อย่าหลงทางกับสิ่งที่เรียกว่า "ห้องเรียนอัจฉริยะ"

ข่าวบอกว่าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งเบรกโครงการ "ห้องเรียนอัจฉริยะ"
ซึ่งเดิมเตรียมจะปูพรมไปทั่วทั้งหมด 19,000 ห้องเรียนทั่วประเทศและต้องใช้เงินหลายพันล้านบาท
คำว่า "smart classroom" ที่เคยเป็นทิศทางของคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) นั้นจะเป็นการซื้ออุปกรณ์คอมพิวเตอร์ให้ทุกห้องเรียนแทนโครงการแจกคอมพิวเตอร์พกพาหรือ "แทบเล็ต" ซึ่งสำหรับปีงบประมาณใหม่จะต้องใช้งบประมาณถึง 6,970 ล้านบาท
คสช. มีคำสั่งให้ใช้งบอย่างประหยัด เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่กำหนดตายตัวว่าจะต้องจัดห้องเรียน "สมาร์ทคลาสรูม" แต่ให้ดูความต้องการของโรงเรียนและเพื่อจัดอุปกรณ์เพิ่มเติมให้ตามความเหมาะสม
ข่าวบอกด้วยว่าสำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ได้สำรวจโรงเรียนในสังกัด 38,000 โรงอย่างละเอียดว่าโรงเรียนมีอุปกรณ์ไอซีทีอะไรบ้าง เพื่อวิเคราะห์ว่าจะพัฒนาการศึกษาโดยใช้ไอซีทีในโรงเรียนแต่ละแห่งในรูปแบบใดบ้าง ไม่จำเป็นต้องเหมือนกันหมด ให้เป็นไปตามสภาพจริงและความต้องการของแต่ละโรงเรียน
ในเบื้องต้นวางไว้ว่าสำหรับโรงเรียนขนาดเล็ก 1,615 แห่ง จะเน้นไปทางเทคโนโลยีการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมเพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนครู
สำหรับโรงเรียนขนาดกลางและขนาดใหญ่ ต้องหารูปแบบการใช้ไอซีทีเพื่อพัฒนาการศึกษา แต่ยังไม่มีข้อสรุปใด ๆ และ สพฐ.ก็จะไม่สรุปเอง จะส่งข้อมูลให้ฝ่ายสังคมจิตวิทยาของ คสช.สรุปเอง
ความจริงคำว่า “ห้องเรียนอัจฉริยะ” นั้น เริ่มต้นก็ผิดแล้ว เพราะความเป็นอัจฉริยะไม่ได้อยู่ที่อุปกรณ์ทันสมัย ราคาแพง หากแต่อยู่ที่ประสิทธิภาพของครูและวิธีการสอนให้เด็กเข้าใจ และมีความกระตือรือร้นในการเรียนรู้และสนุกกับการที่จะได้คิดเองทำเอง
ความคิดเรื่องการแจกแทบเล็ตให้เด็กประถมหนึ่งทุกคน ก็ผิดตั้งแต่เริ่มคิดแล้ว เพราะมีพื้นฐานมาจาก “ประชานิยม” ที่ต้องการจะให้คนนิยมนักการเมืองที่เอางบประมาณประชาชนมาแจกของให้เด็กทั้ง ๆ ที่ไม่มีความพร้อมและไม่มีอะไรพิสูจน์ได้ว่าการที่ให้เด็กไทยทุกคนมีคอมพิวเตอร์พกพาแล้วจะทำให้ฉลาดขึ้นหรือเก่งขึ้นเลยแม้แต่น้อย
เมื่อเลิกโครงการแจกแทบเล็ต ก็มีความคิดเรื่อง “ห้องเรียนอัจฉริยะ” ซึ่งความจริงก็เป็นเพียงการซื้อเครื่องอุปกรณ์มาใช้ร่วมกันในห้องเรียนเท่านั้นเอง ไม่เกี่ยวกับความเป็นอัจฉริยะตรงไหนเลย
ความคิดนี้เกิดจากบริษัทขายคอมพิวเตอร์บางแห่งเสนอไปที่กระทรวงศึกษาธิการ เพื่อขายของมากกว่า เพราะเอาเข้าจริง ๆ แล้วหากเราจะทำให้ห้องเรียนเป็นที่สร้างอัจฉริยะจริง ต้องเริ่มที่บรรยากาศการเรียนการสอน, คุณภาพของครู, หลักสูตรที่สอดคล้องกับการพัฒนาสมองของเด็ก, และการให้เยาวชนไทยกล้าคิดกล้าถามและคิดเอง
บางครั้ง การให้มีอุปกรณ์ทันสมัยมาก ๆ ในห้องเรียนก็อาจเป็นอุปสรรคต่อการกระตุ้นให้เด็กคิด เขียน และตั้งคำถามด้วยซ้ำไป
ดังนั้น หนึ่งในหัวข้อสำคัญยิ่งของการปฏิรูปครั้งนี้ จะต้องเป็นเรื่องการศึกษาที่ทุกฝ่ายจะต้องมาระดมความคิดความเห็นเพื่อยกเครื่องระบบการศึกษาไทยอย่างจริงจัง ไม่เอาเรื่องผิวเผินมาเป็นสาระ และไม่วิ่งตามกระแสจนลืมเนื้อหาของการสร้างคนสร้างสมองอย่างเป็นระบบที่ต่อเนื่องและจริงจัง
การสร้างคนด้วยการศึกษาไม่มีทางลัด เทคโนโลยีช่วยเสริมการสร้างทักษะในการเรียนการสอนแน่นอน แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการปฏิรูปการศึกษาเท่านั้น
เพราะเนื้อแท้ของการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาอย่างจริงจังนั้น กลับมาอยู่ที่การอบรมบ่มเพาะความคิดความอ่านที่สร้างสรรค์ กล้าคิดกล้าถาม และความสัมพันธ์ระหว่างครู นักเรียนและผู้ปกครองในชีวิตประจำวันของสังคม