ส้มโอไทยเป็นที่นิยมในประเทศจีน
ในปัจจุบันผลไม้ไทยเป็นที่นิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมากโดยในแต่ละปีจีนนำเข้าผลไม้จากไทยมากเป็นอันดับ 1 1 จากทุกประเทศ
ในปัจจุบันผลไม้ไทยเป็นที่นิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมากทั่วโลก ถึงกระนั้นผลไม้ไทยที่สามารถเข้าถึงตลาดจีนได้ มีอยู่เพียงไม่กี่ชนิด เช่น ทุเรียน ลำไย มังคุด กล้วย มะพร้าว มะม่วง ขนุน เป็นต้น ขณะที่ในความเป็นจริง ผลไม้ไทยได้รับการอนุญาตจากจีนให้นำเข้าได้มีอยู่ถึง 22 ชนิด ได้แก่ มะขาม ส้มเขียวหวาน น้อยหน่า ส้ม ส้มโอ มะละกอ มะเฟือง ฝรั่ง เงาะ ชมพู่ ขนุน ลองกอง สับปะรด ละมุด กล้วยหอม เสาวรส มะพร้าว ลำไย ทุเรียน มะม่วง ลิ้นจี่ และมังคุด ดังนั้น โอกาสสำหรับไทยในตลาดผลไม้จีนยังมีอีกมาก เนื่องจากไทยยังมีผลไม้อีกหลากหลายชนิดที่น่าสนใจ และมีศักยภาพเป็นเลิศ สมควรที่จะได้รับการส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักของชาวจีนมากยิ่งขึ้นในอนาคต
ส้มโอ เป็นผลไม้อีกชนิดหนึ่งที่น่าจับตามองในการครองใจคนจีน จากสถิติพบว่า จีนนำเข้าส้มโอในปริมาณที่เพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า ภายในช่วงระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา จากปี 2553 พบว่าจีนนำเข้าส้มโอมูลค่า 7.9 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเพิ่มขึ้นเป็น 30.6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2557 โดยคิดเป็นส้มโอเนื้อแดงจากแอฟริกาใต้ถึงร้อยละ 60 รองลงมาเป็นส้มโอจากไทยร้อยละ 21 และส้มโอจากไต้หวันร้อยละ 11
ผลไม้ที่อุดมไปด้วยประโยชน์อย่างส้มโอนี้ ชาวจีนรู้จักคุ้นเคยเป็นระยะเวลานานแล้ว ด้วยสรรพคุณทางยาและมีวิตามินซีสูง นอกจากนี้ สาว ๆ ชาวจีนยังนิยมรับประทานเพื่อการควบคุมน้ำหนักอีกด้วย สำหรับแหล่งปลูกส้มโอในจีนนั้น มักอยู่ทางตอนใต้ของประเทศ อาทิ ฝูเจี้ยน เจียงซี หูหนาน กว่างซี กวางตุ้ง เจ้อเจียง และเสฉวน โดยจะปรากฏส้มโอหลากหลายพันธุ์ ทั้งเนื้อสีขาวครีมและเนื้อสีแดงทับทิม อย่างไรก็ตาม พันธุ์ที่ปลูกส่วนใหญ่จะเป็นเนื้อสีขาวครีม ส่วนส้มโอจีนที่มีชื่อเสียงนั้น ได้แก่ ส้มโอเหวินต้าน จากฝูเจี้ยน ส้มโอซาเถียนจากเขตกว่างซี และส้มโอจินหลานจากมณฑลกวางตุ้ง
สำหรับส้มโอไทยเองก็มีรสชาติที่ดีไม่แพ้ชาติใดในโลก ชาวจีนยกย่องให้ส้มโอไทยเป็นหนึ่งในสี่ส้มโอที่มีชื่อเสียงระดับโลก (ส้มโอเหวินต้านและส้มโอผิงซานของมณฑลฝูเจี้ยน ส้มโอซาเถียนของกว่างซี และส้มโอไทย) และชื่นชอบส้มโอไทยมาก เนื่องจากเนื้อส้มโอไทยมีความใสแวววาว เกร็ดส้มใหญ่ น้ำฉ่ำและหวาน อีกทั้งยังปอกง่ายกว่าส้มโอจีน ชาวจีนนิยมรับประทานส้มโอเป็นผลไม้สด แต่เมื่อร้านอาหารไทยในจีนนำส้มโอมาทำเป็นของคาวเสิร์ฟในเมนู “ยำส้มโอ” ก็กลับได้รับความนิยมตีคู่มากับแชมป์เก่าอย่าง “ส้มตำ” และได้รับคำ ยกย่องจากชาวจีนว่า เป็นการดัดแปลงผลไม้ไทยให้กลายเป็นของคาวหวานขึ้นโต๊ะอาหารได้อย่างลงตัว ซึ่งรวมไปถึง “ข้าวเหนียวมะม่วง” ที่เป็นของหวานที่คนจีนโปรดปราน และนึกถึงเป็นอันดับต้นๆ ในเมนูอาหารไทย
ส้มโอนอกจากจะมีรสชาติอร่อยและมีวิตามินแล้ว ในส่วนของเปลือกยังใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ เช่น ใช้เปลือกสุมไฟให้มีกลิ่นหอมเพื่อไล่แมลง นำมาแปรรูปเป็นเปลือกส้มโอเชื่อม และส้มโออบแห้งรับประทานเพื่อแก้อาการวิงเวียน นอกจากนี้ ชาวจีนยังใช้เปลือกส้มโอนำไปตากแห้งแล้วเอามาต้ม แก้โรคปอดอักเสบในเด็กและรักษาโรคแผลผิวหนังที่เกิดจากความเย็นจัด กลายเป็นยาแผนโบราณของจีนที่ใช้กันมาจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ ไม่น่าเชื่อว่าส้มโอนั้นมีความเกี่ยวพันกับประเพณีจีน โดยถือว่าส้มโอเป็นราชาแห่งผลไม้ในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์ เนื่องจากคำว่าส้มโอในภาษาจีนอ่านว่า “อิ้ว” ซึ่งพ้องเสียงกับคำภาษาจีนที่แปลว่า “คุ้มครอง” และด้วยรูปทรงกลม ก็ไปพ้องกับภาษาจีนที่แปลว่า “อยู่พร้อมหน้า” ด้วยเหตุนี้เองส้มโอจึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของ “ความอยู่พร้อมหน้า” และ“ความเป็นสิริมงคล” ในพิธีไหว้พระจันทร์ อีกทั้งเมื่อนำมาทานคู่กับขนมไหว้พระจันทร์ รสชาติจะเข้ากันได้ดีและคล่องคอมากยิ่งขึ้น
ในช่วงฤดูใบไม้ร่วง หรือช่วงเดือน ต.ค.- พ.ย. ของทุกปี เป็นช่วงที่ส้มโอจีนออกสู่ตลาดมากที่สุด ในขณะที่ความต้องการส้มโอสำหรับเทศกาลไหว้พระจันทร์ของจีน มักตรงกับเดือน ส.ค. หรือ ก.ย. ซึ่งประจวบเหมาะกับส้มโอไทยที่ออกสู่ตลาดพอดี จึงเป็นโอกาสที่ดีของส้มโอไทยในจีน ยิ่งถ้าส้มโอไทยมีบรรจุภัณฑ์ที่ทันสมัย เข้ากับเทศกาลมหามงคลของจีนด้วยแล้ว จะยิ่งทำให้ส้มโอไทยได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นไปอีก
ในปี 2558 คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนกว่า 6 ล้านคน เดินทางมาท่องเที่ยวประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นดินแดนสวรรค์ของคนรักผลไม้ ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของเกษตรกรและผู้ประกอบการไทย ในการนำเสนอผลไม้ไทย รวมถึงการพัฒนาสินค้าแปรรูปจากส้มโอให้เป็นอาหารว่าง ขนมและของขบเคี้ยว หรือสินค้าแปรรูปจากส้มโอ เป็นต้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวจีนได้ชิมและซื้อกลับไปเป็นของฝาก ให้แก่พี่น้องและญาติสนิทในประเทศจีน รวมทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ในลักษณะปากต่อปาก ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางมาประเทศไทยต่อไป
-------------
นายสุชาติ เลียงเเสงทอง
กงสุลใหญ่ ณ นครคุนหมิง