วิกฤติตัวประกัน : บทบาทและท่าทีของญี่ปุ่น (1)

อ่อนไหวและสั่นสะเทือนไปทั่วโลก สำหรับภาพที่กลุ่ม “รัฐอิสลาม” หรือกลุ่ม IS สังหารตัวประกันญี่ปุ่นสองคนและตัวประกันชาวจอร์แดนอย่างเหี้ยมโหด
ถือเป็นวิกฤติตัวประกันที่อ่อนไหวที่สุดครั้งหนึ่งที่ได้รับความสนใจจากทั่วโลกนับตั้งแต่กรณีวิกฤติตัวประ กันเจ้าหน้าที่สถานทูตสหรัฐในอิหร่านเมื่อปี 1979
ดังนั้น ท่าทีและบทบาทของรัฐบาลญี่ปุ่นและจอร์แดนต่อวิกฤติครั้งนี้ จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจน่าศึกษาเป็นอย่างยิ่ง รวมทั้งผลกระทบอื่นๆ ที่จะเกิดตามมาในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ในส่วนของตัวประกันญี่ปุ่นเชื่อกันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นรับทราบเรื่องตัวประกันทั้งสองคนถูกจับตัวตั้งแต่เดือนพ.ย.ปีที่แล้ว แต่พยายามปิดข่าวและเดินเกมแบบเงียบๆ เจรจาแบบลับๆ ที่จะให้มีการปล่อยตัว แต่ไม่ประสบความสำเร็จ (เหมือนที่เคยทำได้ในปี 2010 ที่อัฟกานิสถาน) ในขณะเดียวกัน กลุ่ม IS (ซึ่งมีชื่อเรียกในอีกหลายๆ ชื่อตั้งแต่ ISIS, ISIL, หรือ Daesh ในภาษาอาหรับ) ก็แทบจะไม่เคยนำเรื่องหรือภาพวีดิทัศน์ของตัวประกันทั้งสองคนมาเป็นเงื่อนไขหรือเสนอทางอินเทอร์เน็ตเหมือนตัวประกันชาติอื่นๆ ก่อนหน้านี้
ว่ากันว่า คำประกาศของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะในระหว่างการเดินทางเยือนอียิปต์เมื่อวันที่ 17 ม.ค.ที่จะสนับสนุนเงินช่วยเหลือ 200 ล้านดอลลาร์ให้แก่ประเทศที่ประเทศที่กำลังเผชิญกับปัญหาคุกคามและกำลังต่อสู้กับกลุ่ม IS (โดยเฉพาะการจัดการกับปัญหาผู้อพยพ) (และอีก 2.5 พันล้านดอลลาร์ในอนาคต) กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ญี่ปุ่นกลายเป็นเป้าหมายของกลุ่ม IS ไปในทันที เพราะกลุ่ม IS มองว่า ท่าทีของรัฐบาลญี่ปุ่นดังกล่าวคือการสนับสนุนปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐเพื่อฆ่าชาวมุสลิมในซีเรียและอิรัก
การเดินทางเยือนอิสราเอลของนายกรัฐมนตรีอาเบะในวันที่ 20 ม.ค.น่าจะเป็นฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้กลุ่ม IS ถึงจุดเดือดสุดและตัดสินใจเลือกเล่นเกมอันตรายหลังจาก “เก็บดอง” ตัวประกันสองคนมานานกว่า 3 เดือนจนลุกลามกลายเป็นวิกฤติตัวประกันที่ร้อนแรงและอ่อนไหวที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์
การที่กลุ่ม IS เจตนาเผยแพร่คลิปวีดีโอของตัวประกันลูกพระอาทิตย์เป็นครั้งแรก ณ ช่วงเวลาที่ผู้นำญี่ปุ่นกำลังอยู่ในกรุงเยรูซาเลม ย่อมเป็นสัญญาณที่บ่งบอกรัฐบาลญี่ปุ่นอย่างชัดเจนที่สุดแล้ว ถึงแม้ว่า ผู้นำญี่ปุ่นมีกำหนดการเยือนปาเลสไตน์เป็นลำดับถัดไป มีความพยายามที่จะช่วยประสานก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์มากขึ้น และยืนยันกับผู้นำอิสราเอลว่า ญี่ปุ่นปรารถนาที่จะเห็น “รัฐปาเลสไตน์” ได้รับการรับรองฐานะอย่างถูกต้อง แต่ความปรารถนาดีๆ เหล่านี้กลับไม่ผ่านสายตาของกลุ่ม IS เลย เพราะเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด อิสราเอลคือศัตรูหมายเลขหนึ่งตลอดกาลของกลุ่ม IS และโลกอาหรับที่ไม่มีวันสมานฉันท์ได้
ปฏิกิริยาแรกๆ ของผู้นำญี่ปุ่นภายหลังรับรู้วิกฤตินอกเหนือจากการขอความร่วมมือจากผู้นำของจอร์แดน ตุรกีและอียิปต์เพื่อหาทางช่วยเหลือชีวิตตัวประกันแล้ว นายกรัฐมนตรีอาเบะก็รีบเดินทางกลับประเทศทันที (แต่เยือนครบทุกประเทศตามกำหนดการเดิม) เพื่อรับมือกับวิกฤติครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศเมื่อสองปีที่แล้ว
ในขณะเดียวกัน ท่าทีของผู้นำญี่ปุ่นต่อวิกฤติตัวประกันในครั้งนี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า แข็งกร้าว (เกินเหตุ) ราวกับว่ารัฐบาลยึดมั่นในหลักการเหนือชีวิตของตัวประกัน เพราะกลัวว่าโลกจะมองว่ารัฐบาลยอมก้มหัวอ่อนข้อให้แก่กลุ่มก่อการร้าย ที่น่าสนใจก็คือ ท่าทีของสาธารณชนจำนวนไม่น้อยที่เห็นด้วยกับท่าทีของผู้นำคนนี้ และยังกล่าวตำหนิตัวประกันว่า สร้างปัญหาความยุ่งยากให้กับประเทศ (ทั้งๆ ที่ทางการได้พยายามห้ามปรามไม่ให้เดินทางไปซีเรียแล้วก็ตาม)
ก่อนหน้านี้ ในช่วงต้นเดือนม.ค. กลุ่ม IS เคยเขียนอีเมล์ติดต่อเรียกขอเงินค่าไถ่จากครอบครัวตัวประกันคนที่ 2 จำนวน 17 ล้านดอลลาร์โดยแทบไม่ปรากฏเป็นข่าวต่อสาธารณะ แต่สามวันต่อมาภายหลังคำประกาศของผู้นำญี่ปุ่นที่อียิปต์กลุ่ม IS ก็ประกาศเรียกเงินค่าไถ่สำหรับตัวประกันทั้งสองคนเป็นเงิน 200 ล้านดอลลาร์ (เท่ากับจำนวนเงินช่วยเหลือของรัฐบาล)
ดังนั้น เมื่อรัฐบาลญี่ปุ่นปฏิเสธไม่ทำตามเงื่อนไขของกลุ่ม IS ภายในกำหนดเส้นตาย 72 ชั่วโมง ตัวประกันคนแรก (ซึ่งเชื่อว่าถูกจับตัวตั้งแต่เดือนส.ค.ปีที่แล้ว) จึงถูกฆ่าตัดศีรษะจบชีวิตอย่างน่าสลดที่สุด เสมือนหนึ่งเป็นการเชือดไก่ให้ลิงดู และประกาศเตือนว่ากลุ่ม IS ทำจริงไม่ล้อเล่นเหมือนที่สังคมออนไลน์ล้อเลียนอย่างสนุกเกินเลย (เพราะไม่เชื่อว่าเป็นเรื่องจริง)
กลุ่ม IS ตระหนักดีตั้งแต่แรกว่า ผู้นำญี่ปุ่นคนนี้จะไม่มีวันยอมจ่ายเงินค่าไถ่อย่างแน่นอน ดังนั้น เมื่อสังหารตัวประกันคนแรกแล้ว ก็ได้ปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ข้อต่อรองใหม่ให้หนักขึ้น โดยยื่นเงื่อนไขแลกเปลี่ยนตัวประกันระหว่างนักโทษหญิงชาวอิรักกับตัวประกันชาวญี่ปุ่น ถือเป็นดีลเงื่อนไขที่สร้างความหนักใจและยุ่งยากให้กับรัฐบาลญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น ด้วยเหตุผลหลักๆ สองประการ ดังนี้
หนึ่ง ถึงแม้ว่า ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาวิกฤติตัวประกันมาก่อนในอดีต โดยเฉพาะในปี 2004 ที่ตัวประ กันถูกสังหารในอิรักแต่วิกฤติตัวประกันครั้งนี้ถือว่าอ่อนไหวและเลวร้ายที่สุดสำหรับสาธารณชนญี่ปุ่นก็ว่าได้
ปัญหาสำคัญหนึ่งสำหรับรัฐบาลอาเบะในการจัดการแก้ปัญหาวิกฤติในครั้งนี้ก็คือ ญี่ปุ่นไม่มีศักยภาพหรือช่องทางใดๆ ที่จะสามารถเจรจาหรือกดดันกลุ่ม IS ได้โดยตรง ต้องอาศัยขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลอียิปต์ ตุรกี (ซึ่งเคยประสบความสำเร็จในการช่วยเหลือตัวประกันมาก่อน) จอร์แดนและปาเลสไตน์ นอกจากนี้ นับตั้งแต่ญี่ปุ่นปิดสถานทูตในซีเรีย ซึ่งถือเป็นฐานที่มั่นหลักของกลุ่ม IS ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2012 เป็นต้นมา ก็ยิ่งทำให้ญี่ปุ่นขาดช่องทางระดับท้องถิ่นในการติดต่อเจรจากับกลุ่ม IS ทั้งโดยตรงและโดยอ้อมมากยิ่งขึ้น
สอง นักโทษหญิงชาวอิรัก ซึ่งกลายเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิตของตัวประกันญี่ปุ่น เป็นนักโทษประหารที่อยู่ภายใต้การควบคุมของทางการจอร์แดน เรียกว่าอยู่นอกเหนืออำนาจการตัดสินใจของรัฐบาลญี่ปุ่นที่จะสามารถทำอะไรได้ตามที่ต้องการ หรือไม่สามารถจะกดดันรัฐบาลจอร์แดนในเรื่องนี้ได้เลย เพราะจอร์แดนเกี่ยวข้องและประสบปัญหาวิกฤติตัวประกันครั้งนี้หนักหนายิ่งกว่าญี่ปุ่นเสียอีก ดังนั้น ชะตากรรมของตัวประกันชาวญี่ปุ่นจึงขึ้นอยู่กับท่าที ความเต็มใจและการตัดสินใจของจอร์แดนเป็นสำคัญที่สุด
(อ่านต่อวันจันทร์ที่ 2 มี.ค.58)