ในอเมริกาหรือไม่ หากใช่ ข้อมูลของลูกค้าคนดังกล่าวก็จะถูกรายงานไปยังสรรพากรสหรัฐ (Internal Revenue Service) หรือ IRS เพื่อการตรวจสอบภาษีของชาวอเมริกันที่มีรายได้จากนอกสหรัฐ ซึ่งเป็นกฎหมายที่ประเทศยักษ์ใหญ่อย่างแสดงอำนาจกับประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ส่งข้อมูลเหล่านี้ให้ มิเช่นนั้นธุรกรรมที่มีในสหรัฐจะถูกเก็บภาษีสูงถึง 30% ในโลกทุกวันนี้ธุรกรรมทางการเงินในโลกล้วนเชื่อมต่อกันหมด คงเป็นเรื่องยากที่จะปฏิเสธการให้ความร่วมมือ
ขณะเดียวกันการให้บริการลูกค้าจะต้องลดความยุ่งยากให้ได้มากที่สุด เพราะเมื่อเป็นกฎหมายที่ต้องปฏิบัติแล้ว หากลูกค้าไม่กรอกข้อมูลเหล่านี้ สถาบันการเงินก็คงไม่สามารถเปิดบัญชีหรือทำธุรกรรมให้ได้ ซึ่งเอกสารที่ต้องกรองเพิ่มสมาคมธนาคารไทยออกแบบให้ง่ายต่อการกรอกข้อมูล หากไม่ใช่บุคคลที่มีสัญชาติอเมริกัน ไม่มีกรีนการ์ด หรือมีถิ่นที่อยู่ในสหรัฐ ก็ข้ามไปได้ แต่ในส่วนนี้หากลูกค้ากรอกข้อมูลเป็นเท็จ หากถูกตรวจสอบย้อนหลังก็จะเกิดผลเสียกับลูกค้าเอง
หลังจากปฏิบัติตามกฎหมายมาครบ 1 เดือน บรรดาสาขาแบงก์ยอมรับว่ามีเสียงบ่นของลูกค้าและความจุกจิกที่ต้องรับภาระเพิ่มทั้งการอธิบายความให้ลูกค้าเข้าใจ และงานเอกสารที่ต้องดำเนินการเพิ่มขึ้น ทั้งที่ลูกค้าที่เข้าข่ายต้องรายงานข้อมูลมีน้อยมากแบงก์ประเมินว่ามีไม่ถึง 1% แม้ที่เหลือทั้งเกือบ 100% จะไม่มีการนำข้อมูลไปให้สรรพากรสหรัฐก็ตาม แต่ธนาคารก็ต้องดำเนินการทางเอกสารกับลูกค้าทั้งหมด
ทั้งเรื่องเล็กและเรื่องใหญ่เหล่านี้เป็นต้นทุนที่ธนาคารต้องแบกรับเพิ่ม แต่หากพนักงานสาขาไม่ทำความเข้าใจกับลูกค้า แล้วก็จะเป็นต้นทุนที่ใหญ่ขึ้นของธนาคาร ในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นสื่อที่ทรงอิทธิพลเช่นนี้
แอบคิดเล่นๆ ว่าถ้าเด็กคนนี้เป็นลูกครึ่ง หรือมีสัญชาติอเมริกัน แล้วทุบกระปุกมาฝากเงินกับธนาคาร เรื่องนี้อาจจะสนุกกว่านี้ก็ได้