ผลิตภาพทางสังคม (Social productivity)

ผลึกความคิดที่สำคัญประการหนึ่งของผู้คนในสังคมจำนวนมาก ที่เป็นผลมาจากการมองภาพกว้างๆ ของการพัฒนาทางสังคม
และเศรษฐกิจของไทยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองค่อนข้างมากและต่อเนื่อง ก็คือ ผลิตภาพทางสังคม (Social productivity) ที่อยู่ในภาวะถดถอย มีแนวโน้มที่จะทำให้เกิดภาวะถดถอยของผลิตภาพทางเศรษฐกิจ (Economic productivity) เช่นกัน สมมติฐานดังกล่าว ทำให้เกิดคำถามในใจตามมาว่า การพัฒนาหรือฟื้นฟูความเข้มแข็งของผลิตภาพทางเศรษฐกิจที่กำลังอยู่ในภาวะถดถอยดังกล่าว และอาศัยการกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจเพียงด้านเดียว มีความเป็นไปได้หรือมีโอกาสประสบความสำเร็จหรือไม่
คำตอบในเรื่องนี้ ควรเริ่มต้นจากการมองถึงภาพสะท้อนหรือความเชื่อมโยงระหว่างผลิตภาพของทั้งสองส่วนที่พบเห็นได้ทั่วๆ ไป คือ หากผู้คนในสังคมมีความสุขมากขึ้น ก็จะมีแนวโน้มจับจ่ายใช้สอยหรือบริโภคสินค้าและบริการต่างๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะสินค้าที่มีมูลค่าเพิ่มสูง แต่หากผู้คนมีความรู้สึกหดหู่หรือมองไม่เห็นอนาคตความสงบสุข (หรือความมั่นคง) ของสังคม ซึ่งเป็นพื้นฐานความต้องการของมนุษย์ได้แล้ว ผู้คนก็อาจจำเป็นต้องหันมาให้ความสำคัญกับความมั่นคงของตนเองมากขึ้นกว่าปกติ (เพื่อชดเชยกับความมั่นคงทางสังคมที่ลดลง) โดยเฉพาะความมั่นคงทางด้านเศรษฐกิจ ทิศทางดังกล่าวจะส่งผลให้กำลังซื้อโดยรวมของสังคมมีแนวโน้มหดตัวลง เพราะประชาชนจะลดการบริโภคให้เหลือเฉพาะการจับจ่ายสินค้าและบริการขั้นพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตเท่านั้น เพื่อให้เกิดความมั่นคงของชีวิตในระยะยาวให้มากที่สุด ความต้องการหรือกำลังซื้อโดยรวมก็จะมีแนวโน้มลดลง ส่งผลให้การลงทุนของภาคเอกชนเพื่อผลิตสินค้าและบริการต่างๆ เกิดการชะลอตัวตามมา ขณะที่ ต้นทุนคงที่ต่างๆ ที่ใช้ในการผลิต อาทิ ค่าจ้างแรงงาน หรือเครื่องมือเครื่องจักร เป็นต้น ไม่อาจปรับตัวลดลงได้ทันที สถานการณ์เช่นนี้ก็จะส่งผลให้ผลิตภาพทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มต่ำลง
นอกจากผลกระทบในเชิงปริมาณดังกล่าวแล้ว ผลกระทบในเชิงคุณภาพที่สำคัญประการหนึ่งที่อาจจะเกิดขึ้นตามมา ก็คือ การสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะนวัตกรรม (สินค้าและบริการ) ที่มีความสำคัญและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มสูง หรือ radical innovation ซึ่งเป็นผลิตผลที่สำคัญของการใช้ประโยชน์จากทุนทางปัญญาที่มีการสะสมมาอย่างต่อเนื่องของสังคมและกระบวนการผลิตที่มีประสิทธิภาพของหน่วยผลิตต่างๆ ในสังคม ก็จะมีแนวโน้มลดน้อยลงหรืออาจไม่มีเลย เพราะกำลังซื้อทางสังคม (ความสงบสุขหรือความมั่นคง) อยู่ในภาวะถดถอยนั่นเอง อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมที่อาจจะเกิดขึ้นได้บ้างในสถานการณ์เช่นนี้ คือ incremental innovation หรือนวัตกรรมเพียงบางส่วนและก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มที่ไม่สูงมากนัก ผลที่ตามมาคือ ประสิทธิภาพการทำงานของกลไกหรือหน่วยการผลิตทางเศรษฐกิจและสังคม ในการผลิตสินค้าและบริการทางเศรษฐกิจและสังคมมีแนวโน้มลดลง เพราะหน่วยผลิตต่างๆ มีแนวโน้มที่จะใช้ปัจจัยการผลิตหรือทุนทางปัญญาเท่าเดิมหรือสูงขึ้น แต่ได้ผลิตผลทางสังคมต่ำลง หรือมีมูลค่าเพิ่มน้อยลง
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบดังกล่าว ทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ นอกจากจะทำให้กำลังซื้อหรือขนาดเศรษฐกิจโดยรวมขยายตัวน้อยลงแล้ว ระบบเศรษฐกิจก็ยังเสียโอกาสในแง่ของการยกระดับการผลิตหรือความสามารถทางการผลิต จากที่เคยผลิตสินค้าและบริการในกลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มต่ำไปสู่กลุ่มที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งการผลิตซ้ำของทุนทางปัญญาของสังคมก็มีแนวโน้มลดลง ซึ่งเป็นผลมาจากความคิดสร้างสรรค์หรือนวัตกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นน้อยลงหรือไม่เกิดขึ้นเลย ผลกระทบทั้งในแนวกว้างและแนวลึกเช่นนี้ นอกจากในท้ายที่สุดจะมีผลย้อนกลับมาทำให้ประชาชนไม่อาจยกระดับรายได้และคุณภาพชีวิตให้สูงขึ้นได้แล้ว ผลที่ตามมาที่สำคัญประการหนึ่ง คือ ประเทศยังคงต้องติดกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง (Middle income trap) ต่อไป
เมื่อพิจารณาเหตุผลที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แนวคิดที่กล่าวว่า เมื่อเศรษฐกิจมีปัญหา ก็จะทำให้ปัญหาสังคมมีมากขึ้น อาจจำเป็นต้องมองในมุมกลับด้วยว่า เมื่อสังคมมีปัญหา ก็จะทำให้ปัญหาเศรษฐกิจมีมากขึ้นเช่นกัน อันเป็นผลมาจากการที่ผลิตภาพทางเศรษฐกิจและผลิตภาพทางสังคม เป็นปัจจัยที่ต่างก็มีผลกระทบหรือต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่สามารถแยกจากกันได้ ทำให้เมื่อสังคมมีปัญหากับผลิตภาพส่วนหนึ่ง ผลิตภาพอีกส่วนหนึ่งก็มีแนวโน้มที่จะเกิดปัญหาตามมา
จากที่กล่าวมาแล้ว หากปัญหาที่เกิดขึ้นไม่สามารถแยกส่วนกันมองหรือแยกกันเดินระหว่างภาคเศรษฐกิจและภาคสังคมได้แล้ว การดำเนินนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจให้ประสบความสำเร็จ จึงอาจจำเป็นต้องคำนึงถึงความสำเร็จของการดำเนินนโยบายและมาตรการทางสังคมควบคู่กันไปด้วย และกลไกการทำงานทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ก็อาจจะไม่สามารถแยกส่วนการทำงานกันได้อีกต่อไป ขณะที่ ประสิทธิภาพของหน่วยการผลิตทางเศรษฐกิจ ก็จำเป็นต้องพึ่งพิงประสิทธิภาพของหน่วยการผลิตทางสังคม
ดังนั้น การกำหนดนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจ โดยมีเป้าหมายเพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูความเข้มแข็งของผลิตภาพทางเศรษฐกิจ อาจจะกลายเป็นเพียงเงื่อนไขที่จำเป็นเท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงการกำหนดนโยบายและมาตรการทางสังคม เพื่อการพัฒนาหรือฟื้นฟูความเข้มแข็งของผลิตภาพทางสังคมควบคู่กันไปด้วย ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่เพียงพอที่จะทำให้ระบบเศรษฐกิจกลับมาเข้มแข็งได้ในระยะยาว หรือหากมองไกลไปกว่านั้นคือ ประเทศสามารถก้าวข้ามกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลางไปได้ในที่สุด