พลวัตเศรษฐกิจการเมืองยุคปฏิรูป (5)

พ่อค้าข้าวที่เคยมีบทบาทต่อเศรษฐกิจสยามหลังสนธิสัญญาเบาว์ริงได้ประสบปัญหาล้มละลายจำนวนมาก
จากปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างรุนแรงช่วงปี พ.ศ. 2462 และพอหลังสงครามครั้งที่หนึ่ง พ่อค้าข้าวที่ปรับตัวอยู่รอดมาได้ก็ประสบวิกฤติครั้งใหญ่อีกเมื่อต้องเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก (The Great Depression) พ.ศ. 2472 กลุ่มทุนเจ้าภาษีอากรเสื่อมถอยลง กลุ่มทุนใหม่ได้เข้ามาทำกิจการค้าข้าว ทำป่าไม้ ทำเหมืองแร่และการพาณิชย์อื่นๆ เช่น กลุ่มเอี่ยมสุรีย์ กลุ่มบุลสุข กลุ่มบุลกุล กลุ่มหวั่งหลี กลุ่มล่ำซำกลุ่ม ณ ระนอง กลุ่ม ณ สงขลา เป็นต้น
โครงสร้างการค้าระหว่างประเทศในช่วงปี พ.ศ. 2453-2475 ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โครงสร้างการส่งออกจากที่เคยพึ่งพิงสินค้าเกษตรหลายชนิดและของป่ามาเป็นการส่งออกที่ขึ้นอยู่สินค้าไม่กี่ประเภทโดยเฉพาะข้าว (โปรดดูตารางโครงสร้างสินค้าส่งออกจากตารางด้านล่าง) ดีบุกและยาง การขยายตัวของการส่งออกเป็นผลมาจากการเติบโตของอุปสงค์ของโลกมากกว่าความสามารถในการแสวงหาตลาด เมื่อเศรษฐกิจโลกตกต่ำจึงส่งผลกระทบต่อการส่งออกอย่างมาก กระทบต่อเศรษฐกิจโดยภาพรวมและรายได้ของประชาชนเนื่องจากพึ่งพิงสินค้าส่งออกไม่กี่ประเภท
โครงสร้างสินค้าการนำเข้า (อินแกรมศึกษาโครงสร้างการนำเข้าในช่วงปี พ.ศ. 2393-2493) พบว่าสินค้านำเข้าส่วนใหญ่เป็นสินค้านำเข้าเพื่อการบริโภคสำหรับชนชั้นสูงและชาวต่างประเทศในสยาม แต่ประชาชนส่วนใหญ่มิได้เป็นผู้บริโภคสินค้านำเข้าเพราะมีระดับรายได้ต่ำ อุปสงค์ต่อสินค้านำเข้ามีความยืดหยุ่นต่อรายได้ค่อนข้างสูง เมื่อส่งออกตกต่ำ รายได้ภายในประเทศลดลง ปริมาณการสั่งเข้าจะลดลงมาก จึงนับว่าเป็นผลดีต่อดุลการค้าของไทยอย่างมาก
ช่วงทศวรรษ 2470 สัดส่วนของสินค้าส่งออกของไทยที่ส่งไปตลาดตะวันตกลดลง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ สินค้าส่วนใหญ่จึงส่งไปตลาดเอเชียโดยมีมลายู สิงคโปร์และฮ่องกงเป็นตลาดสำคัญ การนำเข้าสินค้าทุนเพิ่มมากขึ้นหลังจากก่อนหน้านี้ได้เกิดวิกฤตการณ์ข้าวขึ้นสองครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2446-2448 เกิดภาวะฝนแล้งและน้ำท่วม ความรุนแรงเกิดขึ้นมากบริเวณภาคกลางโดยเฉพาะคลองรังสิต คลองตื้นเขินและขาดการบำรุงรักษา
ต่อมาเกิดวิกฤติข้าวครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่งในช่วงปี พ.ศ. 2460-2462 เกิดภาวะน้ำท่วมอย่างหนักทำให้พื้นที่เกษตรกรรมได้รับความเสียหายมากถึงหนึ่งในสาม ขณะที่ พ.ศ. 2462 เกิดภาวะฝนแล้งและเกิดให้เกิดความเสียหายในการผลิตข้าว ภาวะเศรษฐกิจถดถอยเป็นผลจากวิกฤตการณ์ข้าวสองครั้ง เป็นผลจากวิกฤตการณ์การเงินระหว่างประเทศด้วยในช่วงปี พ.ศ. 2455-2462 ราคาโลหะเงินในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นทำให้รัฐบาลตัดสินใจปรับเพิ่มค่าเงินบาทเพื่อป้องกันไม่ให้โลหะเงินไหลออกนอกประเทศ ซึ่งทำให้มีผลกระทบด้านลบต่อการส่งออก ขาดดุลการค้าและทำให้ปริมาณเงินปอนด์ในทุนสำรองลดลงมาก
นอกจากนี้ได้มีการเก็บภาษีที่ดิน ภาษีค่าขึ้นทะเบียนสัตว์ทำให้ต้นทุนการทำเกษตรกรรมสูงขึ้น การเพิ่มภาษีดังกล่าวเกิดขึ้นเนื่องจากต้องนำมาชดเชยภาษีการพนันและภาษีฝิ่นที่ค่อยๆ ถูกยกเลิกไปสถานการณ์วิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นมาบ้างเมื่อการส่งออกข้าวดีขึ้นในปี พ.ศ. 2464-2465 และรัฐบาลในขณะนั้นเห็นว่า ค่าเงินบาทแข็งค่าเกินไปจึงตัดสินใจลดค่าเงินบาท
เงินบาทที่อ่อนค่าลงกระตุ้นให้การส่งออกดีขึ้น ดุลการค้าปรับตัวในทิศทางดีขึ้น การขายเงินปอนด์ค่อยๆ ลดลง เงินปอนด์ในทุนสำรองเพิ่มขึ้น เสถียรภาพทางการเงินของรัฐบาลจึงปรับตัวดีขึ้นตามลำดับ วิกฤตการณ์ทางการเงินได้ปะทุขึ้นอีกครั้งหนึ่งหลังจากเกิดวิกฤตการณ์ข้าวครั้งที่สองประมาณ 10 ปี และวิกฤตการณ์การเงินคราวนี้กระทบต่อฐานะทางการคลังมากเพราะปัญหาฐานะทางการคลังได้สะสมมากระยะหนึ่งแล้ว ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลกปี พ.ศ. 2472 เริ่มต้นจากการพังทลายของตลาดหุ้นนิวยอร์กและการล้มละลายของสถาบันการเงินต่างๆ ลุกลามไปสู่เศรษฐกิจยุโรปและภูมิภาคอื่นๆ
เมื่อเกิดวิกฤตการณ์ข้าวครั้งที่หนึ่งเมื่อปี พ.ศ. 2454 ได้เกิดภาระต่องบประมาณจึงทำให้ต้องจัดทำงบประมาณแบบขาดดุลสูงถึง 2.53 ล้านบาท และช่วงที่ถือได้ว่าสยามประสบวิกฤติการณ์การคลัง คือ ช่วงที่งบประมาณขาดดุลเป็นเวลา 6 ปีต่อเนื่องกัน คือ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2463-2468 ขนาดของการขาดดุลก็เพิ่มขึ้นทุกปี ขณะที่เงินคงคลังก็ลดลงอย่างมาก รายได้ของรัฐบาลลดลงอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว รัฐบาลเองมีข้อจำกัดทางด้านรายได้ไม่สามารถจัดเก็บเพิ่มหรือขยายฐานภาษีได้มากนัก นอกจากรายจ่ายประจำของรัฐบาลก็ไม่ได้ลดลงและมีเม็ดเงินงบประมาณลงทุนน้อยมาก
ในช่วงทศวรรษ 2470 นอกจากสยามจะพบกับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำแล้ว ยังมีกระแสต่อต้านระบอบอภิสิทธิ์และสัมปทานผูกขาดของนักธุรกิจชาติตะวันตกในสยาม สภาวะดังกล่าวทำให้เกิดการกีดกันการเติบโตของทุนสยามและทุนจีนอพยพในสยาม พ่อค้าชาวตะวันตกได้รับสิทธิสภาพนอกอาณาเขตทำให้ได้เปรียบพ่อค้าไทยจีน สนธิสัญญาที่เราไปทำกับชาติตะวันตกแล้วเสียเปรียบถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก กระแสเศรษฐกิจชาตินิยมเริ่มเกิดขึ้น กลุ่มพ่อค้าไทยจีนจำนวนไม่น้อยให้การสนับสนุนขบวนการอภิวัฒน์ 2475 เพราะมองว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอาจนำมาสู่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจและธุรกิจที่ดีขึ้น
สองเดือนหลังการเข้ายึดอำนาจ มีการเสนอให้จัดตั้งสมาคมเพื่อสนับสนุนการบริโภคสินค้าที่ผลิตภายในประเทศโดยกลุ่มทุนท้องถิ่น มีความเคลื่อนไหวของ นายมังกร สามเสน เสนอต่อรัฐสภาให้ก่อตั้งสภาแห่งชาติเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจของสยาม เป้าหมายก็เพื่อส่งเสริมธุรกิจภายในประเทศแข่งขันกับต่างชาติ
พื้นฐานของระบบทุนนิยมสยามก่อนการอภิวัฒน์เปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475
ก่อนการอภิวัฒน์ประชาธิปไตย 24 มิถุนายน 2475 กลุ่มทุนในสยามสามารถแบ่งออกเป็นกลุ่มใหญ่ได้สี่กลุ่มดังนี้
กลุ่มแรก คือ กลุ่มทุนยุโรป กลุ่มนี้เติบโตอย่างมากหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ลงทุนประกอบกิจการธนาคาร การส่งออกการนำเข้า การทำเหมืองแร่ โรงเลื่อยและการทำกิจการป่าไม้ โรงสีข้าว เป็นต้น
กลุ่มที่สอง กลุ่มทุนจีน ลงทุนในกิจการโรงสีข้าว โรงเลื่อย กิจการป่าไม้ เหมืองแร่ ค้าทอง เป็นนายหน้าให้กับธนาคารของฝรั่ง ค้าขายสินค้าอุปโภคบริโภค
กลุ่มที่สาม นายทุนศักดินา ให้เช่าที่ดิน ลงทุนโรงสี โรงงานอุตสาหกรรมร่วมกับพ่อค้าชาวจีนและฝรั่ง
กลุ่มที่สี่ นายทุนขุนนาง มีลักษณะการลงทุนในกิจการต่างๆ คล้ายกับนายทุนศักดินา โดยอาศัยประโยชน์จากการกุมอำนาจในการบริหารประเทศและมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายเช่นเดียวกับนายทุนศักดินา
สนธิสัญญาทางการค้าต่างๆ ที่สยามได้ทำกับชาติตะวันตกในสมัยรัชกาลที่สี่และห้า ได้ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนจากระบบเศรษฐกิจแบบยังชีพมาเป็นระบบเศรษฐกิจแบบใช้เงินตราและเป็นการผลิตเพื่อการค้าแลกเปลี่ยนมากขึ้น การเปิดประตูทางการค้าทำให้อังกฤษและชาติตะวันตกบางชาติสามารถครอบงำเศรษฐกิจและมีอิทธิพลต่อการกำหนดนโยบายทางการคลัง เช่น เก็บภาษีนำเข้าไม่เกิน 3% เป็นต้น ช่วงก่อนปี พ.ศ. 2475 ไม่นานนัก พื้นฐานสำคัญของทุนนิยมสยามเปลี่ยนแปลงไปโดย ทุนของชาวจีนโพ้นทะเลเริ่มย่างก้าวเข้ามามีบทบาทสำคัญแทนที่ทุนตะวันตก ทุนพระคลังข้างที่และกลุ่มทุนขุนนางศักดินามากยิ่งขึ้นภาคอุตสาหกรรมมีบทบาทค่อนข้างน้อยทั้งในแง่ผลผลิตและการจ้างงาน ทุนนิยมสยามในช่วงเวลาดังกล่าวจึงเป็น “ทุนการค้า” มากกว่า “ทุนอุตสาหกรรม”