สิ่งแวดล้อม - ระบบนิเวศสังคม ที่ทุกคนควรรู้

ชื่อบทความนี้คือ ชื่อหนังสือเล่มล่าสุดของผม พิมพ์โดยสำนักพิมพ์แสงดาว (www.saengdao.com)
ที่ตั้งชื่อต่อท้ายว่า ที่ทุกคนควรรู้ เพราะผมเห็นว่าคนไทยยังสนใจรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศที่สำคัญต่อความอยู่รอดของลูกหลานเราน้อยมาก และถ้าคนได้สนใจและรู้มากขึ้น อาจจะมีโอกาสช่วยพวกเขารวมทั้งตัวเราเองได้เพิ่มขึ้น
มนุษย์ฉลาดที่สุดในบรรดาสิ่งมีชีวิตไม่ต่ำกว่า 3 พันล้านชนิดพันธ์ในโลก และได้เป็นผู้ครองโลกในปัจจุบัน แต่ฉลาดน้อยในเรื่องสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ มนุษย์ส่วนใหญ่ยังไม่ตระหนักว่าความเจริญเติบโตตามแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมของมนุษย์ในรอบในรอบ 250 ปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน คือตัวการสร้างวิกฤติสิ่งแวดล้อมของทั้งโลกที่รุนแรงที่สุด ทั้งปัญหามลภาวะเพิ่มขึ้น ภาวะโลกร้อน, ภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง, ชั้นโอโซนบางลง แหล่งอาหารและทรัพยากรธรรมชาติเหลือลดลง น้ำท่วม ความแห้งแล้ง พายุเกิดบ่อยขึ้น รุนแรงขึ้น ฯลฯ วิกฤตินี้เกิดขึ้นจริง เราอาจเห็นแค่บางส่วนหรือบางช่วงระยะเวลาหรือแค่ผ่านจอโทรทัศน์ แต่จะเกิดที่ไหนก็มีผลกระทบในทางลบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเราทุกคน เพียงแต่ตอนนั้นยังไม่ชัดมาก ในขั้นสะสมเหมือนกับการต้มน้ำในกา ถ้ายังไม่เดือดเราก็มองไม่เห็นการเปลี่ยนแปลง แต่มันเดือดแล้วคือการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่หรือภัยพิบัติสำหรับมนุษย์ทั้งโลก โดยเฉพาะคนที่อยู่ในที่ราบใกล้ทะเล รวมทั้งภาคใต้ ภาคกลางและภาคตะวันออกของไทย
ความรู้ที่จะช่วยให้เราป้องกันภัยพิบัติทางระบบนิเวศได้คือ นิเวศวิทยา (Ecology) หรือสิ่งแวดล้อมศึกษา (Environment Studies) สาขาความรู้แบบพหุวิทยาการที่ผนวกความรู้ ทั้งด้านวิทยาศาสตร์ (ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ ธรณีวิทยา ภูมิศาสตร์กายภาพ) และสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์ (ภูมิศาสตร์สังคม เศรษฐศาสตร์ รัฐศาสตร์ สังคมวิทยา มานุษยวิทยา การบริหารจัดการ) มาบูรณาการเข้าด้วยกัน เป้าหมายคือ เพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศ
หนังสือเล่มนี้เสนอ ความรู้ทางด้านสิ่งแวดล้อม/ระบบนิเวศ ที่คนไทยควรรู้ โดยการอธิบายคำศัพท์ที่เป็นแนวคิดรวบยอดด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศ (Eco System) ที่สำคัญ โดยเฉพาะศัพท์ทางด้านนิเวศวิทยาสังคม (Social Ecology) คำอธิบายแต่และคำมีเนื้อหาสาระจบในตัวเอง ผู้เขียนได้จัดหมวดหมู่เนื้อหาสาระออกเป็น 10 บท เช่น วิวัฒนาการของโลกและสิ่งมีชีวิต สภาพแวดล้อมทางกายภาพของโลก ฯลฯ ที่ผู้อ่านอาจจะค่อยๆ อ่านทำความเข้าใจในประเด็นที่สำคัญต่างๆ ไปทีละบทได้ แม้เนื้อหาจะไม่ต่อเนื่องกันนัก แต่สัมพันธ์เชื่อมโยงกัน ขณะเดียวกันก็ได้ทำหนังสือเล่มนี้ให้เป็นพจนานุกรมอธิบายศัพท์เฉพาะทางด้วย ผู้อ่านที่ต้องการค้นคำศัพท์ภาษาอังกฤษเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมใดคำศัพท์หนึ่งจะเปิดค้นจากดัชนีค้นคำศัพท์ A-Z ท้ายเล่มได้
คำว่า “สิ่งแวดล้อม” หรือ “สภาพแวดล้อม” ไม่ได้หมายถึงแค่เรื่องที่อยู่รอบตัวเรา เช่น ธรรมชาติ ดิน น้ำ อากาศ ป่าไม้ ทะเล ฯลฯ แต่ถ้าใช้คำว่าระบบนิเวศหรือระบบนิเวศสังคมก็จะครอบคลุมทุกเรื่อง รวมถึงคน สิ่งมีชีวิตอื่นๆ และสิ่งแวดล้อมใหม่ที่คนสร้างขึ้นด้วย
คำว่า ระบบนิเวศ หมายถึง สภาพการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตและสิ่งแวดล้อมทั้งระบบ ซึ่งเป็นคำที่กว้างกว่าคำว่าสิ่งแวดล้อม แต่คนไทยยังรู้จักคำนี้น้อยกว่าคำว่าสิ่งแวดล้อม
นิเวศวิทยา Ecology หรือ Ecologism เป็นสาขาวิชาแบบบูรณาการได้พัฒนาไปในทางที่มองปัญหาถึงขั้นรากฐานและมองการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบองค์รวมในขณะที่สิ่งแวดล้อมศึกษา (Environment Studies หรือ Environmentalism) มักมองปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงเทคนิคและมองแบบแยกเป็นส่วนๆ
ตัวอย่างเช่น คำว่าเศรษฐศาสตร์ระบบนิเวศ (Ecological Economics) ถูกใช้ในความหมายของวิชาที่วิเคราะห์ปัญหาอย่างพยายามเข้าใจและมุ่งแก้ไขทั้งระบบ (เศรษฐกิจ สังคมการเมือง สิ่งแวดล้อม) มากกว่า เศรษฐศาสตร์สิ่งแวดล้อม (Environment Economics) ซึ่งยังยอมรับหลักการใหญ่ของเศรษฐศาสตร์กระแสหลัก (ทุนนิยมอุตสาหกรรม) ที่มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งและเสนอวิธีแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมในเชิงเทคนิคแบบแยกเป็นส่วนๆ ภายใต้ระบบโครงสร้างเศรษฐกิจแบบทุนนิยมหรือตลาดเสรี เช่น ใช้วิธีเก็บภาษีสิ่งแวดล้อม (ดูวิทยากร เชียงกูล เศรษฐศาสตร์แนวใหม่ เพื่อชีวิตและระบบนิเวศที่สันติสุข กรุงเทพธุรกิจ 2557)
การพัฒนาเศรษฐกิจในยุคทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการแบ่งงานกันทำตามความเชี่ยวชาญ ถนัดการมองแบบแยกเป็นส่วนๆ สูง นักวิชาการกระแสหลักมีแนวโน้มที่จะมองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นโลกร้อน การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ ฯลฯ เป็นปัญหาในทางวิทยาศาสตร์ธรรมชาติและเทคโนโลยี ที่มนุษย์สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยเทคนิคและบริหารจัดการต่างๆ เช่น ลงทุน ป้องกันและกำจัดมลภาวะด้วยเทคโนโลยีได้ การมองดังกล่าวเป็นความจริงส่วนหนึ่ง แต่ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด
ความจริงทางสังคมคือ ปัญหาความไม่สมดุล, ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศในปัจจุบันส่วนใหญ่แล้วเป็นปัญหาทางเศรษฐกิจสังคมการเมืองของการจัดองค์กรของมนุษย์แบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่เน้นการเจริญเติบโตของการผลิตและการบริโภคของมนุษย์แบบมุ่งหาประโยชน์ผลกำไรของปัจเจกชนมากเกินไป ระบบตลาดของทุนนิยมอุตสาหกรรมไม่นำต้นทุนทางธรรมชาติ, ต้นทุนทางสังคมมาคำนวณรวมไว้ในต้นทุนด้วย ทำให้นายทุนส่งเสริมให้คนนิยมบริโภคฟุ่มเฟือยและใช้สอยทรัพยากรของโลกมากเกินไปจนปัจจุบันกิจกรรมทางเศรษฐกิจของทุนประเทศรวมกันมีขนาดใหญ่มากเกินขีดความสามารถในการรองรับของโลกธรรมชาติหรือระบบนิเวศ นั่นก็คือ โลกธรรมชาติไม่สามารถผลิตทดแทน ทรัพยากรที่ถูกใช้ไป รวมทั้งไม่สามารถดูดซับฟื้นฟูของเสียที่มนุษย์ทิ้งออกมามากไปได้ทัน ทำให้โลกธรรมชาติเกิดปัญหาการขาดความสมดุล ความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ ปัญหามลภาวะและปัญหาสิ่งแวดล้อมที่กว้างขวางและรุนแรงเพิ่มขึ้น
ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาในทางเทคนิคที่ไม่เหมาะสมด้วยเช่นกัน เช่น มนุษย์ใช้พลังงานจากฟอสซิลโดยเฉพาะถ่านหิน ซึ่งก่อมลภาวะมาก แต่ส่วนใหญ่หรือกล่าวให้ถึงรากเหง้าปัญหาแล้วเป็นปัญหาเชิงระบบโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองและแนวทางการพัฒนาแบบทุนนิยมอุตสาหกรรมที่ไม่มีการควบคุมดูแลดีพอมากที่สุด ดังนั้น การจะศึกษานิเวศวิทยาทางสังคมให้เข้าใจ เราต้องวิเคราะห์ทั้งระบบเศรษฐกิจการเมือง สังคม รวมทั้งระบบวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วัฒนธรรม ฯลฯ ด้วย เราจึงจะเข้าใจสาเหตุ สภาพ และ แนวทางแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือระบบนิเวศได้อย่างหยั่งถึงรากลึกของปัญหา และเข้าใจได้อย่างเป็นระบบองค์รวม มากกว่าการมองปัญหาสิ่งแวดล้อม/นิเวศวิทยาในเชิงเทคนิคอย่างแยกเป็นส่วนๆ ซึ่งเป็นการไล่ตามหลังปัญหา และแก้ได้เพียงแค่ลดปัญหาลงบ้าง แต่ไม่สาวถึงต้นตอ และหาทางแก้ไขทั้งระบบอย่างแท้จริง