จับปลาใหญ่ : เงื่อนไขชี้ขาดแก้คอร์รัปชัน
ระยะนี้ข้อมูลต่างๆ ที่เข้ามา ให้ความรู้สึกว่า มีความพยายามและความร่วมมือพร้อมเพรียงกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม
ที่จะแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศ ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี ใครที่ได้มีโอกาสเข้าร่วมงานวันต่อต้านคอร์รัปชันแห่งชาติ เมื่อวันที่ 6 กันยายนที่ผ่านมา คงจะได้เห็นและรู้สึกถึงพลังของประชาชนจากทุกภาคส่วนที่เข้ามาร่วมงานจนแน่นขนัดแทบหาที่ยืนไม่ได้ แสดงถึงความตระหนักรู้ของประชาชนทุกระดับ ที่ต้องการให้ประเทศมีการแก้ไขปัญหานี้จริงจัง ให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่คอร์รัปชันมีน้อยลง เป็นประเทศที่มีจริยธรรม และศีลธรรมมากขึ้น นี่คือสิ่งที่ประชาชนทุกภาคส่วนเรียกร้อง ถือเป็นสัญญาณที่ดีสำหรับการต่อสู้กับปัญหาคอร์รัปชัน ซึ่งเป็นปัญหาพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของคนในสังคม
สำหรับภาคทางการเอง ความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันก็มีให้เห็นมากขึ้น ล่าสุดจากการผ่านกฎหมายที่สำคัญสองฉบับ คือ พ.ร.บ.อำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ และ พ.ร.บ.ปรับปรุงกฎหมาย ปปช.ที่จะช่วยให้ประเทศมีกฎหมายต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันที่ได้มาตรฐานสากล โดยเฉพาะการเอาผิดกับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชัน ที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ และมีกฎหมายสำคัญอีกหลายฉบับ ที่จะลดความเสี่ยงด้านคอร์รัปชัน ที่กำลังอยู่ในกระบวนการพิจารณา เช่น พ.ร.บ.จัดซื้อจัดจ้างและบริหารพัสดุของทางราชการ กฎหมายเหล่านี้จะเป็นพื้นฐาน ที่ช่วยป้องกันการทุจริตคอร์รัปชันในกิจกรรมที่ล่อแหลมต่อคอร์รัปชัน เช่น การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้สามารถเอาผิดผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตคอร์รัปชันทั้งผู้ให้และผู้รับได้โดยตรง
สำหรับภาคเอกชนโมเมนตั้มการผลักดันการทำธุรกิจอย่างสะอาด ปลอดคอร์รัปชันโดยบริษัทเอกชนก็มีต่อเนื่อง เห็นได้จากจำนวนบริษัทที่เข้ามาร่วมโครงการแนวร่วมปฏิบัติของภาคเอกชนไทยในการต่อต้านการทุจริต (CAC)จัดตั้งโดยแปดองค์กรธุรกิจชั้นนำของประเทศ ได้แก่ สมาคมกรรมการบริษัทไทย (IOD)หอการค้าไทย หอการค้าร่วมต่างประเทศในประเทศไทย สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย สมาคมธนาคารไทย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสภาการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยมีสมาคมกรรมการบริษัทไทยเป็นเลขานุการขับเคลื่อนโครงการ ล่าสุดจำนวนบริษัทที่เข้าร่วมประกาศเจตนารมณ์กับ CACได้เพิ่มเป็น 508 บริษัท เป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ 288 บริษัท ที่รวมกันมีสัดส่วนมูลค่าตลาดมากกว่าร้อยละ 60 ของมูลค่าตลาดของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยทั้งหมด และใน 508 บริษัทนี้มีบริษัทที่ผ่านการรับรองจากคณะกรรมการ CACแล้วทั้งสิ้น 122 บริษัท ซึ่งในจำนวนนี้เป็นบริษัทจดทะเบียน53 บริษัท ตัวเลขเหล่านี้ชี้ชัดเจนว่า โมเมนตั้มของการมีส่วนร่วมของบริษัทเอกชนที่ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันกำลังมีมากขึ้นชัดเจน
พัฒนาการที่น่ายินดีเหล่านี้เป็นสิ่งที่ต้องรักษาไว้ เพราะในที่สุดจะนำไปสู่ความรู้สึก หรือ Sentimentของผู้ประกอบการและนักลงทุนที่ดีขึ้นต่อปัญหาทุจริตคอร์รัปชันในประเทศไทย ซึ่งก็เริ่มเห็นแล้ว ล่าสุดผลสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ชี้ว่าวงเงินการให้สินบนลดลง สอดคล้องกับดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันที่ปรับตัวดีขึ้นจากระดับที่ 49 เดือนมกราคมปีนี้ เป็น 55 เดือนสิงหาคม สอดคล้องกับความเห็นของนักธุรกิจที่สถาบัน IOD และโครงการ CAC ได้รับมา ที่มองว่าความรุนแรงของการทุจริตคอร์รัปชันเริ่มลดลง สถานการณ์เริ่มมีพัฒนาการในเชิงบวก ซึ่งเป็นเรื่องที่น่ายินดี แสดงให้เห็นว่าความตระหนักและความต้องการของภาคประชาชน บวกกับการเอาจริงเอาจังของภาครัฐ และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจเอกชน สามารถผลักดันสถานการณ์คอร์รัปชันให้เปลี่ยนแปลงได้
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ห่วงก็คือความรู้สึกที่ดีขึ้นนี้จะอยู่ได้นานแค่ไหน เราจะสามารถรักษาโมเมนตั้มของพัฒนาการในเชิงบวกนี้ได้ต่อไปหรือไม่ หรือที่เกิดขึ้นเป็นเพียงกระแสชั่วคราวที่มากับการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง ไม่ใช่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่จริงจังของคนในสังคม ทำให้ปัญหาอาจกลับมารุนแรงได้อีกเมื่อกระแสเริ่มจาง และหรือเมื่อปัจจัยต่างๆ กลับมาเอื้ออำนวย
ในการแก้คอร์รัปชันเป็นที่ยอมรับว่า โอกาสที่ปัญหาคอร์รัปชันจะกลับมารุนแรงมีสูงมากถ้าพฤติกรรมของคนที่ทุจริตคอร์รัปชันยังไม่เปลี่ยน คือพฤติกรรมของผู้ให้และผู้รับที่ยังพร้อมคอร์รัปชัน เพราะโดยเนื้อแท้แล้วคอร์รัปชันคือพฤติกรรมของคน คนมักจะเคยชินกับสิ่งที่ตนเองทำ และพร้อมจะทำอย่างที่เคยทำไปเรื่อยๆ ถ้าสิ่งที่ทำนั้นไม่ได้สร้างภัยหรือเป็นอันตรายต่อตนเอง คอร์รัปชันก็เหมือนกัน คนจะกล้าคอร์รัปชัน กล้าให้หรือเรียกสินบน กล้าที่จะไม่กลัวกฎหมาย ถ้าการจับกุมลงโทษเอาผิดกับผู้ที่ทุจริตคอร์รัปชันไม่เคยเกิดขึ้น นี่คือสิ่งที่ได้เกิดขึ้นในสังคมไทย แต่ถ้าคนๆ เดียวกันไปอยู่อีกประเทศหนึ่ง อยู่ในอีกสังคมหนึ่งที่เข้มงวดกว่า มีการเอาผิดจับกุมและลงโทษจริงจังเรื่องทุจริตคอร์รัปชัน ความเกรงกลัวต่อกฎหมายก็จะมาก คนเดียวกันนี้ก็จะไม่กล้าทุจริตคอร์รัปชัน เพราะกลัวความผิด กลัวถูกจับลงโทษ พฤติกรรมคอร์รัปชันก็จะเปลี่ยน
ในลักษณะนี้การเอาผิดจริงจังตามกฎหมายกับผู้ที่ทำการทุจริตคอร์รัปชัน จึงสำคัญมากต่อการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชัน เพราะการจับกุมลงโทษคนที่ทุจริตคอร์รัปชันจริงจัง จะทำให้คนกลัวไม่กล้าทำผิด ไม่กล้าทุจริต นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนในสังคม
ข้อสังเกตนี้ เป็นบทสรุปที่มาจากการศึกษาความสำเร็จของประเทศที่สามารถแก้ไข หรือลดทอนปัญหาคอร์รัปชันที่เคยมีอยู่ได้ ในเอเชียก็มี ฮ่องกง เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และไต้หวัน ที่เคยมีปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันรุนแรงเหมือนของเรา แต่ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้จนเป็นประเทศที่มีปัญหาคอร์รัปชันน้อยลง และถ้าศึกษาความสำเร็จของประเทศเหล่านี้ สิ่งหนึ่งที่ทั้งสี่ประเทศทำเหมือนกันในการแก้คอร์รัปชันก็คือ จับปลาใหญ่ ซึ่งหมายถึงเอาผิดกับคนที่ทุจริตคอร์รัปชัน ที่เป็นคนระดับนำของสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักธุรกิจ หรือข้าราชการประจำ มาลงโทษตามกฎหมายบ้านเมืองให้เห็นเป็นเยี่ยงอย่าง
การจับปลาใหญ่ เป็นเงื่อนไขสำคัญและจำเป็นที่สุดที่ทำให้การแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันของประเทศประสบความสำเร็จ เพราะถ้าคนทุจริตคอร์รัปชันที่เป็นคนใหญ่คนโตของบ้านเมืองไม่เคยถูกจับกุมไม่เคยถูกลงโทษ ยังเดินหน้าปรากฏตัวอย่างสบายใจในงานเลี้ยงต่างๆ และในหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมก็จะไม่เชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันของประเทศแก้ไขได้ เพราะคนโกงประเภทปลาตัวใหญ่ไม่เคยถูกจับ แต่ถ้าการจับปลาใหญ่เกิดขึ้น มีการลงโทษจริงจัง คนทั้งสังคมก็จะเชื่อว่าปัญหาคอร์รัปชันมีการเอาจริงแก้ไขจริง ถึงจุดนั้นพฤติกรรมของสังคมก็จะเริ่มเปลี่ยน คอร์รัปชันก็จะเริ่มลดทอนลง ด้วยเหตุนี้ การจับปลาใหญ่จึงเป็นเงื่อนไขที่ต้องเกิดขึ้น ถ้าประเทศจะประสบความสำเร็จในการแก้คอร์รัปชัน
ยกตัวอย่างสิงคโปร์ ปลาใหญ่ระดับรัฐมนตรีที่ทุจริตคอร์รัปชันถูกกล่าวโทษ กรณีของเกาหลีใต้และไต้หวัน อดีตประธานาธิบดีถูกจับกุมในคดีคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ใช้วิธีนี้แก้ปัญหาเช่นกัน โดยเอาผิดกับบุคคลระดับอดีตประธานาธิบดีเรื่องคอร์รัปชัน ล่าสุดประเทศจีนก็ใช้แนวทางนี้ คือ จับปลาใหญ่ซึ่งรวมถึงบุคคลในระดับนำของพรรคให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลเอาจริงกับการปราบปรามการทุจริตคอร์รัปชัน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในสังคม
ในกรณีของเรา ประเด็นปลาใหญ่นี้เป็นจุดอ่อน ทำให้ความรู้สึกที่ดีขึ้นขณะนี้อาจเป็นเพียงกระแสชั่วคราว ไม่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาที่สำเร็จ เพราะไม่มีการจับปลาใหญ่ที่ทุจริตคอร์รัปชันให้ประชาชนเห็นเป็นตัวอย่างว่า มีการเอาจริง มีแต่พิธีกรรมจับปลาซิวปลาสร้อยแต่ลงโทษรุนแรง ขณะที่ปลาใหญ่ประเภทอภิสิทธิ์บุคคลของประเทศ ทั้งด้านธุรกิจ การเมือง และข้าราชการประจำไม่เคยต้องรับผิดในกระบวนการยุติธรรมของประเทศ
จุดอ่อนนี้ต้องแก้ไข ซึ่งต้องมาจากภาวะผู้นำที่มีความจริงใจ และเด็ดขาดที่จะแก้ปัญหา เป็นสิ่งที่คนไทยทุกคนรอและต้องการให้เกิดขึ้น