ความเป็นไปได้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย
ประวัติศาสตร์ธุรกิจเป็นประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งที่กำลังได้รับความสนใจจากนักวิชาการภูมิภาคต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
เหตุผลส่วนหนึ่งเพราะสอดรับกับกระแสทุนนิยม การพาณิชย์และเศรษฐกิจของโลกในคริสต์ศตวรรษนี้ ขอบเขตของการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจรวมถึงวิวัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของระบบธุรกิจ ผู้ประกอบการ บริษัท ที่สัมพันธ์กับบริบททางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
ย้อนไปเมื่อต้นคริสต์ศตวรรษที่แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นช่วงเวลาของการก่อตัว นักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์และบริหารธุรกิจเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ให้ความสำคัญกับประวัติศาสตร์ประเภทนี้ เนื่องจากต้องการเข้าใจเศรษฐกิจในอดีตให้ดียิ่งขึ้น ใช้กรณีศึกษาทางธุรกิจจากอดีตเพื่อการบริหารธุรกิจในปัจจุบัน และมอง “ธุรกิจ” ในทางบวกมากขึ้น
Harvard Business School (HBS) ประเทศสหรัฐอเมริกา เป็นตัวอย่างของโรงเรียนธุรกิจที่เริ่มขยับตัวตั้งแต่คริสต์ทศวรรษที่ 1920 ได้จัดพิมพ์ The Bulletin of the Business Historical Society ในปีค.ศ. 1926 ซึ่งต่อมาคือวารสาร Business History Review อันโด่งดัง จัดตั้งตำแหน่ง Isidor Straus Professorship in Business History ในค.ศ. 1927 โดยได้รับเงินทุนสนับสนุนจากห้างสรรพสินค้า Macy นักประวัติศาสตร์ธุรกิจรุ่นบุกเบิก เช่น N. S. B. Gras ตีพิมพ์หนังสือชื่อ Business and Capitalism: An Introduction to Business History ในค.ศ. 1939 กล่าวถึงการเกิดนโยบายธุรกิจและการจัดการธุรกิจผ่านทุนนิยมรูปแบบต่างๆ
ตลอดทศวรรษ 1950 ศูนย์การวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดที่เน้นประวัติศาสตร์ผู้ประกอบการ (entrepreneurial history) ทำให้บรรยากาศการศึกษามีชีวิตชีวาเป็นอย่างมาก มีการแลกเปลี่ยนภูมิปัญญาประวัติศาสตร์ธุรกิจกับสาขาวิชาอื่น จนมาถึงขณะนี้ HBS ยังคงชูประวัติศาสตร์ธุรกิจเป็นหนึ่งในแขนงหลักของการเรียนการสอนและการทำวิจัย
สำหรับวงการประวัติศาสตร์ไทย ประเด็นทางประวัติศาสตร์ธุรกิจ เป็นต้นว่า รูปแบบของนายทุนหรือผู้ประกอบการ การสะสมทุน กลุ่มธุรกิจ ประเภทของบริษัท อุตสาหกรรม สินค้า บริการ และลักษณะของแรงงาน ได้แทรกตัวอยู่ตามงานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจและการพัฒนาของทุนนิยมไทยมานานนับสิบปี
ภาควิชาประวัติศาสตร์ เช่นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเปิดสอนรายวิชาประวัติศาสตร์ธุรกิจไทย งานวิจัยประวัติศาสตร์ประเภทนี้โดยตรงเพื่อช่วยเสริมการเรียนการสอนยังมีน้อยมาก ไม่นานมานี้ กลุ่มอาจารย์จากคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้เป็นผู้ริเริ่มขยายองค์ความรู้ประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยอย่างจริงจัง แสวงหาความร่วมมือจากนักวิชาการผู้สนใจทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะจากญี่ปุ่น เดนมาร์ก และสหรัฐอเมริกา หนึ่งในตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมคือ การจัดประชุมวิชาการประวัติศาสตร์ธุรกิจเอเชียระดับนานาชาติเมื่อพ.ศ. 2556 ภายใต้ชื่อ “Siam Then, Thailand Now: Creating Thai Capitalism during Two Eras of Globalization” (http://tbsbusinesshistory2013.tbs.tu.ac.th/)
ผู้เข้าร่วมการประชุมเป็นนักวิชาการสาขาบริหารธุรกิจ เศรษฐศาสตร์ และประวัติศาสตร์ นำเสนอผลงาน เช่น เรื่องการก่อตัวของธุรกิจสยามและทุนนิยมในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต้น 20 การมีส่วนร่วมและการถ่ายทอดเทคโนโลยีแบบแดนีชในการเกิดของบริษัทซีเมนต์ไทย อิทธิพลของการจัดการแบบญี่ปุ่นที่มีต่อกลยุทธ์องค์กรของเครือสหพัฒน์ บริษัทข้ามชาติและการพัฒนาของอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยผ่านการศึกษาบริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย เป็นต้น
องค์ปาฐกของงานนี้ คือ Geoffrey Jones ศาสตราจารย์ผู้เป็นหัวแรงใหญ่ในการส่งเสริมประวัติศาสตร์ธุรกิจที่ Harvard Business School ได้ตอกย้ำการศึกษาแบบสหวิทยา เน้นการเชื่อมโลกเข้าด้วยกัน และสรุปแนวโน้มการทำวิจัยไว้ว่า พรมแดนการศึกษายังครอบคลุมธุรกิจครอบครัว กลุ่มธุรกิจ องค์กรข้ามชาติ หัวข้อใหม่ๆ รวมถึงการให้คำปรึกษาทางธุรกิจ การโฆษณา การท่องเที่ยว แฟชั่น ความงาม ประเด็นกว้างๆ อาทิ ความรู้เรื่องธุรกิจ อัตลักษณ์ วัฒนธรรม เพศสภาพ ชาติพันธุ์ อาชญากรรม สงคราม และกฎหมาย ยังต้องได้รับการเน้น
เราเห็นความเป็นไปได้ในการศึกษาประวัติศาสตร์ประเภทนี้ชัดเจนยิ่งขึ้น เห็นประเด็นและแนวทางการศึกษา เห็นความร่วมมือข้ามสาขาวิชา ข้ามสถาบันการศึกษา กระนั้น เรายังเผชิญกับอุปสรรคใหญ่เช่นเดียวกับที่ประวัติศาสตร์ไทยประเภทอื่นเผชิญ คือ การหาและเข้าถึงหลักฐานทางประวัติศาสตร์ แม้เราจะสามารถหากลุ่มเอกสารหลัก เช่น ประวัติบริษัทและนักธุรกิจ หนังสืองานศพ รายงานประจำปีของบริษัท รายงานสถิติ ประมวลกฎหมาย ได้ตามห้องสมุดของสถาบันการศึกษา แต่เรายังต้องการความหลากหลายของกลุ่มหลักฐาน
หอจดหมายเหตุและห้องสมุดของภาครัฐที่ให้ความสำคัญกับการเก็บเอกสารเก่าทางธุรกิจโดยตรงแทบจะไม่มี กลุ่มเอกสารที่หอสมุดแห่งชาติเปิดให้ใช้ เช่น หนังสือพิมพ์ นิตยสารในปีเก่าๆ โดยเฉพาะที่ถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างน้อย 50 ปีมาแล้ว เริ่มชำรุดอย่างต่อเนื่อง ผู้ใช้บริการไม่สามารถที่จะขอใช้บางส่วนได้เพราะอยู่ในขั้นตอนทำเป็นเอกสารดิจิทัลและต้องใช้เวลา นอกจากนี้ ยังหาใช้เอกสารของหน่วยงานราชการได้ลำบากขึ้น อาทิ เอกสารของกรมทะเบียนการค้า ซึ่งให้ข้อมูลการจดทะเบียนการค้าของบริษัทโดยละเอียด และเคยเป็นแหล่งข้อมูลชั้นเยี่ยมให้กับงานทางประวัติศาสตร์เศรษฐกิจมาก่อน
การพึ่งพาเอกสารจากหอสมุดหรือหอจดหมายแห่งชาติอย่างเดียวคงไม่เพียงพอสำหรับการค้นคว้าวิจัยเฉพาะด้าน สถาบันการศึกษาที่เน้นจุดแข็งทางการสอนธุรกิจสามารถให้ความสำคัญกับศูนย์เก็บเอกสารหรือหอจดหมายทางธุรกิจ อาจจะอาศัยความร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดตั้ง ระดมเงินบริจาค รวบรวมเอกสาร ให้ทุนการศึกษา ทุนทำวิจัย ดังศึกษาตัวอย่างได้จาก John W. Hartman Center for Sales, Advertising & Marketing History อยู่ใน Rubenstein Rare book & Manuscript Library, Duke University ที่ได้รับเอกสารมาจากหอจดหมายเหตุของบริษัทโฆษณา J. Walter Thompson ในค.ศ. 1987
ภาคธุรกิจ หอการค้าและสมาคมการค้าเองสามารถจัดตั้งหอจดหมายเหตุเล่าความเป็นมา สร้างความทรงจำของการดำเนินการค้าของตน เพื่อเป็นบทเรียนให้กับคนรุ่นหลัง เป็นพลังสนับสนุนและนำความสว่างไสวให้กับการศึกษาประวัติศาสตร์ธุรกิจไทยในอนาคตอันใกล้ได้เช่นกัน