อุทาหรณ์สินบนยุบ ทรท. สังคมไทยเกลียดโกงจริงหรือ?

อุทาหรณ์สินบนยุบ ทรท. สังคมไทยเกลียดโกงจริงหรือ?

ผ่านไปอย่างเงียบงันเหมือนข่าวรายวันทั่วไป สำหรับคำพิพากษาคดีติดสินบน “ตุลาการรัฐธรรมนูญ”

ในคดียุบพรรคไทยรักไทย ซึ่งศาลอาญาออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษาไปเมื่อ24ธ.ค.

เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปลายปี49จำเลยคือพ.ต.อ.ชาญชัย เนติรัฐการอดีตผู้กำกับการ สภ.โพธิ์แก้ว อ.สามพราน จ.นครปฐม ถูกกล่าวหาว่าไปเสนอสินบนเป็นเงิน15ล้าน และ30ล้านบาทให้กับม.ล.ไกรฤกษ์ เกษมสันต์รองประธานศาลฎีกา (ในขณะนั้น) ซึ่งได้รับแต่งตั้งเป็นตุลาการรัฐธรรมนูญ หนึ่งในองค์คณะที่ตัดสินคดียุบพรรคไทยรักไทย (ทรท.) และประชาธิปัตย์ (ปชป.)

พฤติการณ์แห่งคดีและข้อต่อสู้ของฝ่ายจำเลยนับว่าน่าสนใจ กล่าวคือ พ.ต.อ.ชาญชัย ไปหาเพื่อเข้าพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ อย่างน้อย2ครั้ง แล้วขอร้องให้ช่วยเหลือเกี่ยวกับคดียุบพรรค ทรท. (ซึ่งต่อมาศาลมีคำวินิจฉัยเมื่อปลายเดือน พ.ค.50ให้ยุบพรรคและตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค111คน) โดยเสนอเงินให้15ล้านบาทในครั้งแรก และเพิ่มเป็น30ล้านบาทในครั้งที่2

โดยครั้งหลังเป็นการไปหาถึงบ้าน!

จำเลยอ้างว่าที่ต้องทำแบบนั้นเพราะเป็นหนี้บุญคุณของ“คุณหญิง”คนหนึ่ง (ซึ่งออกชื่อไปก็รู้จักกันทั้งบ้านทั้งเมือง) แต่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ปฏิเสธ ไม่ยอมรับสินบน และทำบันทึกถึงประธานศาลฎีกา กระทั่งกลายเป็นคดีความฟ้องร้องกัน

โดยทั้ง ม.ล.ไกรฤกษ์ กับ พ.ต.อ.ชาญชัย เป็นเพื่อนร่วมรุ่นสมัยเรียนนิติศาสตร์จากสถาบันอุดมศึกษาชื่อดังด้วยกัน คดีนี้จึงเป็นคดีตัวอย่างที่ฝ่ากระแสอันเชี่ยวกรากของ “สังคมอุปถัมภ์” และบ้านเมืองที่มีแต่ “เส้นสาย-พวกพ้องเพื่อนฝูง” อย่างดิ่งลึกของบ้านเรา

จำเลยสู้คดีว่าไปขอพบ ม.ล.ไกรฤกษ์ เพื่อเยี่ยมเยียนตามประสาเพื่อนเก่า ส่วนเรื่องเงินที่พูดขึ้นนั้น เป็นการ“พูดเล่น”จากข่าวคราวสินบนที่ปรากฏในช่วงนั้น

อย่างไรก็ดี ศาลไม่เชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย เพราะพบหลักฐานว่าตลอดนับสิบปีที่ ม.ล.ไกรฤกษ์ ดำรงตำแหน่งผู้บริหารในศาลยุติธรรม ไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยไปเยี่ยมเยียนหรือแสดงความยินดี พูดง่ายๆ คือไม่เคยพบปะเจอะเจอพูดคุยกันมานานแล้ว ฉะนั้นจู่ๆ จะคิดไปเยี่ยมด้วยความคิดถึงคงไม่น่าเชื่อ

ส่วนการเสนอเงินสินบนที่อ้างว่า“พูดเล่น”นั้น ศาลไม่เชื่อเช่นกัน เพราะมีการเสนอซ้ำถึง2ครั้งใน2โอกาสที่ได้พบกัน ถ้าพูดเล่น เสนอครั้งแรกแล้ว ม.ล.ไกรฤกษ์ ไม่รับ ซ้ำยังโกรธ ย่อมเป็นธรรมดาที่ในครั้งที่2ไม่ควรเสนออีก

ขณะที่ข้อต่อสู้ที่บอกว่าพูดเล่นตามที่มีข่าวในช่วงนั้น ย้อนดูแล้วในช่วงเวลาดังกล่าวยังไม่มีข่าวสินบนตุลาการ เพราะข่าวมาปรากฏหลังจากตัดสินคดีแล้วในปีถัดมา

ทั้งหมดนี้จึงทำให้ศาลพิพากษาจำคุก3ปีไม่มีรอลงอาญา!

ประเด็นตกค้างที่สังคมไทยต้องขบคิดกันต่อไป คือ

1.เราจะปล่อยให้คดีนี้ผ่านไป จบไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้นอย่างนั้นหรือ จำเลยก็ยื่นอุทธรณ์ ต่อด้วยฎีกา อีก6-7ปีศาลฎีกาพิพากษา หากตัดสินจำคุก จำเลยก็หนีไปไหนต่อไหนแล้ว เหมือนคดีทุจริตอื่นๆ อีกหลายคดีที่ผ่านมาที่จับกุมคุมขังผู้กระทำไม่เคยได้

2.จริงหรือที่การพยายามติดสินบนตุลาการมีเพียง1คนจากองค์คณะทั้งหมด9คน ถ้าไม่เชื่อว่าจริง จะทำอย่างไรกันต่อไป

3.“คุณหญิง”ที่ถูกพูดถึงนำสำนวนคดีคือใคร เกี่ยวพันกับใคร และพรรคการเมืองใด คนเหล่านี้ พรรคการเมืองที่มีพฤติกรรมเช่นนี้ สมควรอยู่ในสนามการเมืองไทยยุคปฏิรูปต่อไปอีกหรือไม่

4.มาตรการทางสังคมกับผู้ที่เกี่ยวข้อง ทั้งตัวบุคคลและพรรคการเมือง ต้องทำอะไรกันบ้างหรือไม่

คดีลักษณะนี้ ซ้ำยังเชื่อมโยงกับการเมืองระดับประเทศ เข้าใจว่าถ้าเป็นประเทศที่มีจิตสำนึกต่อต้านการคอร์รัปชันอย่างสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องน่าจะไม่ได้ผุดได้เกิดทางการเมืองไปแล้ว แต่ประเทศไทยและสังคมไทยยังเฉยๆ

หนำซ้ำกลุ่มการเมืองเดียวกันยังเคยไปทำถุงขนมใส่เงินสดๆ2ล้านบาทตกที่อาคารศาลฎีกาจนเป็นที่เกรียวกราว แต่พอเป็นคดีความขึ้นมา อัยการกลับสั่งไม่ฟ้อง

อุทาหรณ์แห่งคดีสินบนศาลจะสะท้อนว่าสังคมไทยเกลียดการโกงจริงหรือไม่ ถ้ายังปล่อยให้ผ่านไปอย่างเงียบงันก็ป่วยการปฏิรูป

เขียนรัฐธรรมนูญให้การเลือกตั้งซื้อเสียงกันได้อย่างเสรี ใครทุ่มเงินมากกว่าชนะ หรือไม่ก็ใช้เส้นสาย ไม่ต้องมีธรรมาภิบาลกันไปเลยดีกว่าไหม?