หกปีแห่ง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร

หกปีแห่ง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค  ผู้บริโภคได้ประโยชน์อย่างไร

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มีผลบังคับใช้เมื่อช่วงปลายปี 2551 จนถึงปัจจุบันนี้ก็หกปีแล้ว

มีแนวคำพิพากษาและคำวินิจฉัยของศาลจำนวนมากตามกฎหมายฉบับนี้ ซึ่งมีความสำคัญและเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจและอาจจะมีความจำเป็นต้องฟ้องคดีโดยอาศัยกฎหมายวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค ซึ่งผู้เขียนขอยกบางเรื่องที่น่าสนใจมาแบ่งปันกันค่ะ

สำหรับกฎหมายฉบับนี้ ผู้อ่านหลายๆ ท่านอาจจะเข้าใจว่าใช้บังคับกับคดีระหว่างผู้บริโภค ซึ่งเป็นประชาชนคนธรรมดากับบริษัทห้างร้านที่ประกอบธุรกิจ ขายสินค้าหรือให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าผู้บริโภคตามกฎหมายฉบับนี้มีความหมายกว้างกว่านั้นค่ะ

คำว่า “ผู้บริโภค” ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค บัญญัติให้ใช้นิยามตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค และให้หมายความรวมถึงผู้เสียหายตามกฎหมายเกี่ยวกับความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัยด้วย สำหรับนิยามของผู้บริโภคตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองผู้บริโภค คือ “ผู้ซื้อหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจหรือผู้ซึ่งได้รับการเสนอหรือการชักชวนจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อให้ซื้อสินค้าหรือรับบริการ และหมายความรวมถึงผู้ใช้สินค้าหรือผู้ได้รับบริการจากผู้ประกอบธุรกิจโดยชอบ แม้มิได้เป็นผู้เสียค่าตอบแทนก็ตาม”

ฉะนั้น คำว่าผู้บริโภค อาจหมายถึงนิติบุคคล หรือบริษัทใหญ่ๆ ที่ทำสัญญาซื้อสินค้าหรือบริการกับอีกบริษัทหนึ่งก็ได้ เช่น เมื่อปี 2551 ประธานศาลอุทธรณ์ได้เคยวินิจฉัยไว้ว่า คดีเกี่ยวกับสัญญาประกันภัยระหว่างบริษัทด้านธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดอากรขนาดใหญ่แห่งหนึ่ง กับบริษัทประกันภัย เป็นคดีผู้บริโภค นอกจากนี้ยังมีกรณีอื่นๆ อีกหลายกรณีเช่น กรณีนิติบุคคลอาคารชุดมีข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาจ้างทำความสะอาดอาคารชุดกับบริษัททำความสะอาด หรือนิติบุคคลบ้านจัดสรรฟ้องบริษัทผู้จัดสรรที่ดินเพื่อให้โอนที่ดินส่วนที่เป็นสาธารณูปโภคและชำระค่าบำรุงรักษาสาธารณูปโภค ก็มีคำวินิจฉัยว่าเป็นคดีผู้บริโภคเช่นกัน ดังนั้น จะเห็นได้ว่าสถานะความเป็น “ผู้บริโภค” ตามกฎหมายไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นประชาชนทั่วไปที่ซื้อสินค้าและบริการแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น

สำหรับประโยชน์ที่จะได้รับจากการที่คดีที่ฟ้องร้องกันถูกจัดประเภทให้เป็นคดีผู้บริโภคมีอยู่หลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่กฎหมายฉบับนี้ช่วยให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับความคุ้มครองให้สามารถใช้สิทธิเรียกร้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และได้รับการเยียวยาด้วยความรวดเร็วยิ่งขึ้น ซึ่งประเด็นหนึ่งที่ผู้บริโภคในคดีผู้บริโภคได้ประโยชน์มากกว่าคดีแพ่งทั่วไปก็คือเรื่องอายุความค่ะ

เป็นที่ทราบกันดีว่าในการที่จะฟ้องร้องเอาความกับใครนั้น อายุความเป็นเกณฑ์สำคัญที่จะกำหนดว่าผู้ฟ้องยังมีสิทธิที่จะฟ้องอยู่หรือไม่ เพราะกฎหมายมิได้มีวัตถุประสงค์ให้มีการนอนหลับทับสิทธิ์ หากใครได้รับความเสียหายจากการกระทำของผู้อื่นก็ควรเร่งดำเนินการเรียกร้องสิทธิ์ของตนเองภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด แต่ในบางกรณีผู้บริโภคก็อาจตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบ ทั้งในแง่ความไม่รู้เกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาในการฟ้องคดี หรืออาจมีความเข้าใจผิดว่าหากตนได้ติดต่อ พูดคุย เจรจากับฝ่ายตรงข้ามแล้วเขายังอยู่ระหว่างเดินเรื่องให้ก็ไม่น่าจะเป็นอะไร โดยมิได้ตระหนักว่าหากฝ่ายตรงข้ามยังไม่มีการยอมรับผิดหรือกระทำการบางอย่างที่กฎหมายถือว่าเป็นการยอมรับผิด สิทธิในการฟ้องคดีก็อาจหมดลงได้

มาตรา 14 ของพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค บัญญัติว่า “ถ้ามีการเจรจาเกี่ยวกับค่าเสียหายที่พึงจ่ายระหว่างผู้ประกอบธุรกิจและผู้บริโภคหรือผู้มีอำนาจฟ้องคดีแทนผู้บริโภค ให้อายุความสะดุดหยุดอยู่ไม่นับในระหว่างนั้นจนกว่าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้บอกเลิกการเจรจา”

นั่นหมายความว่า หากมีการเจรจาระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับผู้บริโภค เกี่ยวกับค่าเสียหายที่จะต้องชำระกัน อายุความในการฟ้องคดีก็จะสะดุดหยุดอยู่ในระหว่างนั้น หากการเจรจาไม่เป็นผลและยุติลงเมื่อใด อายุความจึงจะเริ่มเดินต่อไปอีกครั้ง เท่ากับเป็นการขยายระยะเวลาให้กับผู้บริโภคให้ยังคงมีสิทธิในการฟ้องคดีต่อไปในระหว่างการเจรจา

ซึ่งหากเปรียบเทียบกับกรณีคดีแพ่งทั่วไปก็จะพบว่ามาตรานี้ให้ประโยชน์แก่ผู้บริโภคมากกว่า โดยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ซึ่งใช้กับคดีแพ่งทั่วไป) มาตรา 193/14 บัญญัติว่า

“อายุความ ย่อมสะดุดหยุดลง ในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้ชำระหนี้บางส่วน ชำระดอกเบี้ย ให้ประกัน หรือ กระทำการใดๆ อันปราศจากข้อสงสัย แสดงให้เห็นเป็นปริยายว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง …

(5) เจ้าหนี้ได้กระทำการอื่นใดอันมีผลเป็นอย่างเดียวกันกับการฟ้องคดี”

จะเห็นได้ว่ากรณีคดีแพ่งทั่วไปที่ไม่ใช่คดีผู้บริโภค ลูกหนี้จะต้องมีการรับสภาพหนี้ คือยอมรับผิดก่อนอายุความจึงจะสะดุดหยุดลง ดังนั้น กรณีที่บริษัทประกันภัยยังไม่จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แต่ใช้เวลานานในการพิจารณาว่าจะชดใช้ให้หรือไม่ อย่างไร โดยที่ยังไม่ยอมรับว่าจะจ่ายแต่ประการใด ก็จะไม่เข้ากรณียอมรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่หากบริษัทประกันภัยกับผู้เอาประกันภัยอยู่ระหว่างการเจรจากัน มีการให้ข้อมูลเอกสารเพิ่มเติมระหว่างกันก็อาจจะเข้าเงื่อนไขอายุความสะดุดหยุดอยู่ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคได้ ในเรื่องนี้เป็นประเด็นที่ผู้บริโภคควรทราบไว้เพื่อที่จะสามารถใช้สิทธิตามกฎหมายได้อย่างเต็มที่ค่ะ

--------------------------

บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียนอันเป็นความเห็นในทางวิชาการ และไม่ใช่ความเห็นของบริษัท อัลเลน แอนด์ โอเวอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด ที่ผู้เขียนทำงานอยู่