กำเนิดกองกำลังป้องกันตนเอง (1)

กำเนิดกองกำลังป้องกันตนเอง (1)

การลงนามสนธิสัญญาซานฟรานซิสโกและสนธิสัญญาความร่วมมือและความมั่นคงระหว่างญี่ปุ่นกับสหรัฐอเมริกาในปี 1951

และ มีผลบังคับใช้ในปี 1952 ทำให้เกิด “กองกำลังป้องกันตนเอง” ที่มีภารกิจในการรับมือกับการรุกรานด้วย ในประเทศญี่ปุ่นเองเริ่มมีการถกเถียงมากขึ้นในรัฐสภาเกี่ยวกับการสร้างกำลังทหารในโอกาสที่ได้รับอิสรภาพจากกองทัพสัมพันธมิตร


กองกำลังสำรองตำรวจได้รับการจัดตั้งขึ้นในเดือนสิงหาคม 1950 ณ จุดสูงสุดของสงครามเกาหลี โดยได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาทางทหารของสหรัฐอเมริกา และ เริ่มทำการฝึกโดยใช้ปืนเล็กและปืนครกที่ยืมมาจากกองทัพสหรัฐอเมริกา จนสำเร็จเป็นกองกำลังในเดือนพฤษภาคม 1951 กองกำลังนี้ถูกแบ่งออกเป็นกองกำลังธรรมดาหรือทหารราบ และ กองกำลังพิเศษหรือทหารปืนใหญ่ พร้อมกันนั้นก็ถูกวางกำลังไว้ตามส่วนต่างๆ ของญี่ปุ่นที่ถูกแบ่งออกเป็น 4 ส่วน โดยที่แต่ละส่วนมีกองบัญชาการของตนเอง เนื่องจากเป็นกองกำลังสำรองไม่ใช่กองทัพหรือกองทหารจึงไม่ใช้คำว่า “ทหาร”


ปัญหาต่อมาอยู่ที่การหาตัวผู้บังคับบัญชา บรรดานายพลนายพันเดิมที่สามารถเป็นผู้นำหน่วยได้ล้วนแต่ถูกให้ออกจากราชการไปหมดแล้ว กองบัญชาการทหารสัมพันธมิตรมีแนวคิดที่จะใช้ฮัตโตริ ทาคุชิโร ผู้เคยเป็นเลขานุการโตโจ ฮิเดกิ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทหารบก แต่ว่าโยชิดะ ชิเงรุ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นได้ปฏิเสธ ด้วยความพยายามที่จะตัดขาดความต่อเนื่องกับกองทัพบกของจักรวรรดิเดิม


โกโต คามาซาฮารุ ผู้บัญชาการกองกำลังสำรองตำรวจ (ต่อมาเป็นผู้บัญชาการตำรวจและเลขานุการคณะรัฐมนตรี) ได้เคยกล่าวว่า “นายกรัฐมนตรีโยชิดะได้ย้ำแล้วย้ำอีกว่า ถึงอย่างไรก็ยอมให้ทหารซึ่งเคยรับผิดชอบการทำสงครามในอดีตของกองทัพจักรวรรดิมามีส่วนร่วมไม่ได้”


กองกำลังสำรองนี้ได้นำเอาระบบการควบคุมด้วยพลเรือนของสหรัฐอเมริกาเข้ามาใช้ ซึ่งเป็นรูปแบบที่ญี่ปุ่นไม่เคยมีมาก่อน ในขณะที่กำลังเตรียมการจัดตั้งกองกำลังทางบกอยู่นั้น รัฐบาลกลับเริ่มเร่งรัดกองกำลังตรวจการทางทะเล


ในเดือนตุลาคม 1951 คณะกรรมการ Y ได้รับการแต่งตั้งให้ทำการพิจารณาเรื่องทบวงรักษาความปลอดภัยทางทะเล ในจำนวนคณะกรรมการ 10 คน กว่าครึ่งเป็นนายทหารจากกองทัพเรือเดิมระดับพลเรือตรีหรือนาวาเอก ซึ่งเป็นเรื่องที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงกับกองกำลังสำรองตำรวจที่พยายามกีดกันทหารเก่าไม่ให้เข้ามามีส่วนด้วย


แม้ว่า กองทัพบกและเรือแห่งจักรวรรดิเดิมจะถูกสลายตัวโดยกองทัพสัมพันธมิตรภายหลังสงคราม แต่ด้วยความจำเป็นในการกำจัดทุ่นระเบิด กองกำลังกวาดทุ่นระเบิดของกองทัพเรือเดิมจึงยังคงอยู่ เพื่อทำการเก็บกวาดทุ่นระเบิดที่ยังคงค้างอยู่ตามชายฝั่งหรือท่าเรือตั้งแต่ยุคสงคราม กองกำลังกวาดทุ่นระเบิดนี้แหละถูกผนวกเข้าไปกับกองกำลังรักษาความปลอดภัยทางทะเลที่ถูกจัดตั้งขึ้นในปี 1948 และถูกส่งออกไปร่วมรบในสงครามเกาหลีอย่างลับๆ ภายใต้ชื่อที่เรียกว่า กองกำลังเก็บกวาดทางทะเลแห่งญี่ปุ่น


คณะกรรมการ Y เอง ได้จัดทำข้อเสนอการจัดตั้ง กองกำลังตรวจการทางทะเลขึ้นมาใหม่ในลักษณะที่คล้ายกับกองกำลังสำรองทางบก ในรูปแบบของ small navy ที่มีการขอยืมเรือฟรีเกตและอื่นๆ จากสหรัฐอเมริกา กองกำลังตรวจการทางทะเลที่สังกัดทบวงดังกล่าวเริ่มต้นจริงในเดือนเมษายน 1952


นายกรัฐมนตรีโยชิดะได้ตอบกระทู้ถามของนากาโซเน ยาสุฮิโร (ภายหลังเป็นนายกรัฐมนตรี) ในคณะกรรมาธิการงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรว่า กองกำลังสำรองตำรวจเป็นสิ่งที่จัดตั้งขึ้นมาโดยมีกำหนดตายตัว 2 ปี ส่วนกองกำลังป้องกันตนเองเป็นแนวคิดใหม่ เมื่อเป็นเช่นนั้นรัฐบาลจึงทำการสรุป “ร่างพระราชบัญญัติทบวงรักษาความปลอดภัย” โดยผนวกกองกำลังสำรองตำรวจกับกองกำลังตรวจการทางทะเลให้มาอยู่ภายใต้ทบวงเดียวกันและนำเสนอต่อรัฐสภาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน


กิจการของทบวงรักษาความปลอดภัยที่เริ่มต้นจริงในเดือนสิงหาคมอยู่ภายใต้การดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งควบปลัดทบวงรักษาความปลอดภัย โดยอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี กองกำลังสำรองตำรวจจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นกองกำลังรักษาความปลอดภัยและกองกำลังตรวจการทางทะเลก็ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น กองกำลังตรวจการ


กองกำลังรักษาความปลอดภัยมีกำลังพล 110,000 นาย กองกำลังตรวจการได้รับเรือรบต่างๆ เป็นการยืมจากสหรัฐอเมริกาทั้งหมด 43 ลำและเริ่มต้นโดยมีกำลังพลประจำเรือ 7,500 นาย ส่วนกองกำลังรักษาความปลอดภัยได้รับเอานายทหารระดับนายพันที่ถูกปลดออกไปภายหลังสงครามเข้าเป็นระดับผู้นำหน่วย


ในตอนเริ่มต้น นายกรัฐมนตรีโยชิดะ ซึ่งรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการทบวงรักษาความปลอดภัยด้วย ได้กล่าวต่อหน้ากำลังพลว่า “การเสริมสร้างกำลังทางทหารขึ้นมาใหม่เป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในสถานะของประเทศปัจจุบันนี้ เป้าหมายของการจัดตั้งกองกำลังรักษาความปลอดภัยขึ้นมาใหม่ก็คือ การสร้างกองทัพแห่งชาติขึ้นมาใหม่ ในช่วงเวลาระหว่างนี้ท่านทั้งหลายมีภารกิจที่จะเป็นพื้นฐานในการสร้างกองทัพแห่งชาติขึ้นมาใหม่”


นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรีโยชิดะยังได้พิจารณาถึงการจัดตั้งโรงเรียนที่จะสร้างนายทหารร่วมกันสำหรับทั้งทางบกและทางทะเล และ จัดได้จัดตั้งเป็นมหาวิทยาลัยรักษาความปลอดภัยในเดือนเมษายน 1953 (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยป้องกันประเทศ) ผู้อำนวยการคนแรกเป็นนักรัฐศาสตร์ชื่อว่า มากิ โทโมโอะ


เส้นทางเริ่มต้นของกองกำลังรักษาความปลอดภัยจากกองกำลังสำรองตำรวจไม่ได้เป็นไปอย่างราบเรียบ ก่อนหน้าที่จะลงนามในสนธิสัญญาสงบศึก บรรยากาศเรียกร้องการสร้างกองทัพซึ่งเป็นเรื่องที่สอดคล้องกับ “ประเทศที่มีอิสรภาพ” เป็นไปอย่างคึกคักในวงการเมืองญี่ปุ่น ในเดือนกุมภาพันธ์ 1951 นักการเมืองยุคสงครามที่ยังอยู่ในสถานะต้องห้ามอย่าง ฮาโตยามา อิจิโร หรือ อิชิบาชิ ทันซัน ได้พบกับทูตพิเศษจอห์น ดัลเลสของสหรัฐอเมริกา เพื่อยื่นหนังสือแสดงความเห็นด้วยกับการสร้างกำลังทหารขึ้นใหม่


อีกด้านหนึ่ง พรรคสังคมนิยมยังคงยืนหยัดหลักการสันติภาพ 4 ประการในการประชุมใหญ่พรรคในเดือนมกราคมปีเดียวกัน


ในระหว่างที่ประเด็นการสร้างกำลังทหารใหม่กำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างมาก อาชิดะ ฮิโตชิ นายกรัฐมนตรีก่อนหน้านั้นได้ไล่ต้อนท่าทีของรัฐบาลต่อการเรียกร้องให้สร้างกองทัพใหม่ในคณะกรรมาธิการวิสามัญของสภาผู้แทนราษฎรในเดือนตุลาคม 1951 ความว่า


“กองกำลังสำรองตำรวจเป็นที่แน่ชัดแล้วว่ามีการติดอาวุธสมัยใหม่ ทำไมรัฐบาลถึงไม่ใช้วิธีที่ทำให้ประชาชนยอมรับได้อย่างตรงไปตรงมา ถ้าหากกองทัพมีความจำเป็นก็จัดตั้งกองทัพเสีย ถ้าหากไม่สามารถสร้างกำลังทหารได้โดยไม่แก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็ให้แก้ไขรัฐธรรมนูญเสีย”


อะชิดะได้วิจารณ์ การสร้างกองทัพใหม่แบบขยักขย่อนและปิดๆ บังๆ อย่างรุนแรงว่า “ถ้าหากจะสร้างกองทัพโดยเอารัฐธรรมนูญขึ้นมาบังหน้าและหลบอยู่ในร่ม ถึงอย่างไรก็เห็นด้วยไม่ได้”


โยชิดะตอบอย่างกำกวมกลับไป แต่ก็ได้ตอบในคณะกรรมาธิการงบประมาณของวุฒิสภาในเดือนมีนาคม 1952 ว่า “รัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามกำลังรบสำหรับการป้องกันตนเอง” แต่ก็แก้ไขอย่างทันทีทันใดว่า “แม้แต่การมีกำลังรบเพื่อการป้องกันตนเองก็ถือว่าเป็นการสร้างกองทัพขึ้นใหม่และจะต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการนั้น”


แม้แต่ในการอภิปรายร่างพระราชบัญญัติทบวงรักษาความปลอดภัย การถกเถียงเกี่ยวกับคำจำกัดความของ “กำลังรบ” ที่กำหนดไว้ในมาตรา 9 ของรัฐธรรมนูญก็เป็นไปอย่างดุเดือด


คิมูระ โทขุทาโร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขณะนั้นได้ตอบว่า “กำลังรบคือกำลังทหารที่มีประสิทธิภาพอันเหมาะสมในการบรรลุเป้าหมายแห่งสงคราม ไม่ว่ากองกำลังสำรองตำรวจหรือกองกำลังรักษาความปลอดภัยมีกำลังที่จำเป็นในการรักษาความสงบเท่านั้น จึงไม่จัดว่าเป็นกำลังรบ” กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือ เป็น “กองทหารที่ไม่มีกำลังรบ”

ในเดือนสิงหาคม 1952 นายกรัฐมนตรีโยชิดะ ทำการยุบสภาผู้แทนราษฎรในระหว่างที่กลุ่มฮาโตยามายังไม่ทันได้เตรียมตัวเลือกตั้งภายหลังจากที่คำสั่งให้พวกเขาห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมืองถูกยกเลิกใหม่ๆ ในเดือนมีนาคม 1953 ในโอกาสที่ตอบข้อซักถามในคณะกรรมาธิการงบประมาณด้วยคำพูดไม่สุภาพ ก็ยังทำการยุบสภาอีกครั้งหนึ่ง


ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเหล่านี้ การสร้างกองทัพใหม่ถือเป็นประเด็นถกเถียงที่สำคัญ ในการเลือกตั้งในปี 1953 นายกรัฐมนตรีโยชิดะเรียกร้องให้ค่อยๆ เพิ่มกำลังป้องกันตนเอง ในขณะที่ฮาโตยามายึดถือการสร้างกองทัพใหม่ โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และ ไคชินโตที่เพิ่งตั้งขึ้นมาใหม่ต้องการให้สร้างกองทัพใหม่ แต่มีความเห็นต่างกันในพรรคว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญหรือไม่


ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ฝ่ายโยชิดะ ฝ่ายฮาโตยามา และ ไคชินโต ต่างไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร แต่พรรคสังคมนิยมกลับได้คะแนนเสียงเพิ่มขึ้นมาก ในที่สุดโยชิดะก็ต้องจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ 5 แต่ด้วยเสียงข้างน้อย


ที่มา: “昭和時代” 読売新聞 2015年2月14日 土曜日 p.17.