จีดีพีโตช้าไม่เป็นไร? (2)

จีดีพีโตช้าไม่เป็นไร? (2)

ครั้งที่แล้วผมเขียนถึงความเป็นห่วงว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นตัวช้า แต่บางคนก็บอกว่าไม่เป็นไรเพราะอยู่ในช่วงของการปราบคอร์รัปชันและการปฏิรูป

ซึ่งผมเห็นด้วยกับการดำเนินการดังกล่าว แต่มีความเป็นห่วงว่าเราเข้าใจกันชัดเจนเพียงใดว่าการฟื้นตัวช้านั้นจะเชื่องช้ามากน้อยเพียงใดในระยะยาว ซึ่งเศรษฐกิจโลกปัจจุบันก็อยู่ในสถานะที่ไม่แข็งแรงมากนัก เพราะเป็นโลกที่มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและยังเป็นการเพิ่มของหนี้สาธารณะของประเทศเศรษฐกิจหลักที่นับวันจะเป็นภาระมากขึ้น เพราะมีระบบรัฐสวัสดิการที่ประชาชนกำลังแก่ตัวลงอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ประชาชนก็จะอายุยืนยาวมากขึ้นด้วย ทำให้ภาระทางการเงินของรัฐบาลมีแต่จะเพิ่มขึ้นและฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก


ประเด็นที่กล่าวถึงข้างต้นเป็นการกล่าวแบบนามธรรม (ยกเว้นเรื่องของหนี้สินของโลกที่ตัวเลขเพิ่มจาก 87 ล้านล้านดอลลาร์ในปี 2000 หรือ 246% ของจีดีพีมาเป็น 199 ล้านดอลลาร์ในไตรมาส 2 ของปี 2014 หรือ 286% ของจีดีพี) แต่ก็มีการประเมินโดยบริษัทที่ปรึกษาแมคคินซีสรุปผลปรากฏในตารางที่ 1


บทสรุปหลักคือช่วง 1950-2014 ซึ่งเป็นช่วงที่ “พวกเรา” ที่ยังอยู่ในวัยทำงานหรือยังจำความได้เป็นช่วงที่เศรษฐกิจโลกขยายตัวดีอย่างต่อเนื่องอย่าง “ผิดปกติ” (an aberration of history) และแมคคินซี มองว่าจีดีพีของโลกในอนาคตนั้นน่าจะขยายตัวได้เพียง 2.1% โดยเฉลี่ยต่อปีในช่วง 50 ปีข้างหน้าคือ 2014-64 ทั้งนี้ ประเมินว่าในช่วง 64 ปีที่ผ่านมา (ซึ่งมีตัวเลขข้อมูลที่ละเอียดและครบถ้วนในระดับหนึ่ง) นั้นการขยายตัวของจีดีพีโลกในช่วง 1950-2014 นั้นแบ่งออกได้เป็นการขยายตัวเพราะผลิตภาพ (productivity) ที่เพิ่มขึ้นประมาณ 1.7% ต่อปี แต่ในอนาคตคือ 2014-64 นั้น แรงงานจะเพิ่มขึ้นเพียง 0.3% ต่อปี และแม้ว่าจะตั้งสมมุติฐานว่าผลิตภาพจะยังขยายตัวเท่าเดิมคือ 1.8% ต่อปี ก็จะทำให้จีดีพีขยายตัวได้เพียง 2.1% ต่อปี ทั้งนี้ ในตอนที่แล้วผมเขียนถึงการประเมินของโออีซีดีซีซึ่งประเมินว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวได้ 3% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าตัวเลข 2.1% ของแมคคินซี แต่มีสมมุติฐานว่าจะต้องมีการปฏิรูประบบรัฐสวัสดิการและลดการเพิ่มขึ้นของหนี้สาธารณะไม่ให้เป็นตัวฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจซึ่งอาจกล่าวโดยสรุปได้ว่า


1. แม้จะตั้งสมมุติฐานว่าผลิตภาพ (productivity) ของโลกหรือการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ ในอีก 50 ปีข้างหน้าจะเท่าเทียมกับที่ได้เกิดขึ้นในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา แต่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกก็ยังน่าจะลดลงจากประมาณ 4% ต่อปีในช่วง 50-60 ปีที่ผ่านมา เหลือประมาณ 2-3% ใน 50 ปีข้างหน้า


2. สาเหตุหลักคือการแก่ตัวของประชากรซึ่งจะมีอายุยืนยาวมากขึ้น แปลว่าจะมีคนทำงานเพิ่มขึ้นน้อย (เพิ่มขึ้น 0.3% ต่อปีใน 50 ปีข้างหน้า เมื่อเทียบกับ 1.7% ต่อปีใน 60 ปีที่ผ่านมา) แต่รัฐบาลจะต้องเก็บภาษีมากขึ้นเพื่อเลี้ยงผู้สูงอายุที่มีจำนวนมากขึ้นภายใต้เงื่อนไขของรัฐสวัสดิการ


สำหรับประเทศไทยนั้นผมเกรงว่าเราอาจจะยังไม่ได้ “เตรียมใจ” เอาไว้ว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (economic growth) อาจเป็นสิ่งที่หาได้ยากกว่าในอดีตมาก (future scarcity of growth) ทั้งนี้เพราะคนรุ่นผมซึ่งเกิดมาตั้งแต่ปี 1957 (อายุเกือบ 60 ปีแล้ว) จะคุ้นเคยกับเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวสูงเกินกว่า 5% ต่อปีได้โดยไม่ต้องออกแรงอะไรมากนักจนนึกว่าการขยายตัวของจีดีพีเป็นเรื่องง่าย แต่ผมเกรงว่าในอนาคตนั้นการจะทำให้จีดีพีขยายตัวเพียง 2-3% ต่อปีอาจเป็นเรื่องยากก็ได้โดยดูจากสถิติในตารางที่ 2


ผมเกิดปี 1957 จึงคุ้นเคยกับจีดีพีขยายตัวเกือบ 7% ต่อปีมานานตั้งแต่เกิดจนอายุกว่า 40 ปีจนหมดศตวรรษที่ 20 ซึ่งจะเห็นว่าตั้งแต่ปี 1957-1999 เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าไทยมาก และแม้ว่าจะมีเหตุการณ์ทางการเมือง (เช่น 14 ตุลาและ 6 ตุลาฯ) และปัญหาความมั่นคงของภูมิภาค (สงครามอินโดจีนและการถอนทหารจากเวียดนามของสหรัฐ) ตลอดจนวิกฤติน้ำมันที่ทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับสูงขึ้นจาก 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งกระทบเศรษฐกิจไทยอย่างรุนแรง แต่จีดีพีไทยก็ยังขยายตัวได้สูงถึง 6% ต่อปีโดยเฉลี่ย


แต่ในศตวรรษใหม่นี้จีดีพีของไทยชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ในขณะที่จีดีพีของโลกก็ยังขยายตัวประมาณ 3.5-4.0% ต่อปีเช่นเดิม แต่จีดีพีไทยที่เคยขยายตัว 6.5-7.0% ต่อปีชะลอตัวลงเหลือเพียง 3-4% ต่อปีใกล้เคียงกับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกหากจะมาอ้างปัญหาทางการเมืองก็ต้องบอกว่าไม่น่าจะถูกต้อง เพราะในช่วง 1970-1985 ซึ่งประเทศไทยเผชิญปัญหาการเมืองความมั่นคงและเศรษฐกิจมากมาย ซึ่งเป็นทั้งปัจจัยภายในและภายนอกแต่จีดีพีไทยก็ยังขยายตัวได้เกินกว่า 5% ต่อปีโดยเฉลี่ย จึงทำให้เชื่อได้ว่าการชะลอตัวในขณะนี้นั้นนอกจากจะมีปัจจัยการเมืองสอดแทรกแล้ว ปัจจัยเศรษฐกิจน่าจะเป็นเหตุผลหลัก ซึ่งผมเชื่อว่าตัวแปรหลักคือการส่งออกเพราะการส่งออกนั้นเคยเฉลี่ยประมาณ 15-20% ของจีดีพีในช่วง 1950-1975 และจากนั้นมาก็ปรับเพิ่มขึ้นไปเรื่อยๆ โดยเฉพาะหลังจากปี 1985 ที่ประเทศไทยปรับลดค่าเงินบาทและปัจจัยทางการเมืองและเศรษฐกิจระหว่างประเทศเอื้ออำนวยอย่างยิ่ง หลังจากนั้นประเทศไทยก็อาศัยการส่งออกเป็นหัวจักรขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจตลอดมา


ทั้งนี้ เมื่อประสบวิกฤติเศรษฐกิจในปี 1997 (ซึ่งการส่งออกในปีนั้นคิดเป็นสัดส่วน 35% ของจีดีพี) ก็ได้ลดค่าเงินบาทอีกครั้งใหญ่ (จาก 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ มาเป็น 42-45 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์) เพื่อกอบกู้เศรษฐกิจ ทำให้การส่งออกขยับขึ้นมาเป็น 60% ต่อจีดีพีในปัจจุบัน แต่ในขณะที่เรากำลังพึ่งพาส่งออกเป็นหลักนั้น ไทยกำลังสูญเสียความสามารถในด้านการส่งออกซึ่งเป็นเรื่องที่จะเขียนถึงต่อไปในตอนหน้าครับ