การนับระยะเวลาตามกฎหมาย

ในการประกอบธุรกิจการค้า ไม่ว่าจะดำเนินการในรูปของบุคคลธรรมดา หรือจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนบริษัท
จะมีเรื่องของการนับระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ไม่ว่าเป็นเรื่องระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎหมายหรือระเบียบหลักเกณฑ์ของทางราชการ เช่น กำหนดระยะเวลาในการยื่นเรื่องราวขออนุญาตทำกิจการต่างๆ การยื่นเอกสารหลักฐาน การอุทธรณ์คำสั่ง การกำหนดอายุความร้องทุกข์หรือฟ้องคดี รวมทั้งระยะเวลาตามที่กำหนด ในการทำนิติกรรมหรือสัญญาต่างๆ เช่น กำหนดเวลาเช่าทรัพย์สิน การจ้างแรงงาน ระยะเวลาในการคำนวณดอกเบี้ย เป็นต้น
กำหนดระยะเวลาต่างๆดังกล่าว จำเป็นต้องมีการนับ จะนับอย่างไร ที่สำคัญคือ เริ่มนับตั้งแต่เมื่อใด สิ้นสุดเมื่อใด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติเรื่องระยะเวลาไว้ใน ลักษณะ 5 มาตรา 193/1 ถึงมาตรา 193/8 เป็นกฎหมายกลางในการกำหนดวิธีการนับระยะเวลา โดยมาตรา 193/1 บัญญัติว่า “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น”
ส่วนวันเริ่มต้นการนับระยะเวลานั้น บัญญัติไว้ในมาตรา 193/3 วรรคสอง ที่บัญญัติว่า “ถ้ากำหนดระยะเวลาเป็นวัน สัปดาห์ เดือน หรือปี มิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมเข้าด้วยกัน เว้นแต่จะเริ่มทำการในวันนั้นเอง ตั้งแต่เวลาที่ถือได้ว่าเป็นเวลาเริ่มต้นทำการงานกันตามประเพณี”
สำหรับวันสุดท้ายของระยะเวลาบัญญัติไว้ในมาตรา 193/8 ที่บัญญัติว่า ”ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา”
หลักของการนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังกล่าวข้างต้น อาจจำแนกหลักที่สำคัญได้ คือ
มาตรา 193/1 ที่ บัญญัติว่า “การนับระยะเวลาทั้งปวง ให้บังคับตามบทบัญญัติแห่งลักษณะนี้ เว้นแต่จะมีกฎหมาย คำสั่งศาล ระเบียบข้อบังคับ หรือนิติกรรมกำหนดเป็นอย่างอื่น” ซึ่งมีแนวคำพิพากษาฎีกาที่เป็นบรรทัดฐาน เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 198-199/2508 ที่วินิจฉัยว่า เมื่อกฎหมายอาญาไม่ได้บัญญัติถึงวิธีการกำหนดนับระยะเวลาร้องทุกข์และฟ้องร้องไว้ จำต้องกำหนดนับระยะเวลาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 193/3 วรรคสอง หลักคือ การเริ่มต้นนับระยะเวลามิให้นับวันแรกรวมเข้าด้วย ซึ่งมีความเข้าใจผิดเกิดขึ้นมาก เพราะข้อความ นับแต่หรือนับตั้งแต่ จึงมีการนับวันแรกรวมเข้าไปด้วย อย่างไรถ้าเป็นการเริ่มการในวันนั้นเลย เช่น การจ้างแรงงานที่ได้เริ่มทำงานในวันนั้นเลย ก็สามารถนับวันแรกรวมเข้าด้วยได้ หรือเป็นกรณีที่มีกฎหมาย คำสั่งศาลระเบียบ ข้อบังคับหรือนิติกรรมกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น เช่น กรณีตามคำพิพากษาฎีกาที่ 1111/2520 ที่วินิจฉัยว่า ทำสัญญาวันที่ 20 มีนาคม 2517 ให้ไถ่ที่ดินได้ 1 ปี (19 มีนาคม 2518) เป็นการกำหนดระยะเวลาโดยนิติกรรม นำวิธีคำนวณตาม ม.158, 159 (เดิม) มาใช้ไม่ได้ วันที่ 20 มีนาคม 2518 เกินกำหนดไถ่ได้แล้ว
สำหรับหลักที่ไม่ให้นับวันแรกด้วยนั้น มีแนวคำพิพากษาศาลฎีกาที่เป็นบรรทัดฐานที่ชัดเจน เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 409/2504 ที่วินิจฉัยว่า การนับระยะเวลายื่นคำให้การภายใน 8 วัน ตามที่ วิ.แพ่งมาตรา 177, 178 บัญญัติไว้นั้น ต้องนับตามวิธีประมวลกฎหมายแพ่งฯ มาตรา158, 160 บัญญัติไว้คือ ไม่นับวันแรกแห่งระยะเวลานั้นรวมคำนวณเข้าด้วย ถ้าระยะเวลานั้นผ่อนออกไป ให้นับเอาวันซึ่งต่อจากวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเดิมนั้น เป็นวันต้นแห่งระยะเวลาซึ่งผ่อนออกไป
ศาลชั้นต้นสั่งในวันที่ 22 สิงหาคม 2503 ว่าให้ยืดเวลายื่นคำให้การไป 3 วัน จำเลยมีสิทธิยื่นคำให้การได้ในวันที่ 25 สิงหาคม 2503 คำพิพากษาฎีกาที่ 2171-2172/2516 วินิจฉัยว่า ผู้ทรงเช็คฟ้องผู้สั่งจ่ายให้ชำระเงินตามเช็ค กฎหมายห้ามมิให้ฟ้อง เมื่อพ้นเวลาปีหนึ่งนับแต่วันเช็คถึงกำหนด การนับระยะเวลาในกรณีนี้ จะนับวันแรกรวมคำนวณเข้าในอายุความหนึ่งปีด้วยหาได้ไม่ เพราะไม่ได้เริ่มการอะไรในวันนั้น เช็คที่ถึงกำหนดวันที่ 20 พฤศจิกายน 2511 ฟ้องคดีวันที่ 20 พฤศจิกายน 2512 และที่ถึงกำหนดวันที่ 27 พฤศจิกายน 2511 ฟ้องคดีวันที่ 27 พฤศจิกายน 2512 ฟ้องทั้งสองสำนวนนี้ ยังไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 953/2543 ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ มิได้กำหนดวิธีการนับระยะเวลาไว้โดยเฉพาะ ฉะนั้น จึงต้องอาศัยการนับตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/3 วรรคสอง โจทก์ได้รับแจ้งคำชี้ขาดเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2542 การนับระยะเวลาจึงต้องเริ่มนับตั้งแต่วันที่ 12 มกราคม 2542 เป็นวันแรก และครบกำหนด 30 วันในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2542 จึงเป็นการฟ้องคดีภายใน 30 วัน ตาม พ.ร.บ. ภาษีโรงเรือนและที่ดินฯ
การคำนวณดอกเบี้ย เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 6907/2540 ที่วินิจฉัยว่า การคำนวณนับระยะเวลาในการคิดดอกเบี้ยนั้น อยู่ในบังคับของหลักทั่วไปตาม ป.พ.พ.มาตรา 193/3 วรรคสอง ซึ่งกำหนดมิให้นับวันแรกแห่งระยะเวลารวมคำนวณเข้าด้วย จึงเริ่มนับหนึ่งในวันรุ่งขึ้น โดยไม่นับวันฟ้องรวมคำนวณเข้าด้วยอยู่แล้ว ไม่จำเป็นที่จะต้องใช้ถ้อยคำเจาะจงว่า ให้คิดดอกเบี้ยนับแต่วันถัดจากวันฟ้องแต่อย่างใด
มาตรา 193/8 ถ้าวันสุดท้ายของระยะเวลาเป็นวันหยุดทำการ ตามประกาศเป็นทางการหรือตามประเพณี ให้นับวันที่เริ่มทำการใหม่ต่อจากวันที่หยุดทำการนั้นเป็นวันสุดท้ายของระยะเวลา
แนวคำพิพากฎีกา เช่น คำพิพากษาฎีกาที่ 2212/2515 ที่วินิจฉัยว่า ถ้าวันสุดท้ายแห่งระยะเวลาเป็นวันหยุด ซึ่งตามประเพณีงดเว้นการงาน ท่านให้นับวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วย ตาม ป.พ.พ.มาตรา 161 (เดิม) ดังนั้น เมื่อระยะเวลาที่ผู้เสียหายจะร้องทุกข์ได้สิ้นสุดลงในวันหยุดราชการ ผู้เสียหายจึงยื่นฟ้องต่อศาลในวันรุ่งขึ้น ซึ่งเป็นวันเริ่มทำงานใหม่ได้ โดยไม่ขาดอายุความ
คำพิพากษาฏีกา ที่ 1306/2524 ที่วินิจฉัยว่า ความผิดอันยอมความได้ วันที่โจทก์รู้ความผิดของจำเลยครบ 3 เดือน เป็นวันเสาร์หยุดราชการถึงวันอาทิตย์ วันจันทร์โจทก์ยื่นฟ้อง ไม่ขาดอายุความ คำพิพากษาฎีกาที่ 4931/2533 ที่วินิจฉัยว่า เมื่อสิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความครบกำหนดตรงกับวันเสาร์ หยุดราชการ การนับระยะเวลาวันสุดท้ายของการฟ้องร้อง ก็ต้องถือหลักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 161 คือให้นับวันจันทร์ อันเป็นวันที่เริ่มทำงานใหม่เข้าด้วยเป็นวันสุดท้าย