'มนุษย์' เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม?

'มนุษย์' เห็นแก่ตัวหรือเห็นแก่ส่วนรวม?

คนที่มองว่ามนุษย์มีธรรมชาติที่เห็นแก่ตัว ไม่มีทางจะแก้ไขได้ อาจมองในแง่ร้ายแบบสุดโต่งมากไป

มนุษย์วิวัฒนาการมาในทางที่ส่งต่อสัญชาตญาณในการปกป้องสืบต่อยีนของตัวเอง แต่มนุษย์วิวัฒนาการเป็นสัตว์รวมกลุ่มที่ต่างไปจากสัตว์ทั้งหลาย คือการรู้จักเลือกที่จะไว้วางใจและร่วมมือกันทำงานเป็นหมู่คณะ มนุษย์รู้จักร่วมมือกันอย่างซับซ้อน ยกระดับการพัฒนาทั้งสมองและการจัดองค์กรทางสังคม ทำให้เศรษฐกิจสังคมหรืออารยธรรมมนุษย์เจริญก้าวหน้าขึ้นไปอย่างมาก

มนุษย์ได้พัฒนาสัญชาตญาณทางสังคม (Social Instincts) ในการเรียนรู้ที่จะร่วมมือกับผู้อื่น ไว้วางใจคนที่สมควรไว้วางใจ และระมัดระวังคนที่ขี้โกง/เห็นแก่ตัว เรียนรู้ที่จะทำตนเองให้เป็นที่ไว้วางใจของคนอื่น ได้รับการยอมรับจากคนอื่น เรียนรู้ที่จะแลกเปลี่ยนข้อมูล สินค้า และการร่วมงานกันแบบแบ่งงานกันทำ

ปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้มนุษย์พัฒนาสมองอย่างมาก ยิ่งกว่าสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่มีรหัสพันธุกรรมใกล้เคียงกันอย่างลิงชิมแปนซีไม่รู้กี่เท่า มนุษย์ได้พัฒนาความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ได้มาก ทั้งสังคมมนุษย์ และสติปัญญา ความคิดจิตใจของมนุษย์ได้ วิวัฒนาการควบคู่กันไป

นักวิชาการด้านวิวัฒนาการพบว่า มนุษย์ยุคโบราณรู้จักเรื่องคุณธรรมว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรทำ ไม่ควรทำ มาตั้งแต่ก่อนที่จะมีศาสนาลัทธิความเชื่ออย่างเป็นระบบ รู้จักการแลกเปลี่ยนค้าขายมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดตั้งรัฐและมีการประดิษฐ์เงินตรา มนุษย์มีสิ่งที่เราเรียกกันว่าวัฒนธรรมมาตั้งแต่ก่อนยุคบาบิโลน (ซึ่งถือกันเป็นอารยธรรมยุคแรกๆ ของมนุษย์) มีระบบสังคมเมืองก่อนยุคนครรัฐกรีก

มนุษย์รู้จักเรื่องสัญญาทางสังคมมาก่อนที่ธอมัส ฮอบส์จะเสนอแนวคิดนี้ บางสังคมมีระบบสวัสดิการในสังคมมาก่อนที่จะมีการประกาศเรื่องสิทธิความเป็นมนุษย์ (Rights of Man) มนุษย์ในสังคมรู้จักการปกป้องผลประโยชน์ตัวเองมาก่อนที่อาดัม สมิธจะเสนอแนวคิดเรื่องเศรษฐกิจเสรี และรู้จักความโลภมาก่อนยุคทุนนิยมอุตสาหกรรม

สิ่งเหล่านี้คือการแสดงออกของธรรมชาติมนุษย์ในการเรียนรู้ปรับตัวเองเพื่อความอยู่รอดและการขยายเผ่าพันธุ์มาตั้งแต่สังคมยุคหาของป่าล่าสัตว์ตั้งแต่ 5-6 ล้านปีที่แล้ว จนถึงยุคเกษตรกรรมเมื่อราว 10,000-5,000 ปีที่แล้ว

แต่มนุษย์ก็มีสัญชาตญาณด้านมืด คือการกลัว มีอคติ ระแวง และความขัดแย้งกันระหว่างกลุ่มต่างๆ มาโดยตลอดด้วยเช่นกัน การศึกษาประวัติศาสตร์วิวัฒนาการของมนุษย์ทั้ง 2 ด้าน จะช่วยให้เราเข้าใจเพิ่มขึ้นว่าสถาบันแบบไหนที่ส่งเสริมความไว้วางใจ (Trust) ที่ทำให้มนุษย์ต่างกลุ่มร่วมมือกัน และสถาบันแบบไหนที่ทำให้มนุษย์ไม่ไว้วางใจ ที่จะนำไปสู่ความแตกแยก ความรุนแรง สงคราม การเอารัดเอาเปรียบ ฯลฯ

นักวิชาการที่มองเน้นด้านมืดของมนุษย์ เช่น ทอมาส ฮอบส์ (ค.ศ. 1588-1629) นักปรัชญาชาวอังกฤษ เสนอว่าทางที่จะรักษาความสงบในสังคมได้คือ ปัจเจกชนต้องยอมสละสิทธิ์บางอย่างของตนเองและทำข้อตกลงทางสังคมให้มีรัฐบาลที่มีอำนาจสูงสุด กำหนดกฎเกณฑ์ให้มนุษย์ต้องเชื่อฟังเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์

ขณะที่อาดัม สมิธ (1723-1790) นักปรัชญาการเมืองผู้ให้กำเนิดวิชาเศรษฐศาสตร์สมัยใหม่มองมนุษย์ในแง่ดี เขาเชื่อว่าความเห็นแก่ตัวอย่างมีเหตุผล การแบ่งงานทำและการแลกเปลี่ยนตามกลไกตลาดเสรีจะทำให้มนุษย์ทุกคนได้ประโยชน์ร่วมกัน

ชาร์ลส์ ดาร์วิน (1809-1882) นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ ผู้เสนอทฤษฎีวิวัฒนาการสมัยใหม่ และกฎของการคัดเลือกโดยธรรมชาติ มองเรื่องการแข่งขันของสัตว์และมนุษย์ทั้งระดับกลุ่มและปัจเจกในแนวคล้ายกันกับอาดัม สมิธ คือสัตว์และพืชชนิดพันธุ์ที่ปรับตัวได้ดีจะอยู่รอดสืบลูกหลานต่อ ชนิดพันธุ์ที่ปรับตัวไม่ได้จะสูญพันธุ์ไป โดยเขามองว่านี่เป็นเรื่องเป็นไปตามกลไกของธรรมชาติ ไม่เกี่ยวกับว่าอะไรเจริญหรือดีกว่าอะไร

แนวคิดเรื่องการแข่งขันของชาร์ลส์ ดาร์วิน ได้ถูกคนอื่นตีความในทางสังคมอย่างคลาดเคลื่อนว่าวิวัฒนาการโดยธรรมชาติ ทำให้เกิดเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่เด่นและด้อยต่างกัน และเกิดแนวคิดแพร่หลายในหมู่ชนชั้นนำทั้งในสหรัฐ และเยอรมันว่าต้องส่งเสริมเผ่าพันธุ์ที่เด่น และควบคุมเผ่าพันธุ์ที่ด้อย เพื่อปรับปรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์ (Eugenics)

ในสหรัฐ ในยุคหนึ่งรัฐบาลมีนโยบายการทำให้เผ่าพันธุ์ที่ด้อยเป็นหมัน เพื่อพวกเขาจะได้ไม่เผยแพร่เผ่าพันธุ์ต่อ ในเยอรมัน ฮิตเลอร์และพรรคพวกได้สังหารชาวยิว ชาวยิปซีและเผ่าพันธุ์อื่นๆ ที่พวกเขาอ้างว่าเป็นเผ่าพันธุ์ที่ด้อยกว่าคนผิวขาวเผ่าอารยันแท้และเป็นพวกที่ถ่วงความเจริญก้าวหน้าของจักรวรรดิเยอรมันไปกว่า 6 ล้านคน

แม้แนวคิดเรื่องความเด่นและความด้อยของเผ่าพันธุ์จะเป็นเรื่องการตีความสุดโต่ง แต่ในสมัยต่อมาเมื่อการค้นพบเรื่องรหัสพันธุกรรมว่ามียีนหรือหน่วยพันธุกรรมบางตัวในมนุษย์แต่ละคนที่นำไปสู่โรคภัยบางอย่างได้ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการปรับปรุงเผ่าพันธุ์มนุษย์เกิดขึ้นมาอีกครั้ง เช่น อย่างน้อยเราจะสามารถป้องกันหรือลดโอกาสของโรคสืบทอดทางพันธุกรรมบางอย่างได้

อย่างไรก็ตาม การวิจัยองค์ความรู้เรื่องรหัสพันธุกรรมที่ถ่ายทอดจากพ่อแม่สู้ลูกนี้ยังไม่สมบูรณ์ และยังมีการถกเถียงกันในหมู่นักวิชาการด้วยกันเอง ว่ารหัสพันธุกรรมจากพ่อแม่จะถ่ายทอดบุคลิกนิสัยไปสู่ลูกได้จริงหรือมากน้อยแค่ไหน หรือบุคลิกนิสัยของคนเราเป็นเรื่องที่กำหนดโดยสภาพแวดล้อม การเลี้ยงดู การศึกษา การใช้ชีวิตในสังคมมากกว่าหรือในสัดส่วนมากพอสมควร เช่น 50-50

นักวิทยาศาสตร์ที่สนใจศึกษาปัญหาเศรษฐศาสตร์การเมือง สังคมวิทยาแนวก้าวหน้า มองว่าสภาพแวดล้อมสังคมยังคงมีอิทธิพลมาก รหัสพันธุกรรมอาจจะถ่ายทอดส่งต่อรูปร่างหน้าตา ผิวพรรณ ระดับสติปัญญา รวมทั้งความเสี่ยงต่อโรคภัยบางอย่างให้ลูกหลานได้ แต่ยังพิสูจน์ไม่ได้ว่ารหัสพันธุกรรมเป็นตัวถ่ายทอดบุคลิกลักษณะนิสัยหรือแนวโน้มพฤติกรรมไปสู่ลูกหลาน ข้อมูลการวิจัยพบว่า ขึ้นอยู่กับผลกระทบจากการเลี้ยงดู สภาพแวดล้อมทางสังคมที่แต่ละคนเติบโตอยู่มาก

นักวิชาการรุ่นปัจจุบันหลายคนมองว่า ปัจจัยทั้ง 2 อย่างคือ ธรรมชาติ (Nature) และการเลี้ยงดู (Nurture) ต่างมีอิทธิพลต่อมนุษย์ร่วมกัน เราไม่ควรมองแบบสุดโต่ง 2 ขั้ว ว่ารหัสพันธุกรรมกำหนดทุกอย่าง หรือมีอิทธิพลมากกว่าเรื่องสภาพแวดล้อมการเลี้ยงดู แต่เราต้องศึกษาวิจัยต่อไปว่ารหัสพันธุกรรมมีส่วนกำหนดหรือมีอิทธิพลต่อลูกหลานในเรื่องอะไรมากน้อยแค่ไหน และเราจะทำอะไรในเรื่องนี้ได้บ้าง