ประเทศไทยก็จะมี Crowdfunding
ท่านเลขาธิการ ก.ล.ต. ได้ให้สัมภาษณ์หนังสือพิมพ์ The Nation ฉบับวันที่ 27 ตุลาคม 2014 ว่า ...
สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. กำลังผลักดันให้มีการระดมทุนแบบใหม่ที่เรียกว่า “Crowdfunding”
Crowdfunding นี้จะช่วยบริษัทที่อยู่ในช่วงเริ่มต้น (start-ups) ที่จะได้เงินทุนไปเริ่มกิจการ ตามปกติผู้ต้องการระดมทุนก็ทำเอกสารยื่น filing เพื่อเสนอขายหุ้นต่อประชาชนหรือเตรียมเข้าตลาดหลักทรัพย์ แต่สำหรับวิธีการ Crowdfunding ผู้ประกอบการเพียงแต่โฆษณาแผนทางธุรกิจที่จะทำและเงินทุนที่จะใช้ในเว็บที่ให้บริการ Crowdfunding เท่านั้น โดยคาดว่าจะเปิดรับฟังความคิดเห็น (public hearing) ในปีนี้ได้
แนวความคิดของท่านเลขาธิการ ก.ล.ต. นับว่าทันสมัยมาก เพราะในต่างประเทศก็กำลังมีความตื่นตัวเกี่ยวกับ Crowdfunding เช่นเดียวกัน อย่างเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2014 บริษัทชื่อ SolarCity ซึ่งเป็นบริษัทติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาเพิ่งประกาศขายหุ้นกู้แก่ประชาชนมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์โดยนับเป็นบริษัทแรกที่ขาย Solar Bonds ด้วยวิธีการ Crowdfunding
Crowdfunding คืออะไร?
Crowdfunding คือ การระดมทุนจำนวนไม่มากจากประชาชนหรือองค์กรจำนวนมากเพื่อเป็นการสนับสนุนโครงการโดยผ่านระบบอินเทอร์เน็ต เป็นการระดมทุนรูปแบบใหม่ที่ให้โอกาสกับกิจการเพิ่งก่อตั้งอย่างที่กล่าวมา กิจการเหล่านี้ยังไม่แข็งแรงหรือไม่มีประวัติการประกอบการ (track record) ขนาดที่จะระดมทุนผ่านการเสนอขายหุ้นต่อประชาชน (IPO) ได้ และนอกจากนี้ยังเป็นการระดมทุนจากประชาชนจำนวนมากหลาย เรียกว่าคนละนิดคนละหน่อยเป็นจำนวนคนละไม่มาก อย่างของบริษัท SolarCity ก็ขายหุ้นกู้มีอายุ 1-7 ปี จ่ายดอกเบี้ย 4% จองขั้นต่ำ 1,000 ดอลลาร์ เป็นต้น เรียกว่าสนับสนุนคนละน้อยแต่หลาย ๆ คน
อีกตัวอย่างหนึ่งที่เห็นได้ชัดคือร้านอาหารชื่อ Northbound Smokehouse & Brewpub ในเมือง Minneapolis สหรัฐอเมริกา เสนอให้แขกดื่มเบียร์ฟรีตลอดชีวิตถ้าหากเขาลงทุน 1,000 ดอลลาร์ในกิจการของร้าน ผลสุดท้ายร้าน Northbound Smokehouse & Brewpub ได้เงินไป 220,000 ดอลลาร์ไปค้ำประกันเงินกู้จากธนาคาร และร้านก็ยังอยู่ดีมา 2 ปีแล้ว ผู้ลงทุนก็มาดื่มกินตามปกติ ไม่ได้ดื่มเบียร์จนร้านเจ๊งไปแต่อย่างใด ในทางกลับกันลูกค้าขาประจำกลับเพิ่มขึ้นเพราะการเป็นผู้ลงทุนของร้าน
ที่สำคัญ Crowdfunding หรือเงินทุนมวลชนนี้ไม่ได้ระดมทุนโดยผ่านผู้จัดจำหน่ายหลักทรัพย์ (underwriters) อย่างการขายหลักทรัพย์ทั่วไป แต่เป็นการขายผ่านเว็บไซต์หรือที่เรียกว่า platform ในอินเทอร์เน็ต ทุกวันนี้มี platform ที่ทำหน้าที่ทำในการระดมทุนของ Crowdfunding อยู่หลายอันเช่น localstake.com, Potluck Capital, Mosaic, SunFunder และอื่น ๆ เรียกว่า ขอให้อายุ 18 ปีขึ้นไป (อายุของคนที่จะลงทุนได้ตามกฎหมายสหรัฐอเมริกา) กับมีบัญชีธนาคารก็พอ ทุกอย่างทำผ่านอินเทอร์เน็ตหมด ประชาชนทั่วไปสามารถจองซื้อหลักทรัพย์ได้อย่างสบาย ๆ
อันว่า Crowdfunding นี้ได้เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลกในระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมามีเงินทุนกว่า 64 ล้านดอลลาร์ และมีมูลค่าการตลาดกว่า 1 พันล้านดอลลาร์ในสหรัฐอเมริกา อังกฤษ รวมทั้งจีนด้วย และยังกำลังเกิดขึ้นในอีกหลายประเทศรอบโลก
ข้อดีของการระดมทุน Crowdfunding คือ การให้กิจการขนาดเล็กมีโอกาสระดมทุน เพราะกิจการขนาดเล็กยังไม่สามารถระดมทุนจาก IPO ได้ และเป็นการกระจายความเสี่ยงไปยังผู้ลงทุนซึ่งมักจะเป็นบุคคลธรรมดาและลงทุนคนละไม่มาก การระดมทุนแบบ Crowdfunding นี้ยังมีค่าใช้จ่ายต่ำแต่ให้ผลตอบแทนแก่นักลงทุนสูง นอกจากนี้ พวกเงินทุนแก่กิจการที่เพิ่งเริ่มตั้งเช่น Venture Capital ก็อาจจะเข้าถึงได้ยากกว่า ขณะที่ Crowdfunding สามารถการระดมทุนโดยตรงจากประชาชน
แต่ในขณะเดียวกันการระดมทุนแบบ Crowdfunding ก็มีความเสี่ยงอยู่หลายประการ เช่น การผิดสัญญาและกิจการประสบความล้มเหลวของการไปลงทุนมีสูงถึง 50% และการให้กู้ยืมก็มีการผิดสัญญาถึง 30% ในปี 2009 นอกจากนี้ ยังมีความเสี่ยงต่างๆ อีกเช่น การปิดตัวเว็บไซต์ที่เป็น platform ของ Crowdfunding หรือการหลอกลวงจากเว็บไซต์ ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่นักลงทุนยังไม่สามารถโอนเปลี่ยนมือการลงทุนได้เพราะยังไม่มีตลาดรอง (secondary market) มารองรับ และการที่ติดต่อต่างๆ ผ่านทางอินเทอร์เน็ตก็จะต้องระมัดระวังเรื่องความไม่ปลอดภัยที่จะถูกเล่นงานทางเน็ตหรือ cyber-attack ด้วย
(ใครที่สนใจเรื่องนี้ก็สามารถดูได้จาก Staff Working Paper เรื่อง Crowd-funding: An Infant Industry Growing Fast ของ IOSCO (The International Organization of Securities Commissions หรือองค์การ ก.ล.ต. สากล) ซึ่งเพิ่งเผยแพร่ปี 2014 นี้เองที่ http://www.iosco.org/research/pdf/swp/Crowd-funding-An-Infant-Industry-Growing-Fast.pdf)
การระดมทุนในรูปแบบของ Crowdfunding ที่ใช้กันอยู่นั้นอาจแบ่งออกได้เป็น 4 รูปแบบคือ
1. Donation-based Crowdfunding
ผู้ลงทุนสัญญาว่าจะให้เงินทุนโดยไม่คาดหวังว่าจะได้สิ่งใดตอบแทน รูปแบบนี้เหมาะสำหรับองค์กรที่มีวัตถุประสงค์ที่ทำประโยชน์แก่สังคม
2. Reward-based Crowdfunding
ผู้ลงทุนสัญญาว่าจะทำการลงทุนโดยได้รับผลตอบแทนจำนวนน้อย ส่วนใหญ่ใช้กับวิสาหกิจทางสังคม (social enterprises)
3. Loan-based or Peer-to-Peer Lending
เป็นรูปแบบการกู้ยืมเงิน รูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปมี 2 แบบคือ รายได้แบบการมีส่วนร่วม (revenue participation) หมายถึงผู้ลงทุนได้รับส่วนแบ่งเป็นร้อยละของการขายเป็นระยะเวลาหนึ่งแต่ไม่คาดหวังการชำระหนี้เงินกู้คืน กับรายได้แบบดอกเบี้ย (revenue interest) หมายถึงผู้ลงทุนได้รับจะได้รับดอกเบี้ยในอัตราตายตัวเป็นระยะเวลาหนึ่ง และเมื่อสิ้นระยะเวลาที่กู้ยืมก็จะได้รับเงินกู้คืน
4.Equity -base d Crowdfunding
เป็นรูปแบบที่ใช้กันอยู่ทั่วไปของกิจการที่เพิ่งเริ่มต้น (start-ups) ที่มักจะเป็นการลงทุนที่สนับสนุนกิจการที่มีโอกาสเติบใหญ่โดยผู้ลงทุนได้รับการเสนอขายหุ้นและได้รับผลตอบแทนจากหุ้นนั้น
ในสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม 2013 คณะกรรมการ Securities & Exchanges Commission หรือ SEC ได้เสนอร่างกฎหมายเป็น Title III of the 2012 Jumpstart Our Business Startups Act หรือ JOBS Act โดยมีสาระสำคัญคือเรื่อง Crowdfunding แต่ร่างกฎหมายนี้ก็มีเรื่องที่ต้องถกเถียงกันมาก จนกระทั่งบัดนี้เมื่อกาลเวลาผ่านไปนับแต่วันเสนอจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาปีเศษแล้ว ร่างกฎหมายดังกล่าวก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะได้ออกเป็นกฎหมายใช้บังคับ รัฐต่าง ๆ 11 รัฐที่ทนรอไม่ไหว ก็เลยออกกฎหมายของรัฐในการทำ Crowdfunding แต่กฎหมายของรัฐก็มีผลเฉพาะ Crowdfunding ที่เสนอขายในรัฐเท่านั้น จะไปเสนอขายนอกเขตแดนของรัฐไม่ได้
ในสิงคโปร์ Crowdfunding ไม่ได้ถูกควบคุมโดยกฎหมายใดโดยตรง เว้นแต่การกระทำของ Crowdfunding จะไปเข้ากฎหมายนั้น เช่น การเสนอขายหุ้น เป็นต้น ทาง Monetary Authority of Singapore (MAS) ก็กำลังติดตามเรื่องนี้อยู่ว่าจะเอาอย่างไร แต่ในขณะเดียวกัน ก็มี platform เกี่ยวกับ Crowdfunding เกิดขึ้นหลายอันเช่น ToGather.asia, Crowdonomic, Cliquefund และ Crowdtivate เป็นต้น
เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2014 ทาง The Securities Commission ของประเทศมาเลเซียก็เพิ่งจัดทำ consultation paper เพื่อสอบถามความเห็นเกี่ยวกับกรอบของกฎหมายสำหรับ Equity Based Crowdfunding ในมาเลเซีย เป็นการแสดงถึงความคิดที่จะมี Crowdfunding ให้ประชาชนได้ลงทุน
การที่ ก.ล.ต. ของไทยมีแนวความคิดเกี่ยวกับ Crowdfunding จึงนับว่าทันยุคสมัย เราคงจะรอดูกันต่อไปว่า Crowdfunding ของไทยจะออกมาหน้าตาอย่างไร ต้องมีกรอบทางกฎหมายแค่ไหน ในการเปิดรับฟังความเห็นที่จะมีเร็ว ๆ นี้