เป้าหมายของการทำธุรกิจ
ในอดีตศาสตร์เกี่ยวกับการบริหารธุรกิจมักสอนให้ตั้งเป้าหมายไปที่การสร้างความมั่งคั่งให้ผู้ถือหุ้น แต่ปัจจุบันเป้าหมายนั้นเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง
ด้วยที่ผ่านมาแนวคิดของการ “สร้างความมั่งคั่งสูงสุดให้แก่ผู้ถือหุ้น” จะนำธุรกิจไปสู่การแสวงหากำไรด้วยไม่คำนึงถึงปัจจัยประกอบอื่นๆ ในการดำเนินธุรกิจ เช่น การใช้ทรัยากรธรรมชาติต่างๆ ให้หมดไปด้วยความสิ้นเปลืองเกินเหตุ การไม่ใส่ใจต่อสิ่งแวดล้อมด้วยการสร้างมลภาวะ ทำให้เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อชุมชน ตลอดไปถึงสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่ต้องได้รับภัยจากดำเนินธุรกิจอย่างไม่เป็นธรรม
ทำให้ธุรกิจได้ชื่อว่า เป็นผลทำให้เกิดการทำลายป่า การทำลายทรัพยากรและสิ่งมีชีวิตทางน้ำ การสร้างขยะพิษ ฯลฯ เป็นต้น
ทำให้เกิดผลสะท้อนกลับมาต่อความยั่งยืนของธุรกิจ จากการได้รับการต่อต้านหรือการไม่ยอมรับการขยายตัวของธุรกิจนั้นๆ
ปัจจุบัน เป้าหมายหลักของการทำธุรกิจ จึงจะเน้นไปที่การสร้างสมดุลระหว่าง การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม และการใส่ใจต่อสังคมและชุมชน และผลกำไรของการประกอบการ ไปพร้อมๆ กัน
เรียกว่า การมุ่งสู่เป้าหมายธุรกิจ แบบ ESG ซึ่งหมายถึง สิ่งแวดล้อม (Environment) สังคมและชุมชน (Social) และ การกำกับดูแลกิจการที่ดี (Governance)
เป้าหมายธุรกิจแบบ ESG นี้จะสะท้อนให้เห็นได้จากกลยุทธ์ทางธุรกิจที่เรียกว่า การแสดง “ความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ” หรือที่มักเรียกกันว่า CSR หรือ Corporate Social Responsibility
ผู้บริหารธุรกิจที่แสดงความมุ่งมั่นในการสร้างธุรกิจให้ได้กำไรอย่างยั่งยืน จึงจำเป็นที่จะต้องให้ความสนใจกับกลยุทธ์การแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมของธุรกิจ และดำเนินการให้เป็นไปตามกลยุทธ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพ
กลยุทธ์ด้าน CSR ของธุรกิจ จะประกอบไปด้วยกลยุทธ์ย่อยใน 8 ด้าน ตามแนวปฏิบัติที่ได้นำเสนอโดยสถาบันธุรกิจเพื่อสังคม ของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และ สถาบันไทยพัฒน์ ซึ่งได้แก่
1. กลยุทธ์การกำกับดูแลกิจการที่ดี โดยจัดให้มีระบบบริหารจัดการธุรกิจที่มีการกำหนดหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจน โปร่งใส เท่าเทียม เป็นธรรม และมีประสิทธิภาพที่สามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและความมั่นใจต่อผู้ถือหุ้น ผู้ลงทุน ผู้มีส่วนได้เสียทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมไปถึงผู้เกี่ยวขอ้งกับธุรกิจทุกฝ่าย โดยกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดไปที่ความเติบโตและเสถียรภาพทางการเงินและทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของธุรกิจ
2. กลยุทธ์การประกอบธุรกิจด้วยความเป็นธรรม โดยเน้นไปที่การหลีกเลี่ยงการดำเนินการที่อาจก่อให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ระหว่างผู้บริหารกับธุรกิจ การแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ไม่สนับสนุนการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น การป้องกันการทุจริตและติดสินบน โดยกำหนดแนวปฏิบัติ การควบคุมดูแล แนวทางการแก้ไขปัญหา และกระบวนการไกล่เกลี่ยที่เป็นธรรมเมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้น
3. กลยุทธ์การเคารพสิทธิมนุษยชนและการปฏิบัติต่อแรงงานอย่างเป็นธรรม เพื่อนำไปสู่การพัฒนาทรัพยากรบุคคล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญของธุรกิจในการสร้างผลผลิตและมูลค่าเพิ่มให้กับธุรกิจ ซึ่งครอบคลุมถึงการปรับปรุงสภาพแวดล้อมและเงื่อนไขในการทำงาน ทำให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีโอกาสแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่ การได้รับโอกาสในการฝึกฝนและเพิ่มพูนทักษะในการทำงาน และไม่ล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนและไม่สนับสนุนการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้อื่น
4. กลยุทธ์ความรับผิดชอบต่อผู้บริโภค ผ่านการนำเสนอสินค้าและบริการที่มีมาตรฐานคุณภาพ ไม่ก่อให้เกิดความเสี่ยงหรืออันตรายต่อผู้บริโภค รวมถึงการพัฒนาสินค้าหรือบริการที่จะเป็นประโยชน์และช่วยแก้ไขปัญหาของสังคมด้วย การให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเพียงพอ ไม่โฆษณาเกินจริง จัดทำฉลากสินค้าที่ให้ข้อมูลที่ถูกต้องครบถ้วนและง่ายต่อความเข้าใจของผู้บริโภค รวมถึงการกำจัดซากขยะหลังการใช้งาน เป็นต้น
5. กลยุทธ์การร่วมพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า ปัจจัยเอื้อต่อการดำเนินงานของธุรกิจที่สำคัญส่วนหนึ่งก็คือ การได้รับการยอมรับจากชุมชนและสังคมโดยรอบ ดังนั้น ธุรกิจจึงควรให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมในการส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ชุมชนและสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนและสังคมที่อาจได้รับผลกระทบจากกระบวนการผลิตสินค้าหรือการให้บริการของธุรกิจ ซึ่งอาจทำได้ด้วยการร่วมรักษาสภาพแวดล้อมในชุมชนและสังคมให้น่าอยู่ การร่วมบำเพ็ญประโยชน์สาธารณะ ร่วมหรือสนับสนุนกิจกรรมอาสาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนและสังคม เป็นต้น
6. กลยุทธ์การดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและธุรกิจมักเกิดขึ้นจากการบริโภคทรัพยากรธรรมชาติจำนวนมาก และก่อให้เกิดมลภาวะและการปนเปื้อนทั้งทางอากาศ ทางน้ำ ขยะ สารพิษ ต่างๆ จนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศของโลก ที่เกิดผลกระทบที่ไม่พึงประสงค์ต่อมนุษย์และระบบนิเวศน์ ดังนั้น ธุรกิจจึงมีหน้าที่ในการปรับปรุงคุณภาพของสิ่งแวดล้อมที่จะทำให้คุณภาพชีวิตของมนุษย์ดีขึ้น ด้วยการนำระบบบริหารงานด้านสิ่งแวดล้อม นำเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ ตลอดจนการเตียมแผนฉุกเฉินทางสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นเพื่อลดปัญหาและผลกระทบเมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ขึ้น
7. กลยุทธ์การสร้างนวัตกรรมที่สะท้อนถึงการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม และเผยแพร่นวัตกรรมนั้นๆ ออกไปในวงกว้าง ผ่านการทำการวิจัยพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการนำความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์การดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม มาพัฒนาเป็นสิ่งใหม่ที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มต่อธุรกิจและสังคมได้พร้อมๆ กัน และการเปิดเผยนวัตกรรมที่ค้นพบ เพื่อกระตุ้นให้ธุรกิจและผู้ประกอบการรายอื่นได้ปฏิบัติตาม
8. กลยุทธ์การจัดทำรายงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม เพื่อเปิดเผยผลการดำเนินธุรกิจต่อผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายให้ได้รับทราบ ใน 3 ด้านที่สำคัญ ได้แก่ ผลการดำเนินงานด้านธุรกิจ ผลการดำเนินด้านสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย และ ผลการดำเนินงานด้านสังคม โดยจัดให้มีช่องทางในการเผยแพร่ข้อมูลนี้อย่างหลากหลาย และให้ผู้ที่สนใจเข้าถึงข้อมูลได้โดยง่าย
วิธีการที่จะไปให้ถึงเป้าหมายของการทำธุรกิจสมัยใหม่นี้ อาจทำได้ง่ายขึ้นด้วยการนำ “หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในการบริหารและการดำเนินธุรกิจ
โดยให้อยู่ในหลักของ ความพอประมาณ ความระมัดระวังมีเหตุผล และการบริหารความเสี่ยง ภายใต้การมีความรู้และมีคุณธรรม ในการประกอบธุรกิจ
ซึ่งมีเป้าหมายคือ ความสมดุล ความมั่นคง และความยั่งยืนของธุรกิจและสังคมไปพร้อมๆ กัน ไม่เอารัดเอาเปรียบสังคม ไม่แสวงหาผลกำไรจนเกินควรจากการเบียดเบียนประโยชน์ของสังคม หรือการใช้ทรัพยากรในธุรกิจอย่างสิ้นเปลืองโดยไม่ระมัดระวัง จนนำไปสู่การเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและภูมิอากาศของโลก