เมื่อศาสตร์แห่งหุ่นยนต์ (Robotics) ครองโลก

ผมไปคุยกับหุ่นยนต์ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่ญี่ปุ่นมาครับ
ได้เจอกันแล้วทำให้ผมเชื่อว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4” ของโลกกำลังจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตอันใกล้นี้แน่นอน
และญี่ปุ่นประกาศแล้วว่าเขาจะต้องเป็นผู้นำโลกทางด้าน Robotics โดยผ่าน Artificial Intelligence (ที่มีผู้รู้ในวงการนี้แปลเป็นภาษาไทยว่า “ปัญญาประดิษฐ์”) เพราะนี่คือวิวัฒนาการที่มนุษย์กำลังมุ่งมั่นทำให้เกิดขึ้น เพื่อก้าวกระโดดไปสู่อีกระดับหนึ่งของการพัฒนาโลกมนุษย์
ผมแวะไปมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งฟูกูอิ หรือ Fukui University of Technology (FUT) ที่อยู่เมืองฟูกูอิริมทะเลญี่ปุ่นหรือ Sea of Japan ทางตะวันตกของประเทศเพื่อร่วมการสัมมนาร่วมกับมหาวิทยาลัยเนชั่น
และเมื่อผมได้ข่าวว่าอาจารย์ที่นั่นกำลังพัฒนา software ให้กับหุ่นยนต์ Nao ที่กำลังโด่งดัง ผมก็ต้องแวะไปที่ห้องทดลองของเขา
เจอ Nao (“นาโอะ”) ตัวจริงเข้าแล้ว ก็ตกลงกันว่าจะพาเขามาเที่ยวเมืองไทย โดยจะให้มาร่วมงานสัปดาห์หนังสือของเราในช่วงปลายเดือนนี้
Nao จะไปประจำอยู่ที่บูธของเครือเนชั่นเพื่อทักทายแฟน ๆ ของเนชั่นให้เกรียวกราวกันทีเดียวครับ
เจ้า Nao สามารถร้องเพลง เต้นรำ เตะฟุตบอลได้แล้วครับ ผมลองกระซิบให้อ่านข่าวที่ผมเขียนให้เป็นภาษาอังกฤษ เขาก็ทำได้อย่างน่าทึ่งทีเดียว
ท่านอธิการบดีของ FUT ดอกเตอร์โยทาโร โมริชิมา พาผมตระเวนห้องทดลองหลายห้องที่กำลังสร้าง software สำหรับหุ่นยนต์เพื่อให้ทำงานสร้างสรรค์และเสี่ยงอันตรายหลายอย่างเช่นใช้เป็นหุ่นยนต์ทำงานแทนคนในจุดที่เกิดภัยธรรมชาติอาทิแผ่นดินไหวหรือสึนามิที่ไปสร้างความเสียหายให้กับโรงไฟฟ้านิวเคลียร์เมื่อเร็ว ๆ นี้
หรือหุ่นยนต์สำหรับช่วยเหลือคนพิการและอาวุโส รวมไปถึงหุ่นยนต์เพื่อกิจกรรมอุตสาหกรรมทั้งหลายทั้งปวงที่เริ่มใช้แล้วในหลาย ๆ กรณี
แต่การพัฒนาการยังเดินหน้าต่อไปโดยมีเป้าหมายที่สูงกว่านั้นเพราะนโยบายของเขาคือการเร่งทดลองสร้าง “ศาสตร์แห่งหุ่นยนต์” ทุกรูปแบบที่เขาเรียกว่า Robotics เพื่อนำไปสู่ “การปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่ 4 ของโลก” ให้ชนะทั้งสหรัฐและเยอรมันให้จงได้
ย้อนไปดูประวัติศาสตร์ของโลกจะเห็นว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งแรกของโลกเริ่มที่เครื่องจักรไอน้ำหรือ steam engines
ตามมาด้วยปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สองคืออิเล็กทรอนิกส์ หรือ electric power
ศาสตร์แห่งคอมพิวเตอร์คือแกนหลักของการปฏิวัติอุตสาหกรรมรอบที่สาม
ก่อนที่จะก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของอุตสาหกรรมโลกคือศาสตร์หุ่นยนต์หรือ Robotics ที่ทำงานผ่าน Artificial Intelligence หรือ “ปัญญาประดิษฐ์” ที่จะสร้างพลังแห่งนวัตกรรมครั้งใหญ่อีกครั้งหนึ่ง
ทุกวันนี้ นวัตกรรมเช่นนี้เริ่มด้วยการสามารถใช้อุปกรณ์เล็ก ๆ ในรูปนาฬิกาข้อมือที่วัดความดัน อุณหภูมิร่างกาย อีกทั้งคอนแทคเลนส์ที่อ่านระดับน้ำตาลจากความชื้นของตา
หรืออุปกรณ์จิ๋วประจำตัวที่วัดคลื่นสมองได้ ซึ่งจะช่วยทำให้คนที่บาดเจ็บกระดูกสันหลังสามารถลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งหนึ่ง
เยอรมันเดินหน้าในทิศทางนี้ด้วยการประกาศยุทธศาสตร์ Industry 4.0 ร่วมกับบริษัทเอกชนชั้นนำของเขา 57 แห่งเพื่อลดค่าใช้จ่ายการผลิตในอุตสาหกรรมของเขาอย่างมีนัยสำคัญด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีสารสนเทศหรือ information technology กับเทคโนโลยีหุ่นยนต์
ญี่ปุ่นบอกว่ารัฐบาลของเขาก็กำลังประสานมือกับเอกชนเพื่อลุยด้านนี้เหมือนกัน
เยอรมันกำลังสร้างสิ่งที่เขาเรียก Internet of Things ซึ่งเป็นเครือข่ายแบ่งปันข้อมูลระหว่างอุตสาหกรรมการผลิตกับการตลาด
โดยไม่ต้องมีการติดต่อระหว่างคนกับคน
และไม่ต้องมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับคอมพิวเตอร์อีกต่อไป
เท่ากับเขาจะลดค่าใช้จ่ายในการผลิตอย่างมหาศาล ซึ่งแปลว่าสามารถแข่งกับใครก็ได้ในโลกด้วยการมุ่งมั่นทุ่มเทการวิจัยและพัฒนาศาสตร์แห่งหุ่นยนต์อย่างไม่หยุดยั้ง
ผมถามนักวิทยาศาสตร์ที่ FUT ว่าวันหนึ่งในอนาคตอันใกล้นี้ หุ่นยนต์จะฉลาดกว่าคนได้หรือ?
เขาตอบด้วยน้ำเสียงกึ่ง ๆ ถ่อมตัวว่า “มันมีความเป็นไปได้ทีเดียว”
ผมถามว่าเพราะอะไร?
เขายิ้มและบอกว่า “เพราะหุ่นยนต์สามารถจะเรียนรู้ด้วยตัวเองมากขึ้นตลอดเวลา เราเรียกว่า self-learning process
คือสอนให้มันรู้อะไรแล้ว เขียน software ให้มันเรียนรู้ต่อเนื่องไปได้โดยไม่ต้องให้มนุษย์สอนเพิ่มเติมอีก
ถึงวันนั้นหุ่นยนต์จะครองโลกจริงได้หรือไม่?
อีกไม่ช้าก็คงจะรู้ว่ามันเกิดขึ้นได้โดยเฉพาะถ้าหากมนุษย์หยุด “เรียนรู้ด้วยตนเอง” อย่างที่เรากำลังเห็นในบ้านเมืองเรา!