Passive Voice กับ ภาษาไทย

ในไวยากรณ์ภาษาอังกฤษ มี Passive Voice (กรรมวาจก) ในขณะที่ภาษาไทย เราไม่มีลักษณะดังกล่าว
แต่เข้าใจว่าความที่ปัจจุบัน ผู้คนน่าจะเรียนและรู้ภาษาอังกฤษมากขึ้น การแปล การเขียน และการพูดจากภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย จึงมีลักษณะของการใช้ กรรมวาจก ตามแบบฝรั่ง คือเห็นเขาเขียนอย่างไร ก็แปลออกมาตรงๆ อย่างนั้น
ธานินทร์ กรัยวิเชียร ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งในหนังสือ “ภาษากฎหมายไทย” (พิมพ์ครั้งที่ 11, 2555, หน้า 55) (หนังสือนี้พิมพ์ครั้งแรกตั้งแต่ 2511) ว่า
“พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวมีกระแสพระราชดำรัสไว้ในพระราชกฤษฎีกาตั้งวรรณคดีสโมสร พ.ศ. 2457, มาตรา 8 (2) เกี่ยวกับคุณลักษณะของหนังสือที่แต่งดีตอนหนึ่งมีความว่า
'...ใช้วิธีเรียบเรียงอย่างใดๆ ก็ตาม, แต่ต้องให้เป็นภาษาไทยอันดี, ถูกต้องตามเยี่ยงที่ใช้ในโบราณกาล, ฤๅในปัตยุบันกาลก็ได้, ไม่ใช่ใช้เป็นภาษาซึ่งเลียนภาษาต่างประเทศ, ฤๅใช้วิธีผูกประโยคประธานตามแบบภาษาต่างประเทศ ฯลฯ'.
และอีกตอนหนึ่ง
“เมื่อพิจารณาภาษากฎหมายไทยในตัวบทที่แปลมาจากภาษาอังกฤษแล้ว, จะเห็นได้ชัดเจนว่า, ผู้แปลพิถีพิถันไม่ยอมใช้กรรมวาจก (passive voice) โดยไม่จำเป็นเลย. ผู้แปลพยายามแปลโดยรักษาโวหารแบบไทยแท้ไว้โดยตลอด, และใช้กรรตุวาจก (active voice) เป็นประจำ. การใช้ประโยคในกรรมวาจกซึ่งไม่สมควรใช้ในภาษาไทยที่เราพบเห็นกันอยู่เสมอนั้น มิได้มาจากสำนวนในตัวบทกฎหมายไทยที่แปลมาจากภาษาอังกฤษเลย, หากแต่ผู้ใช้แปลหรือเคยชินมากับการใช้ภาษาอังกฤษตามลำพัง.
ข้อความที่ว่า:
'ครั้นเช็คนั้นถูกนำไปขึ้นเงินโดยเจ้าหนี้ของโจทก์ไม่ได้...'
'แม้ว่าข้อเรียกร้องทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากความผิดนี้จะได้ถูกชดใช้ให้จนหมดสิ้นไปแล้วก็ตาม...'
ไม่น่าจะมีใช้ในภาษาไทยเลย, ข้อความเหล่านี้เป็นภาษาพันทางโดยแท้. ภาษาไทยของเรานั้น, โดยปกติเราใช้กรรมวาจก (passive voice) แต่เฉพาะเรื่องที่เป็นอัปมงคลเท่านั้น, เป็นต้นว่า : ถูกครหานินทา, ถูกตำหนิ, ถูกลงโทษ, ถูกฆ่า, ถูกจับ, ถูกสอบสวน, ถูกกล่าวหา, และถูกฟ้อง ฯลฯ. กรณีที่จะใช้กรรมวาจกในเรื่องที่เป็นมงคลนั้น, ผู้เขียนยังนึกไม่ออกเลยจนคำเดียวในขณะเรียบเรียงเรื่องนี้. คำว่า "ถูกล็อตเตอรี่" จะถือเป็นกรรมวาจกเห็นจะยาก, หากแต่เป็นสำนวนในภาษาพูดเท่านั้นเอง”
ข้อเขียนวันนี้จึงเป็นการชวนท่านคิดว่า เราควรใช้โครงสร้างภาษาไทยให้ดีขึ้น คือจะเขียนฝรั่งก็เขียนแบบฝรั่ง เขียนภาษาไทยก็ให้เป็นลีลาแบบไทยๆ จะดีกว่า และทำให้การใช้ภาษาไทยประณีตขึ้นหรือไม่ เราควรระมัดระวังวิธีการใช้หรือไม่
อนึ่ง แม้ว่า ข้อความที่คัดมาข้างต้นจะอยู่ในหนังสือเกี่ยวกับกฎหมายก็ตาม ข้อเขียนนี้เห็นว่า ท่านผู้ประพันธ์น่าจะมุ่งหมายให้รวมถึงการเขียนในเรื่องทั่วไปด้วย
ท่านผู้อ่านที่เคยอ่าน สี่แผ่นดิน แล้ว คงจะยอมรับว่า ท่านผู้ประพันธ์ (คึกฤทธิ์ ปราโมช) ใช้ภาษาไทยได้ดีเลิศ แม้ว่าท่านรู้ภาษาอังกฤษดีไม่ยิ่งและหย่อนไปกว่าภาษาไทยเลย และไม่น่าจะมีการใช้กรรมวาจกผิดที่ผิดทางอีกด้วย
ข้อเขียนนี้มิได้ต้องการให้ท่านเคร่งเครียดในการใช้ภาษาไทย หรือมีความชาตินิยมสุดโต่งแต่อย่างใด แต่คิดว่า ภาษาอังกฤษ ภาษาไทย และภาษาอื่นๆ ในโลกนี้ ย่อมมีวัฒนธรรม เอกลักษณ์ และเสน่ห์ในตัวเอง ภาษาอังกฤษไม่ใช่ภาษาวิเศษวิโสกว่าภาษาอื่นๆ แต่ที่เราต้องเรียนรู้ก็เพื่อประโยชน์เป็นสื่อกลางในการสื่อสารในประการหนึ่งเท่านั้น
ส่งท้ายด้วยตัวอย่างของการใช้ภาษาไทยชั้นครูจากหนังสือเล่มเดียวกัน
"โดยปกติรับเด็กและเยาวชนที่ปฏิบัติตัวไม่ก้าวหน้าจากสถานฝึกอบรม"
ท่านผู้เชี่ยวชาญภาษาไทยท่านหนึ่ง ได้แก้ไขประโยคนี้ว่า
"โดยปกติรับเด็กและเยาวชนที่ฝึกและอบรมจากสถานฝึกอบรมแล้วแต่ไม่ดีขึ้น"