'ฝีมือชน คนสร้างชาติ' : อาชีวะสำคัญกว่าปริญญา

'ฝีมือชน คนสร้างชาติ' : อาชีวะสำคัญกว่าปริญญา

ผมไปไหนในวงการธุรกิจจะได้รับฟังเสียงบ่นขาดแคลน “ช่างฝีมือ” ในเกือบทุกวงการ

ขณะที่มีปัญหาว่าเด็กไทยไม่นิยมเรียน “อาชีวะ” มุ่งแต่จะเรียนเอาปริญญาตรีอย่างเดียว ทำให้เกิดภาวะขาดดุลบุคลากร ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศอย่างรุนแรงยิ่ง

จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่มีโครงการ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” อันเป็นการร่วมมือระหว่างมูลนิธิเอสซีจี, หอการค้ากับสภาหอกับการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา

เป้าหมายคือการส่งเสริมให้เยาวชนไทยเรียนสายอาชีวะ และให้เด็กและผู้ปกครองปรับเปลี่ยนค่านิยมให้เข้าใจว่าความสำเร็จในชีวิตนั้น ไม่ได้อยู่ที่การมีปริญญา หากแต่การมีทักษะที่ตลาดต้องการ อีกทั้งยังมีรายได้ดี และสังคมให้ความเคารพยกย่อง

“ฝีมือชน” มีความหมายของการเป็นบุคลากร ที่เป็นนักคิดนักปฏิบัติที่เชี่ยวชาญสายวิชาชีพ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ

กิจกรรมของโครงการนี้ที่น่าสนใจคือ การนำรุ่นพี่สายช่างที่ประสบความสำเร็จในหน้าที่งานการ มาเล่าประสบการณ์ มุ่งมั่นเดินตามความฝัน เป็นแรงบันดาลใจให้กับน้อง ๆ

และคงต้องเสริมด้วยการรณรงค์ให้พ่อแม่ผู้ปกครองได้เห็นว่าการเป็น “ช่างฝีมือ” ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่ขาดแคลนของประเทศไทยนั้นไม่ได้ด้อยไปกว่าการจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัย

ปัญหาของเด็กจบมหาวิทยาลัยวันนี้คือ หางานทำยากขึ้นทุกวัน โดยเฉพาะสำหรับเยาวชนที่ไม่มีความรู้ความเชี่ยวชาญไปทางใดทางหนึ่ง และมีทัศนคติที่ผิด ๆ ว่าใบปริญญาสำคัญกว่าการมีฝีมือและ “ทำงานเป็น”

ชาติที่พัฒนาแล้ว และสามารถสร้างประเทศจากระดับยากจนเป็นประเทศร่ำรวยล้วนแล้ว แต่ให้ความสำคัญกับการสร้าง “ช่างฝีมือ” ที่เป็นที่ต้องการสำหรับวันนี้และวันข้างหน้า

อุตสาหกรรมหลายภาคส่วนของไทยทุกวันนี้ขาดแคลนช่างฝีมืออย่างหนัก จนบริษัทต่างประเทศที่มาลงทุนในประเทศไทย ต้องตั้งโรงเรียนเพื่อสอนคนไทยให้เป็นช่างฝีมือในด้านต่าง ๆ เอง เพราะสถาบันการศึกษาของไทยไม่สามารถตอบสนองความต้องการนี้ได้

และเมื่อลงมือฝึกฝันอย่างจริงจัง ช่างฝีมือไทยเก่งกว่าเพื่อนบ้านทุกประเทศได้ไม่ยากเย็นอะไรเลย

อีกหลายบริษัทต้องจ้างช่างฝีมือจากประเทศเพื่อนบ้าน และกำลังจะส่งงานฝีมือจากไทยไปยังประเทศประเทศลุ่มน้ำโขงอื่น ๆ ที่พร้อมจะเข้าสู่กระบวนการฝึกฝนเพื่อทำอาชีพเป็นช่างฝีมือ โดยไม่จำเป็นต้องมีปริญญาบัตร

การจะสร้าง “ค่านิยม” แบบ “ฝีมือชน คนสร้างชาติ” ไม่จำเป็นต้องหมายความว่าจะไม่ให้เด็กเรียนอาชีวะไปต่อปริญญา แต่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ว่า การเรียนรู้ด้านอาชีวะหรือ vocational education นั้นไม่ได้มีศักดิ์ศรีและความเท่น้อยไปกว่าการเรียนปริญญาตรีในด้านสังคมศาสตร์, ศิลปศาสตร์หรือวิทยาศาสตร์แต่อย่างใด

หากเด็กไทยเข้าใจในความสำคัญของสาระแห่ง “วิชาชีพ” และเลือกเรียนด้านอาชีวะเพื่อทำงานฝีมือที่ขาดแคลนมากกว่าเพียงแค่ได้ชื่อว่าเป็น “บัณฑิต” แต่ทำงานอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันและคิดไม่เป็นระบบ, เราก็จะสามารถเบนเข็มเยาวชนไทยเป็นจำนวนมากไปสู่ทิศทางที่จะตอบสนองความต้องการของสังคมได้ และจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องทรัพยากรมนุษย์ได้ไม่น้อยเลย

ประสบการณ์ของผมเองยืนยันได้ถึงแนวโน้มเช่นว่านี้

ขณะที่มีนักศึกษาจบปริญญาตรีสมัครงานเกินกว่าตำแหน่งหลายเท่า, ผมต้องไปหาโรงเรียนอาชีวะเพื่อขอให้อาจารย์ผู้สอนช่วยหาช่างไฟฟ้าและช่างพิมพ์ให้กับสถานีโทรทัศน์และโรงพิมพ์และพร้อมจะจ่ายเงินเดือนสูงว่าเด็กจบปริญญาตรี อีกทั้งพร้อมจะให้ทำงานไปด้วยเรียนต่อปริญญาตรีไปด้วย

เพราะผู้ประกอบการส่วนใหญ่ทุกวันนี้ต้องการ “คนทำงานเป็น” เพราะเรียนด้วยมือเอง ไม่ต้องการ “คนเริ่มงานใหม่” ที่แม้จะจบปริญญามาแต่ไม่เคยจับต้องงานเป็นชิ้นเป็นอันเลย

“อาชีวะสร้างชาติ”คือความหวังของการฟื้นความสามารถของการแข่งขันของประเทศครับ