เรียนรู้จากคู่ครอง

เรียนรู้จากคู่ครอง

หัวหน้างานที่มีประสิทธิภาพต้องพัฒนาตนอย่างสม่ำเสมอ ทำตัวให้ทันสมัย รู้ลึก รู้ไกล จะได้มีค่า ไม่ตกหยุค

ยิ่งศาสตร์และศิลป์ของการดูแลทีมและลูกน้อง ยิ่งต้องหมั่นพัฒนา

เพราะเรารู้ว่า หัวหน้าท่านไหนได้ศรัทธาจากลูกทีม นอกจากจะทำงานง่ายและมีความสุข ทีมยังสนุกสนาน งานก็เดินฉิว

หากหัวหน้ากับทีม ระคายเคืองกันและกัน จ้องห้ำหั่นกันไปมา

หาใช่ลูกน้องเท่านั้นที่จะลำบากกายใจ ลูกพี่เองก็ใช่จะได้ดี

เพราะเมื่อไม่ได้ใจ ไม่ได้ความร่วมมือ งานย่อมออกน้อย ต้องแก้บ่อย แถมวันร้ายคืนร้าย คล้ายๆพี่ต้องลงไปทำงานของลูกน้องเอง

พี่จะบ่น จะว่าอย่างไร น้องก็พร้อมเอาหูตาไปนาไร่..ไม่สน !

ทั้งนี้ พี่หัวหน้าสามารถเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนให้ “เก่งคน” ขึ้นได้จากหลากหลายแหล่ง

วันนี้ขออนุญาตใช้ตัวอย่างใกล้ตัวท่านผู้อ่าน : วิธีดูแลกันและกันของสามีภรรยา

ในยุคที่สังคมอ่อนแอ หน่วยย่อยที่สุด คือ ครอบครัว เริ่มแตกแยก อัตราการหย่าร้างพุ่งเพิ่ม จนเริ่มเป็นเรื่องธรรมดา

หญิงแกร่งยุคใหม่ไม่น้อย ภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่ Single Mom คุณแม่เลี้ยงเดี่ยว อย่างน่าชื่นชม

เลี้ยงลูกด้วยตัวคนเดียวก็ได้ ไม่ต้องพึ่งฝ่ายชายที่หายไปกับสายลม

กระนั้นก็ดี แม้คนจะปรับตัวทำใจรับมือกับปัญหาครอบครัวแตกแยกได้ แต่หลายฝ่ายยังเห็นว่า ไม่แตกไม่แยกตั้งแต่ต้น น่าจะเป็นหนทางเลือกที่ดีกว่ามากมาย

นักจิตวิทยาผู้เชี่ยวชาญด้านปัญหาครอบครัว Dr. John Gottman จึงเร่งศึกษาวิจัยพฤติกรรมของสามีภรรยาว่า คู่ที่อยู่กันยืดไม่จืดจาง กับคู่ที่หมางเมินจนต้องหย่าร้าง มีพฤติกรรมใดบ้างเป็นตัวบ่งบอก

พฤติกรรมหนึ่ง ซึ่งคนทำงานน่าจะเอามาประยุกต์ใช้ได้ทันทีในการประคับประคองความรู้สึกนึกคิดของคนที่เราดูแล คือ

พฤติกรรมการติและชม

คู่ที่หย่าร้างมีพฤติกรรมหนึ่งซึ่งเหมือนกันคือ

ติ มากกว่า ชื่นชมและขอบคุณกัน

ส่วนใหญ่ออกอาการ “ปากหนัก” ตลอดจน ”จับถูก” ไม่ค่อยเป็น

อัตราส่วนการติ ต่อ การชม เท่ากับ..

4:3 หรือ โดยเฉลี่ย ชม 3 ที แต่ ติโน่นตินี่ รวม 4 หน

สำหรับคู่ที่อยู่กันมั่นคง มีพฤติกรรมที่แตกต่างห่างจากกลุ่มแรก

เขาจะมีมธุรสวาจา มีคำชื่นชม และคำขอบคุณ ให้ชื่นใจกัน มากกว่าคำติคำย้ำบ่น

อัตราส่วนการติชม คือ 1:5

ชื่นชม ขอบคุณ 5 ครั้ง จะมีคำบ่นและติสัก 1 ครั้ง

วันนี้ภรรยาเหนื่อยจากการทำงานนอกบ้านไม่ต่างจากสามี กลับบ้านก็กุลีกุจอผัดผักร้อนๆให้สามีทาน

แต่ผัดผักบุ้งที่บรรจงปรุง รสทั้งชืดทั้งจืดสนิท

สามีกลุ่มแรก ไม่รีรอที่จะเอ่ยคำบ่นก่นว่า

“โอย! แม่นี้เค็มจริง ขนาดน้ำปลายังหวง!”

สามีอาจคิดว่า ภรรยาไม่น่าจะคิดมาก ก็มันจืดจริงใจ ไม่โกหก

แถมแค่บ่นบางๆ นางไม่เห็นต้องคิดมาก

ฝ่ายหญิงตอบว่า แม้จะไม่มาก แม้จะจริง แม้จะไม่ตั้งใจให้น้อยใจ แต่เมื่อขยันหมั่น “ใส่” เรื่องที่บกพร่อง เอามองแต่สิ่งที่พลาด

อย่าประหลาดใจว่า ภรรยาก็หน่ายเป็น

ภรรยาและสามีที่ประคองความสัมพันธ์ได้ดี เพราะต่างมีความยับยั้งชั่งใจ คำใดที่อาจสะเทือนความรู้สึกคนข้างกาย เขารีบกลืนไว้ไม่ให้กระเซ็น

ไม่อร่อย ก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่ เทียบกับการทำให้อีกฝ่ายใจแป้ว

จืดไป ก็ใส่น้ำปลา จบ

หรือ มองข้ามความจืด เห็นแต่เรื่องดีว่า หมอในทีวีเขาเตือนบ่อยๆ ว่าคนไทยกินเกลือเกินจนไตใกล้วายกันถ้วนหน้า

พี่สามีจะพูดอะไร ก็เลือกเอ่ยแต่เรื่องดีๆ

“แม่เข้าใจเลือกผัก ผักบุ้งไม่ได้ทานมานาน ช่วยสายตาให้ดีแถมมีไฟเบอร์สูง ขอบคุณน้า จุ๊บๆ”

หากมีเรื่องสำคัญที่ไม่สบายใจ จะหารือติงบ้างก็ได้ ไม่ห้าม

เห็นแม่เผลอตีลูกในห้าง ยามเขาดิ้นอยากเอาของเล่น

พี่สามีอาจกลับมาคุยว่า ไม่อยากให้เราตีเขาเลย อธิบายเหตุผลให้ลูกฟังอย่างใจเย็น น่าจะเป็นประโยชน์กว่า

หัวหน้างานกับลูกน้อง ก็มิได้ต่างกัน

หัวหน้าจำนวนไม่น้อย คอยจับจ้องมองที่ผิดของลูกน้อง จะได้ทำงานไม่พลาด และถือโอกาสสอนสั่งไปในตัว

แม้การติ ถือเป็นเรื่องปกติ เป็นสิ่งหนึ่งที่หัวหน้าต้องทำ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพงาน

กระนั้นก็ดี เฉกเช่นสามีภรรยา การจับจ้องคอยมองสิ่งที่เขาทำดี และจี้ประเด็นที่พี่เห็นว่าน้องทำถูก พร้อมขอบคุณ ชื่นชม ถือเป็นการพรมน้ำหล่อเลี้ยงให้ความสัมพันธ์เติบใหญ่ ไม่ง่อนแง่น

แถมน้องก็ตระหนักว่า ตัวหนูอยู่ในสายตาพี่ ทำดีพี่ทั้งเห็นและชื่นชม

เมื่อทำไม่ดี พี่ตักเตือน เขาย่อมรับคำติติงได้ดีกว่า เพราะพี่ไม่ลุยต่อว่าเพียงอย่างเดียว

จากการวิจัยหลากหลาย ไม่ว่าจะในบริบทของที่ทำงาน หรือการพัฒนานักกีฬา

คำชม ผสมคำติ เป็นเรื่องสำคัญในการพัฒนาทั้งคนและงาน

เมื่อใดที่คำชมมีมากกว่าคำต่อว่า ถือเป็นการรักษาความสัมพันธ์ การสร้างขวัญกำลังใจให้มีพลังทำดีต่อไป ทั้งทำให้พร้อมเพิ่มความใส่ใจปรับปรุงสิ่งที่ยังทำได้ไม่ดี

คู่ที่หย่าร้างกันบอกว่า สิ่งเล็กๆน้อยๆที่คอยบั่นทอนจิตใจ มีพลังไม่ธรรมดา

เสมือนน้ำหยดลงหิน กินจนกร่อนได้ฉันใด

ใจคนที่อ่อนไหวยิ่งกว่า..ไม่น่าเหลือ