EGM : ธรรมดา ที่ ไม่ธรรมดา

EGM คือ Extra General Meeting แปลความก็บอกกันตรงๆ ว่า เป็นการพบกันครั้งพิเศษ ครั้งที่ไม่ธรรมดา
แสดงว่า มีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องพบกัน หาไม่แล้ว ในยามปกติ เจอกัน ปีละหน ในการประชุมสามัญประจำปี คือ AGM-Annual General Meeting ตามข้อกำหนดของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ที่กำหนดให้ต้องมีการจัดประชุม AGM ภายใน 120 วัน หลังปิดรอบบัญชีประจำปี เพื่อรายงานผลให้ผู้ถือหุ้นรับทราบ
แต่กาลผ่าน โลกธุรกิจเดินทางรวดเร็ว มีข้อจำกัดน้อยลง เมื่อชาวโลกกำหนดให้เป็น โลกการค้าเสรี หนึ่งปีเจอกันหนึ่งหน จึงอาจช้าเกินไป การเรียกประชุม EGM จึงเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ตามธรรมชาติ ของสิ่งแวดล้อมและการทำธุรกิจ ซึ่งทุกคน ทุกฝ่าย เข้าใจ ยอมรับได้
แต่มูลเหตุนี้ อาจ ใช้เป็นช่องทาง ที่นำไปสู่ความไม่ปกติ ของนโยบายการดำเนินการได้อยู่บ้าง เพราะโลกใบนี้ พลิกขาวก็ได้ พลิก (อีกที) ก็เป็นดำได้ ขึ้นอยู่กับผู้มองเห็นช่องทางนี้ คนดีคิดดี ทำดี… และมักตรงข้ามกับอีกคนที่จ้องช่องทางฉกฉวยเข้าหาตัวเอง
พบว่า ลำดับความสนใจและการให้ความสำคัญ ของนักลงทุนที่จะเข้าร่วมประชุม “วิสามัญ” จะมีน้อยกว่า “สามัญ” อาจเป็นเพราะคิดว่า ไม่น่ามีประเด็นใด หรือ ไม่มีเวลามาคอยติดตาม หรือเหตุอื่นใด ได้ทั้งสิ้น แต่กับนโยบายของสมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ให้ความสำคัญกับการประชุมวิสามัญ เท่าเทียมกับการประชุมสามัญ เพราะตั้งอยู่บนฐานของการทำหน้าที่ องค์กรตัวแทนผู้ถือหุ้นรายบุคคล จากสถิติปี 2556 พบว่า มีบริษัทจดทะเบียน ราว 120 แห่ง ที่มีการเรียกประชุมวิสามัญ และล่าสุด มกราคม-13 ตุลาคม 2557 ที่ผ่านมา มีการเรียกประชุมวิสามัญไปแล้ว 93 แห่ง
ดิฉัน จึงมีข้อมูล เป็นข้อน่าสังเกต ฝากไปพิจารณาเพลินๆ กันว่า วาระเรื่องราว ที่เป็นที่นิยมสุดฮิตกันมาก อาทิ วาระการเพิ่มทุน, การลดทุน,รายการเกี่ยวโยงกัน,การทำธุรกิจใหม่-สมัยนิยม คือการทำธุรกิจพลังงานทดแทน ได้แก่ โซลาร์เซลล์
พบว่า 1 ใน 3 ของบริษัทจดทะเบียนที่เรียกประชุม EGM นั้น กำหนดวาระ เรื่องการเพิ่มทุน เมื่อมองไส้ลึกลงไปอีก พบว่า ร้อยละ 40 ขายหุ้นเพิ่มนี้ให้กับเฉพาะกลุ่ม หรือเรียกว่า Private Placement -PP ด้วยเหตุผลสุดมโน ว่าเป็น เป็นกลุ่มกลยุทธ์ที่จะเข้ามาช่วยเพิ่มช่องทางในการทำธุรกิจ โดยกำหนดเวลาถือครองไว้เพียงระยะเวลาสั้นๆ จากนั้นก็สามารถขายออกได้ ราคาบนกระดานจึงถูกถล่ม หลังจากที่ลากขึ้นไป ให้รายย่อย รายบุคคล ช่วยดันเลี้ยงเป็นรายทาง กลายเป็น “ชาวดอย” ห้อยโหน ด้วยอาการทุกข์ระทม อย่างที่เห็นกันมาแล้วกับหุ้นหลายตัว
หรือหากเป็น ภาวะของการขยาย ธุรกิจ ตามครรลองปกติ ที่กิจการนั้น มีความจำเป็นต้องใช้เงินลงทุนอย่างคุ้มค่า พิจารณาอย่างรอบคอบแล้วจึงนำมาเสนอผู้ถือหุ้นก็เป็นเรื่อง น่าสนับสนุน
ล่าสุด มี บางบริษัท ประกาศเพิ่มทุน ขนาดมหึมา เรียกเพิ่มทุนแบบหัวโป่งโต แต่ยังให้ข้อมูลแบบชัดๆ ไม่ได้ ว่าจะนำเงินที่ระดมได้นี้ไปทำอะไร ตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงห้ามการซื้อขาย ชั่วคราว แต่เกิดความแปลก เมื่อผู้ถือหุ้นบางราย กลับมาร้องเรียนว่า ควรปลดเครื่องหมายนี้ได้แล้ว….
พบว่าร้อยละ 25 ของวาระการเพิ่มทุน กำหนดการขาย ให้กับผู้ถือหุ้นเดิม ในสัดส่วนตามแจ้งในหนังสือเชิญประชุม ผู้ถือหุ้นตัดสินใจได้เองว่า สมควรจะซื้อหุ้นเพิ่มทุนหรือไม่ อย่างไร เพราะเป็นการเพิ่มเงินทุน เข้าไปให้กิจการ ไปทำงาน มองให้ข้ามชอทไปเลยว่า จะมีผลตอบแทนจากการลงทุนอย่างไร หากไม่ จะเป็นการระดมทุนเข้ากระเป๋า ใครคนใดคนหนึ่งไปซะ
พบว่า ราว ร้อยละ 15 มีวาระการลดทุน เพื่อล้างขาดทุนสะสม ฟังดูดีจัง แต่มองอีกมิติ คือ ผู้ถือหุ้นจะตัวเบาหวิว เพราะหุ้นที่ถืออยู่ ลดวูบ หายแวบ ไปตามสัดส่วนที่เขาประกาศลดทุน แบบไร้ขโมย ไร้โจร ยิ่งกว่า การเล่นกล ของ “เดวิด คอฟเปอร์ฟิล” เลยล่ะ เป็นการใช้ยาแรง แต่หากจริงจัง กิจการก็ฟื้นเร็วเช่นกัน
รายการเกี่ยวโยงกัน เรื่องนี้ เป็นเส้นจริยธรรมบางๆ แม้จะถูกต้อง ตามทุกเกณฑ์ของหน่วยงานกำกับ ก็ตามเถอะ ลองพิจารณา คิดตามกันดูว่า มีการซื้อที่ดินหรืออาคาร ซึ่งเป็นของบริษัทย่อย ที่มีผู้บริหารถือหุ้นอยู่ หรือซื้อที่ดินจากผู้บริหาร นัยว่า เป็นผืนงามที่สุด คุ้มค่าที่สุดในการลงทุน-บางแห่ง ประธานกรรมการบริษัท ลงมาเชียร์ด้วยตัวเอง ซะอีกแน๊ะ
บางแห่ง ซื้อที่ดินเพื่อทำโครงการคอนโดหรู จากมารดาของตัวเอง-เพียงระบุชื่อเป็นนางสาว หากไม่ตามต่อว่า เป็นแม่-ลูก กัน ก็คงเพียงมองผ่าน แถมเป็นผู้บริหาร ชื่อดัง ที่ชอบเป็นข่าว ในหน้าสื่ออยู่บ่อยๆ ซะด้วย
วาระการทำธุรกิจใหม่ อย่าง พลังงานทดแทน ที่ฮิต ติดลมบน ด้วยความวิกฤต ว่าพลังงานจากฟอสซิล จะหมดลง มนุษยชาติ จึงต้องแสวงหาพลังงานทดแทน โซลาร์เซลล์ จึง “ขายได้” กับวาระนี้ ไม่น่าจะต่ำกว่า 20 บริษัท ที่ประกาศจะทำธุรกิจนี้ ผู้ถือหุ้น ต้องตามติดไปดูว่า ทำจริงไหม คุ้มทุน คุ้มค่าอย่างไร หรือเพียงประกาศ ก็วิ่งตามซื้อหุ้นซะแล้ว
เห็นแล้ว ใช่ไหม ว่า การเชิญประชุม EGM ที่แสนจะธรรมดา ในสายตาของผู้ถือหุ้น กลับมีอะไร…อะไร กองซุก ให้น่าค้นหา แม้การประชุมของบริษัทจดทะเบียน จะใช้เสียงข้างมาก ตามหลักการประชาธิปไตย แต่เสียงของผู้ถือหุ้นรายบุคคล และมาตรการทางสังคม ที่จะมีหลายนิ้วต่างชี้ลงไปว่า เหมาะสมเพียงใด อาจช่วยเป็นมาตรการป้องปราม ให้ได้ละอายใจกันบ้างล่ะ
แต่ในทางกลับกัน สังคมของชาวหุ้น พบว่า ผู้ถือหุ้นรายบุคคล ที่เพิ่มเสียง มีบทบาท ตื่นตัวมากขึ้นนั้น ก็เกิดปรากฏการณ์ “อหังการ” ให้ผู้บริหารปวดศีรษะได้เช่นกัน ขิงรา-ข่าแรง มืด-สว่าง ขาว-ดำ ขนมผสมน้ำยา และคำโบราณ อีกมาก ยังใช้การได้ แบบไม่มีกาลเวลามาทำให้ "หมดอายุ" ไปได้เลย….
นี่เป็นมูลเหตุ ที่ มีการรณรงค์ เรื่อง การมององค์รวม ให้กับทุนภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้ได้ประโยชน์กันทั้งหมด หรือเจ็บปวดกันน้อยที่สุด ที่เขาเรียกกันว่า Stakeholder นั่นแหละคะ
คราวนี้ ผู้ถือหุ้น คิดว่า ท่านควรจะสนใจ การประชุม EGM กันบ้าง แล้วหรือยัง ?…..
หมายเหตุ : สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย จัดสัมมนา ให้กับอาสาพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้น หัวข้อ “รวมกันเราอยู่ รวมกันเราใหญ่ รวมกันอย่างไรให้ถูกกฎเกณฑ์ ?” วันที่ 5 พฤศจิกายน นี้ ณ ห้อง 1101 ชั้น 11 อาคาร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดย คุณอำนวย จิรมหาโภคา ผอ.ฝ่ายกำกับบริษัทจดทะเบียน ตลท.