ภูฏาน : นิยามแห่ง"ดัชนีความสุข"

ภูฏาน : นิยามแห่ง"ดัชนีความสุข"

ผมไปภูฏานครั้งนี้เพื่อแสวงหาคำนิยามของ “ความสุข” ในดินแดนที่อยู่อ้อมกอดของเทือกเขาหิมาลัย

และได้คำตอบเกือบจะตรงกัน ว่าเป้าหมายของการพัฒนาประเทศ ไม่ใช่เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจอย่างเดียว แต่ต้องมี ดัชนีความสุข เป็นตัววัดที่สำคัญด้วย

ภูฏานเป็นประเทศเล็ก ๆ ทางเหนือคือ ทิเบตของจีน และทางใต้คืออินเดีย เท่ากับวางอยู่ตรงกลางระหว่างสองยักษ์ใหญ่ของโลก

ประชากรเพียง 750,000 คนของประเทศนี้ เพิ่งได้รับโอกาสเลือกตั้งผู้แทนของตัวเองมาไม่กี่ปีนี้เองเพราะกษัตริย์องค์ที่ 4 Jigme Singye Wangchuk สละราชสมบัติเมื่อเดือนธันวาคมปี ค..2006 ให้ราชโอรส Jigme Khesar Namgyel Wangchuk ขึ้นครองราชย์แทน

พร้อมกับมีรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ เพื่อให้ประชาชนเลือกตั้งรัฐสภา และรัฐบาลของตนเองในปีต่อมา

ประชาธิปไตยคู่ขนานกับเศรษฐกิจพอเพียงในรูปแบบของ Gross National Happiness (GNH)แทนที่จะเป็น Gross National Product (GNP)

ประเทศอื่น ๆ ทั้งหลายวัดการพัฒนาประเทศด้วยอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจที่เรียกว่า GNP หรือ GDP อันหมายถึงผลผลิตมวลรวมแต่ผู้นำภูฏานมีวิสัยทัศน์และความกล้าหาญทางการเมือง พอที่จะประเมินความสำเร็จหรือล้มเหลวด้วยดัชนีความสุข

และเขียนระบุ GNH ไว้ในรัฐธรรมนูญมาตรา 9 และมาตรา 20 ชัดเจน

Article 9 - Principles of State Policy: "The State shall strive to promote those conditions that will enable the pursuit of Gross National Happiness."

Article 20 - The Executive: "The Government shall protect and strengthen the sovereignty of the Kingdom, provide good governance, and ensure peace, security, well-being and happiness of the people."

ซึ่งเน้นคำว่าความสุขของประชาชน เป็นหลักแห่งการปกครองประเทศ

อีกทั้งยังเขียนไว้ชัดเจนว่าป่าไม้จะต้องมีอย่างน้อย 60% ของที่ดินทั้งประเทศ

และกำหนดให้การบริหารประเทศยึดอยู่บน 4 เสาหลักคือ

1.ความสุขของประชาชน

2.รักษาสิ่งแวดล้อม

3.อนุรักษ์วัฒนธรรม

4.ธรรมาภิบาล

ผมพบปะผู้คนที่เมืองหลวงทิมพู, พาโร และพูนาคา ตามเส้นทางของการเดินทางก็ตั้งคำถามเดียวกันหมดว่า ความสุขคืออะไรสำหรับคุณ?”

ไม่ว่าจะเป็นคนอาชีพอะไร จะตอบคล้าย ๆ กันว่า ความสุขคือการแบ่งปัน และการทำให้คนอื่นมีความสุข

หลายคนบอกผมว่านิยามของความสุขไม่ได้อยู่ที่ตัวเอง หากแต่อยู่ที่ชุมชนและสังคมส่วนรวม

เขาเอารายได้จากการออกวีซ่าให้นักท่องเที่ยวมาอุดหนุนการศึกษา และรักษาพยาบาลฟรีให้กับประชาชน และให้นักท่องเที่ยวที่ถูกกำหนดให้ต้องจ่ายไม่ต่ำกว่าวันละ 250 ดอลลาร์ต่อวันต่อคนว่า ผู้มาเยือนมีส่วนช่วยเหลือการสร้าง ความสุข ให้กับประชาชนชาวภูฏาน

และนักท่องเที่ยวจะต้องช่วยกันปกปักรักษาธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมของประเทศนี้ เพื่อจะได้จรรโลงให้ยั่งยืนต่อไป

แน่นอนว่าวัฒนธรรมตะวันตกเริ่มคืบคลานเข้ามาภูฏานอย่างหลีกหนีไม่พ้น แต่เดิมที่มีข้อห้ามนำบุหรี่และยาสูบเข้าประเทศ อีกทั้งห้ามใช้ถุงพลาสติกเพื่อรักษาธรรมชาติ แต่ก็เริ่มจะมีให้เห็นแล้วเพราะจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น

เราอยากได้นักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ ไม่ต้องการแบบฮิปปี้หรือแบกเป้ จึงได้กำหนดค่าใช้จ่ายขั้นต่ำเอาไว้มัคคุเทศก์คนหนึ่งบอกผม

ถนนหนทางและบ้านเมืองของภูฏานยังสะอาดสะอ้าน ผู้คนยิ้มแย้มเป็นกันเอง และพร้อมจะสนทนากับผู้มาเยือนอย่างไม่เคอะเขิน

ภาษาท้องถิ่นคือซองคา” (Dzongkha) แต่หลักสูตรตั้งแต่ชั้นประถมสอนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง ดังนั้นคนภูฏานส่วนใหญ่จะสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้ค่อนข้างดี

รายได้กว่า 50% ของประเทศมาจากการขายไฟฟ้าพลังน้ำให้กับอินเดีย และการท่องเที่ยวคือที่มาของรายได้อันดับสอง ดังนั้นการรักษาให้เทือกเขา สายน้ำ และรอยยิ้ม กับดัชนีความสุขจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่งสำหรับแดนมังกรสายฟ้าแห่งนี้

ผมไปสัมผัสกับภูฏานในบรรยากาศต่าง ๆ อย่างไร ติดตามได้ในรายการไทม์ไลน์สุทธิชัย หยุ่นทาง Nation TV 1 ทุ่มค่ำวันอาทิตย์นี้ครับ