กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมของบริษัท

กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมของบริษัท

ในปัจจุบัน ธุรกิจที่จะทำกำไรได้อย่างมั่นคงและต่อเนื่อง จำเป็นที่จะต้องนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ออกสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

การนำเสนอสิ่งใหม่ๆ ออกสู่ตลาดเป็นครั้งแรกของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ ผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ การออกแบบใหม่ไม่ดูซ้ำเดิม การนำกระบวนการผลิตใหม่ๆ มาใช้เพื่อให้สินค้าหรือผลิตภัณฑ์มีคุณภาพที่ดีขึ้น แม้กระทั่งการออกแบบกระบวนการทำงานใหม่ เช่น เพิ่มช่องทางการขายใหม่ การให้บริการใหม่ วิธีการรับชำระเงินใหม่ ฯลฯ ถือได้ว่า เป็นการสร้างนวัตกรรมของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ความใหม่ ที่จะเรียกได้ว่าเป็นนวัตกรรมนั้น จำเป็นที่จะต้องมีเงื่อนไขอื่นกำกับด้วย เช่น จะต้องเป็นความใหม่ที่สร้างคุณค่าเพิ่มให้กับลูกค้าหรือผู้บริโภค ได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายจากตลาด ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาด โดยเฉพาะการสร้างความสามารถในการแข่งขันในตลาดให้กับบริษัท

รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสมรรถนะของการทำธุรกิจ การผลิต หรือการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีต่างๆ ที่นำมาใช้ประกอบในการทำธุรกิจของบริษัท

ขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัทที่จะเกิดขึ้นได้จากการสร้างนวัตกรรม จะขึ้นอยู่กับมิติต่างๆ มิติใดมิติหนึ่ง หรือหลายมิติรวมกัน เช่น ต้นทุนที่ได้เปรียบ คุณภาพและการทำงานของผลิตภัณฑ์ที่เหนือกว่า ความคงทนถาวร การใช้งานที่สะดวกและเชื่อถือได้ รูปแบบที่ถูกใจ รวมถึงภาพลักษณ์ของบริษัทในแง่ของการเป็นบริษัทที่มีนวัตกรรม

รวมไปถึงการเป็นเจ้าของทรัพยากรในการผลิต เช่น วัตถุดิบ เครื่องจักรอุปกรณ์ในการผลิต ทักษะและความสามารถของบุคคลากร องค์ความรู้ที่สะสมอย ู่ในองค์กร การมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อผู้มีส่วนได้เสียของบริษัท

สิ่งเหล่านี้ จะเป็นปัจจัยเสริมให้กับการสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจ

บริษัท อาจวางกลยุทธ์ในการสร้างนวัตกรรมได้ โดยการหันกลับมาวิเคราะห์สถานภาพภายในของบริษัทในปัจจุบัน ใน 2 ด้าน คือ ในด้านประสิทธิภาพเชิงเทคโนโลยี และในด้านความสามารถในการให้บริการต่อตลาดและผู้บริโภค ว่าเป็นอย่างไร และควรจะวางกลยุทธ์ในอนาคตต่อไปอย่างไร

ในด้านประสิทธิภาพเชิงเทคโนโลยี มี 2 ทางเลือก คือ กลยุทธ์การหันไปใช้เทคโนโลยีใหม่ และกลยุทธ์การพัฒนาเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้น

จะเห็นได้ว่า หากเลือกกลยุทธ์ใช้เทคโนโลยีใหม่ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นก็คือ ประสบการณ์ ความรู้ และทักษะที่บริษัทได้สะสมไว้จากการใช้เทคโนโลยีเดิมจะสูญหายไป และไม่สามารถนำมาใช้ได้ทันทีกับเทคโนโลยีใหม่ แต่จะให้ประโยชน์ในการสร้างนวัตกรรมแบบฉับพลัน ไม่ใช่แบบค่อยเป็นค่อยไป

ในเชิงการตลาด ก็จะคล้ายคลึงกัน คือ ทางเลือกในการพัฒนาตลาดแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือทางเลือกที่จะนำสิ่งใหม่เสนอต่อตลาดในเชิงรุกอย่างรวดเร็ว

เมื่อพิจารณาในเชิงเทคโนโลยีและความเชื่อมโยงกับตลาด จะทำให้บริษัท สามารถเลือกทำกลยุทธ์นวัตกรรมได้ใน 4 รูปแบบ

1.กลยุทธ์นวัตกรรมแบบปกติ (Regular Innovation)

พัฒนาหรือปรับปรุงเทคโนโลยีเดิมที่ใช้อยู่ให้มีประสิทธิภาพดีขึ้น และนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการพัฒนาเทคโนโลยีนั้นนำเสนอในตลาดเดิมของบริษัท

เช่น บริษัทผลิตรถยนต์ที่พัฒนารถรุ่นใหม่ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

2.กลยุทธ์นวัตกรรมแบบปฏิวัติ (Revolutionary Innovation)

เปลี่ยนเทคโนโลยีเดิมที่เคยใช้อยู่มาเป็นเทคโนโลยีใหม่ล่าสุด แต่ยังนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่ได้จากเทคโนโลยีใหม่นี้ในตลาดเดิม

การเปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ อาจทำให้บริษัทต้องสร้างสายการผลิตขึ้นใหม่หรือสร้างโรงงานใหม่มารองรับ

เช่น บริษัทรถยนต์ที่หันมาผลิตรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงทางเลือกใหม่ๆ เช่น รถไฮบริด รถยนต์ไฟฟ้า

3.กลยุทธ์นวัตกรรมแบบหาช่องว่างทางการตลาด (Niche Innovation)

ใช้เทคโนโลยีเดิม แต่หาทางเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ พัฒนาผลิตภัณฑ์เฉพาะสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการพิเศษที่ไม่เหมือนกับกลุ่มลูกค้าเดิม

เช่น บริษัทผลิตรถยนต์นั่ง หันมาผลิตรถยนต์บรรทุก รถยนต์โดยสาร หรือรถยนต์เพื่อการพาณิชย์อื่นๆ

4.กลยุทธ์นวัตกรรมแบบเปลี่ยนโครงสร้าง (Architectural Innovation)

เปลี่ยนเทคโนโลยีใหม่ หรือนำเทคโนโลยีใหม่มาใช้ และนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่อตลาดหรือกลุ่มลูกค้าใหม่

เช่น บริษัทรถยนต์ ที่หันไปผลิตสินค้าประเภทอื่น เช่น เรือ หรือเครื่องจักรกลอื่นๆ

จะเห็นได้ว่า การเลือกใช้กลยุทธ์นวัตกรรมแบบใดแบบหนึ่ง จะขึ้นอยู่กับความพร้อมของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของ ความสามารถในการลงทุน ความสามารถในการเรียนรู้และพัฒนาทักษะใหม่ๆ ของทรัพยากรบุคคล และความสามารถในการพัฒนาความเชื่อมโยงกับตลาดใหม่ๆ

รวมไปถึงการก้าวกระโดดของผลตอบแทนเชิงธุรกิจที่จะเกิดขึ้นจากการลงทุนในการสร้างนวัตกรรมด้วย

แต่สิ่งสำคัญที่สุดที่จะเป็นพื้นฐานไปสู่การสร้างบริษัทนวัตกรรม คงหนีไม่พ้นเรื่องของการให้ความสำคัญกับเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้ในการทำธุรกิจ

ความรู้ความเข้าใจและการให้ความสนใจ ติดตามความก้าวหน้าใหม่ๆ ทางเทคโนโลยี จึงเป็นทักษะและองค์ความรู้ที่สำคัญอีกประเภทหนึ่งที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจสมัยใหม่จะต้องให้ความสนใจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้