ระบบเซนเซอร์สื่อในสังคมไทย

ระบบเซนเซอร์สื่อในสังคมไทย

ช่วงสัปดาห์ที่แล้วเกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์กันกว้างขวางในสังคมออนไลน์ จากกรณีที่ภาพยนตร์เรื่องอาบัติ

ของสหมงคลฟิล์ม ถูกคณะกรรมการในสำนักพิจารณาภาพยนตร์และวีดิทัศน์ กระทรวงวัฒนธรรม ไม่อนุญาตให้ฉาย เนื่องจากมีเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเป็นเรื่องราวของความสัมพันธ์ระหว่างพระสงฆ์ (จริงๆ ในเรื่องคือ เณร) กับผู้หญิง และมีฉากที่ถูกพิจารณาว่าทำให้เสื่อมเสียต่อพุทธศาสนาหลายฉาก

แม้ปัญหาการเซนเซอร์นี้จะคลี่คลายไปแล้ว ด้วยการอนุญาตให้ฉายได้บนเงื่อนไขของการเปลี่ยนชื่อภาพยนตร์ และการตัดเนื้อหาบางฉากบางตอน ที่กรรมการพิจารณาภาพยนตร์เห็นว่าไม่เหมาะสมออกไป แต่จากการสังเกตการณ์ในช่วงที่เรื่องนี้กำลังเป็นประเด็นร้อน ทั้งในเว็บบอร์ด หน้าเพจเฟสบุ๊ก และพื้นที่แสดงความคิดเห็นท้ายข่าวออนไลน์ ก็มาพบว่าความรู้ของคนไทย (โดยเฉพาะเหล่าพลเมืองเน็ต) เกี่ยวกับการเซนเซอร์สื่อในสังคมไทยยังค่อนข้างจะจำกัด และไม่สะท้อนภาพที่ถูกต้อง ทันสมัยเท่าใดนัก เช่น ยังมีคนพูดถึง กบว.กันอยู่ว่าไม่ควรแบนหนังอาบัติ หรือการเข้าใจไปว่า ผู้พิจารณาการเซนเซอร์ภาพยนตร์ คือ กสทช.เป็นต้น

ในเรื่องจริง กบว.หรือคณะกรรมการการบริหารวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งมีอายุอยู่ระหว่าง พ.ศ.2518-2535 เป็นคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นในภาครัฐ ทำหน้าที่พิจารณาเนื้อหารายการในวิทยุและโทรทัศน์ก่อนออกอากาศ (pre-censor) โดยมีอนุกรรมการตรวจเซนเซอร์รายการด้านโฆษณาภาพยนตร์และละคร เน้นเรื่องการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมืองและสังคม

อย่างไรก็ดี กบว.สิ้นสภาพไปตั้งแต่หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ ในปี 2535 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของกระบวนการปฏิรูปสื่อในระลอกแรก และถูกแทนที่โดยคณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กกช.) ประกอบกับการยกเลิกการตรวจพิจารณาเนื้อหารายการ และกำหนดให้คณะกรรมการ (หรือที่มักเรียกว่าฝ่ายเซนเซอร์) ของแต่ละสถานีวิทยุและโทรทัศน์ตรวจพิจารณากันเอง โดยเจ้าหน้าที่ในกองงาน กกช.จะทำหน้าที่ในการสอดส่องเนื้อหาหลังออกอากาศ (post-censor) โดยเป็นการสุ่มสอดส่อง (random monitor) มากกว่า และไม่มีอำนาจในการลงโทษใดๆ โดยตรง

ทั้งนี้ คงต้องทำความเข้าใจด้วยว่า การเซนเซอร์สื่อจำเป็นต้องมีกฎหมายเฉพาะ ที่ให้อำนาจแก่ผู้ทำหน้าที่เซนเซอร์ เนื่องจากรัฐธรรมนูญที่ผ่านมาอย่างน้อยสองฉบับ (ฉบับ พ.ศ.2540 และ พ.ศ.2550) คุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชนและนักสื่อสารมวลชน ห้ามการปิดสื่อไม่ว่าในกรณีใดๆ และจะยกเว้นให้มีการเซนเซอร์ได้ก็เฉพาะในกรณีประเทศอยู่ในสงคราม หรือความขัดแย้งที่มีการใช้อาวุธ หรือเมื่อมีกฎหมายเฉพาะที่ให้อำนาจเท่านั้น

นอกเหนือจากกฎหมายพิเศษ อย่าง พ.ร.บ. ความมั่นคง และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน และกฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแล้ว กฎหมายเกี่ยวกับสื่อเกือบทุกฉบับ ก็จะมีข้อยกเว้นให้สามารถเซนเซอร์เนื้อหาได้ โดยมีเงื่อนไขด้านเนื้อหาที่คล้ายคลึงกันคือ เรื่องของความมั่นคงของชาติ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งสามารถสรุปให้เห็นถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้อง องค์กรหรือหน่วยงานที่ทำหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเซนเซอร์ และรูปแบบของการเซนเซอร์ในสื่อต่างๆ

แม้จะมีกฎหมายเฉพาะกำหนดไว้อย่างชัดเจน แต่ในบางกรณีการเซนเซอร์ก็อาจปรากฏในรูปแบบอื่นที่แตกต่างออกไป เช่น การขอความร่วมมือจากผู้มีอำนาจ โดยในบางสถานการณ์อาจมีกฎหมายเฉพาะกิจรองรับอย่างประกาศ คสช.ฉบับต่างๆ ไม่ให้นำเสนอเนื้อหาบางประเภท ซึ่งอาจไม่ใช่เนื้อหาที่เข้าข่ายความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสื่อโดยตรง หรือการเรียกมาคุยโดยผู้ที่มีหน้าที่กำกับดูแล เพื่อเจรจาให้ลด “ความแรง” ของการนำเสนอเนื้อหาบางประเภท หรือการกำหนดให้ตัวกลางที่ให้บริการเนื้อหาต้องมีภาระรับผิดสูง ทำให้เกิดการระแวดระวังแจด้านเนื้อหา จนนำไปสู่การเซนเซอร์ตัวเองอย่างที่เกิดขึ้นในพื้นที่ออนไลน์ ไปจนถึงการเรียกนักข่าวและนักสื่อสารมวลชนมา “ปรับทัศนคติ” โดยเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคง

เหล่านี้นับว่าเป็นรูปแบบหนึ่งของการเซนเซอร์ทั้งสิ้น เพราะเป็นการสร้างบรรยากาศแห่งความกลัว ที่ทำให้ผู้คนเลือกที่จะจำกัดเสรีภาพตนเองมากกว่าพูดความจริง ซึ่งการเซนเซอร์ตนเองในระดับความคิดความอ่าน ถือว่าเป็นขั้นสุดยอดของการเซนเซอร์ใดๆ เนื่องจากมาตรฐานแห่งการเซนเซอร์ ได้ถูกผนวกเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของระบบความคิดไปแล้ว

เมื่อไรที่แนวคิด “แม้แต่คิดก็ยังไม่กล้า” ได้กลายเป็นบรรทัดฐานทางความคิดในเรื่องการพูด เขียน และแสดงออก เมื่อนั้นรัฐธรรมนูญฉบับไหนๆ ก็คงไม่จำเป็นเพื่อคุ้มครองเสรีภาพในเรื่องนี้ เพราะรัฐธรรมนูญทางวัฒนธรรม ได้วางระบบการเซนเซอร์ให้อยู่ในจิตวิญญาณของคนไปแล้ว