เปิดตัวบล็อกจของเบอร์นันเก้
หลังจากลงจากตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐไปพักใหญ่ ดร.เบน เบอร์นันเก้ อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐก็ได้ฤกษ์เปิดตัวบล็อกส่วนตัวของตนเอง
ที่ http://www.brookings.edu/blogs/ben-bernanke เป็นครั้งแรก ผู้เขียนรู้สึกได้รับเกียรติเป็นอย่างสูงที่ได้เขียนรีวิวโพสต์ของสุดยอดนักวิชาการท่านหนึ่งในยุคนี้
ณ วันที่เขียนบทความนี้ นายเบอร์นันเก้ได้โพสต์บทความไว้ 4 เรื่อง โดยสามเรื่องแล้ว เขียนถึงอัตราดอกเบี้ยโดยเฉพาะอย่างยิ่งของสหรัฐ เรื่องล่าสุดเขียนถึงเยอรมันโดยตรง ขอเกริ่นนำก่อนว่าผมรู้สึกว่านายเบอร์นันเก้ใช้พื้นที่นี้ในบางส่วนแก้ตัวให้กับนโยบายอยู่เล็กน้อย
เริ่มจากโพสต์แรกที่นายเบอร์นันเก้ใช้ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์มหภาคออกตัวว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากในขณะนี้ของสหรัฐ ล้วนมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำที่ส่งผลให้อัตราดอกเบี้ยต้องอยู่ในระดับที่ต่ำ เพื่อประคองให้เศรษฐกิจของตนเองยังพอจะเดินต่อไปได้ มิได้เกี่ยวข้องกับการที่ธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟดลดดอกเบี้ยนโยบายแต่อย่างใด เหตุผลคือธุรกิจจะยอมขยายธุรกิจของตนเองมาจากอัตราดอกเบี้ยหักออกจากอัตราเงินเฟ้อหรืออัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงเท่านั้น หาใช่มาจากอัตราดอกเบี้ยที่เฟดลดให้ต่ำแต่อย่างใด ผมขอฟันธงว่า โพสต์แรกของนายเบอร์นันเก้ดังกล่าวดูจะตั้งใจแก้ตัวให้เฟดที่ลดดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นระยะเวลายาวนานว่ามาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ต้องการอัตราดอกเบี้ยเช่นนั้น
ทว่า ในโพสต์ที่สองเรื่อง Secular Stagnation ที่ผมว่านายเบอร์นันเก้กลับมาลุงเบนที่เจ๋งสุดๆ คนเดิมโดยเฉพาะเรื่องหลัง
เริ่มจาก Secular Stagnation ที่เป็นไอเดียซึ่งดร.ลอว์เรนซ์ ซัมเมอร์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงการคลังสหรัฐ ได้นำมาอธิบายถึงภาวะเศรษฐกิจสหรัฐว่า แท้จริงแล้วจะกลับมาเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจตกต่ำไปอีกยาวนาน เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่เป็นจุดที่อยู่ในดุลยภาพจริงๆ นั้นอยู่ที่ระดับติดลบร้อยละสามถึงสี่เลยทีเดียว เป็นเพราะว่า เศรษฐกิจสหรัฐมีระดับหนี้ต่อจีดีพีค่อนข้างสูง การเจริญเติบโตของประชากรเริ่มลดลง รวมถึงมีความเหลื่อมล้ำของรายได้ระหว่างคนในประเทศค่อนข้างมาก ส่งผลให้อุปสงค์ของผู้บริโภคลดลง ทว่าไปกระตุ้นการออมของคนในประเทศมากกว่า
ในทางกลับกันการชะลอตัวลงของผลิตภาพในการผลิตและของผลผลิตได้ไปทำให้การลงทุน ชะลอตัวลง ดังนั้น อัตราดอกเบี้ยที่เป็นอัตราตามธรรมชาติ หรือ อัตราผลตอบแทนที่ความต้องการในการลงทุนเท่ากับอุปทานของการออม จึงมีระดับที่ลดลง และ มีโอกาสที่จะเป็นค่าติดลบด้วย อย่างไรก็ดี อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงไม่สามารถมีค่าติดลบได้ ยกเว้นอัตราเงินเฟ้อจะอยู่ในระดับสูงมากๆ เท่านั้น ซึ่งในขณะนี้ยังมิได้เป็นเช่นนั้น หากเป็นเช่นนี้จริง สถานการณ์เศรษฐกิจในสหรัฐตอนนี้ จึงอาจจะอยู่ในช่วงที่เงินออมท่วมเศรษฐกิจอยู่ ทั้งนี้ จากการที่การบริโภคและการลงทุนยังคงน้อยอยู่ เศรษฐกิจสหรัฐจึงอาจมีโอกาสจะซบเซาไปอีกนาน
สิ่งที่นายเบอร์นันเก้ ได้โต้นายซัมเมอร์ไว้อย่างน่าฟังมีอยู่ 2 ประการ ได้แก่ หนึ่ง เขาไม่เชื่อว่าสหรัฐในตอนนี้จะเกิด Secular Stagnation เนื่องจากหากเป็นเช่นนั้น สหรัฐจะเต็มไปด้วยโครงการที่มีอัตราผลตอบแทนอยู่ในระดับที่สูงมากๆ เนื่องจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงจะอยู่ในระดับต่ำมากภายใต้สมมติฐานของนายซัมเมอร์ ซึ่งก็จะทำให้เศรษฐกิจสหรัฐกลับมาคึกคักได้อีกอย่างแน่นอน แต่ที่นายเบอร์นันเก้กล่าวไว้ได้ดีมาก คือ Secular Stagnation มิได้คำนึงถึงภาคต่างประเทศ ซึ่งนับวันจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ อันนำมาซึ่ง โพสต์ที่สามและสีในบล็อกของลุงเบนว่าด้วย Global Saving Glut และเยอรมันจอมตึ๋งหนืด
โดยนายเบอร์นันเก้กล่าวว่าอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ในช่วงนี้ อีกสาเหตุหนึ่งมาจากการที่นานาประเทศในตอนนี้มีการออมมากกว่าการลงทุนผ่านโยบายของประเทศเกิดใหม่ในเอเชียหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ที่ประเทศเหล่านี้พากันดำรงเงินกองทุนอัตราแลกเปลี่ยนเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมาก และผ่านการเกินดุลการค้าระหว่างประเทศของประเทศใหญ่ๆ อาทิ ยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยอรมัน ที่ดุลบัญชีเดินสะพัดเพิ่มกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์เมื่อเทียบกับปี 2006 ดังตาราง
จากตาราง จะพบว่า หนึ่ง สหรัฐมีดุลบัญชีเดินสะพัดที่ติดลบน้อยลงเรื่อยๆ สอง การเพิ่มขึ้นของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศในตลาดเกิดใหม่โดยเฉพาะย่านเอเชียช้าลงเรื่อยๆ สาม ในขณะที่ราคาน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ อย่างในตอนนี้ บรรดาประเทศในตะวันออกกลาง จะมีการออมที่ลดลง ทว่าลุงเบนกลับไปตอกกลับเยอรมันว่าการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดจะเป็นการเกินดุลแบบเชิงโครงสร้างและเป็นระยะเวลายาวนาน สิ่งนี้จะเป็นสาเหตุของการไม่สมดุลของโลกการเงินทั้งในปัจจุบันและอนาคต ผิดกับประเทศอื่นๆ ในยุโรปที่จะเกินดุลแบบชั่วคราว
ทั้งหลายทั้งปวง อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำมากๆ ทั่วโลกในตอนนี้ตามความคิดของนายเบอร์นันเก้มิได้มาจากเฟด แต่มาจากภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยและความไม่สมดุลของเศรษฐกิจโลกที่บางส่วนมาจากความตึ๋งหนืดของเยอรมันซะงั้นไปครับ
.....................................................................
หมายเหตุ : หนังสือเล่มล่าสุดด้านการลงทุนด้วยข้อมูลเชิงมหภาคของผู้เขียน “เล่นหุ้นในไทย รวยไกลรอบโลก” วางจำหน่ายทั่วประเทศ และแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ได้ที่ www.facebook.com/MacroView และ LINE ID: MacroView ครับ